แดนมังกรก็มีสุดยอดนักสืบ? ทำความรู้จัก “มหาชนชาวเฉาหยาง” CIA ภาคประชาชน นำจับเหล่าคนดังจีน
ทำความรู้จัก “มหาชนชาวเฉาหยาง” ผู้เปิดโปงคนดังเรื่องการใช้ยาเสพติด การค้าประเวณี และอาชญากรรมอื่น ๆ ในแดนมังกร
หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง
เป็นที่ทราบกันดีว่า มีหน่วยงานสายลับต่างประเทศที่มีชื่อเสียง อยู่ 4 แห่ง ได้แก่ CIA ของสหรัฐฯ, MI6 ของสหราชอาณาจักร, KGB ของอดีตสหภาพโซเวียต และ Mossad ของอิสราเอล
แต่ใครจะรู้ว่าในจีน มีอีก 1 ดาวรุ่งพุ่งแรง ที่รู้จักในนาม “Chaoyang Public” หรือ “มหาชนชาวเฉาหยาง” ซึ่งชาวจีนต่างพากันล้อเลียนว่า เป็น “หน่วยข่าวกรองที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก”
วลี “มหาชนชาวเฉาหยาง” ปรากฏขึ้นช่วงสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อตำรวจเขตเฉาหยางในกรุงปักกิ่ง ประกาศว่า พวกเขาได้ควบคุมตัวนักเปียโนชื่อดัง หลี่ หยุนตี๋ เนื่องจากต้องสงสัยว่า ซื้อบริการทางเพศ ซึ่งการค้าประเวณีเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศจีน
โดยการประกาศดังกล่าว ตำรวจระบุไว้ว่า พวกเขาได้รับแจ้งจากประชาชนว่า มีการค้าประเวณีในเขตเฉาหยาง และทำการสอบสวน นำไปสู่การควบคุมตัว หลี่ ในที่สุด
สายสืบชุมชนช่วยการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างไร?
ก่อนที่คำว่า “มหาชนชาวเฉาหยาง” จะกลายเป็นคำที่ได้รับความนิยม, บทความในปี 1974 ในหนังสือพิมพ์ People's Daily สื่อกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ ได้กล่าวถึงวิธีที่ประชาชนชาวจีน ร่วมมือกับตำรวจในการจับสายลับจากอดีตสหภาพโซเวียต
“พวกสายลับคิดว่า ไม่มีใครรู้จักการติดต่อลับ ๆ ในมุมมืดแบบที่พวกเขาทำ ต้องซื่อบื้อแค่ไหนกันนะ ถึงไม่รู้ว่ากิจกรรมของพวกเขาได้รับความสนใจจากประชาชนชาวจีน” ข้อความที่ระบุในบทความดังกล่าว
ประชาชนที่ถูกกล่าวถึงนั้น ถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของ “มหาชนชาวเฉาหยาง” ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ เฉาหยาง เป็นเขตที่ใหญ่ที่สุดในปักกิ่ง มีพื้นที่การค้าที่มีชื่อเสียง และสถานทูตต่างประเทศจำนวนมาก รวมถึงย่านซานหลี่ถุน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่คึกคักของเมือง มีอพาร์ทเมนท์ระดับไฮเอนด์ และเป็นสถานที่โปรดของคนดังและนักธุรกิจมาโดยตลอด
สายสืบภาคประชาชนที่ทรงพลัง
คำลึกลับนี้ เริ่มมีการกล่าวถึงครั้งแรกในรายงานอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2010 และในปี 2013 ตำรวจปักกิ่งกล่าวในแถลงการณ์ว่า ขอบคุณคำแนะนำจากสาธารณชน พวกเขาจับกุมชาร์ลส์ เสวีย ปี้ฉุน หรือที่รู้จักในนามแฝงว่า เสวีย แมนซี นักลงทุนพันล้าน และเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่กระตือรือร้นที่สุดในอินเทอร์เน็ตของจีน เรื่องการซื้อบริการทางเพศ
ตั้งแต่นั้นมา “มหาชนชาวเฉาหยาง” ได้กลายเป็นวลียอดนิยม เมื่อพูดถึงผู้ให้ข้อมูลสาธารณะ พวกเขายังช่วยจับกุมผู้มีชื่อเสียงอีกหลายคน รวมทั้ง เจซี ลูกชายของเฉินหลง ในข้อหาเสพกัญชาเมื่อปี 2014
อย่างไรก็ตาม ยังมีการจับกุมอื่น ๆ ด้วยความช่วยเหลือจากสาธารณชน รวมถึงพื้นที่จัดเก็บพลุที่ผิดกฎหมาย และคนขับรถที่ไม่จดทะเบียน ซึ่งทำการปล้นผู้โดยสารด้วย
พวกเขาเป็นใครกันแน่?
“ตำรวจจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ให้ข้อมูล ดังนั้นโปรดอย่าถามว่าพวกเขาเป็นใคร” ตำรวจปักกิ่ง กล่าวบน Weibo
และว่า “แต่การทำงานของตำรวจ ต้องอาศัยการสนับสนุนและความร่วมมือจากสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นเกร็ดความรู้ หรือการตรวจการคมนาคมขนส่ง ความปลอดภัยจากอัคคีภัย และความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ทุกคนสามารถเป็นสมาชิกของ ‘มหาชนชาวเฉาหยาง’ ได้”
ปี 2015 Beijing Youth Daily ได้เยี่ยมชมชุมชนแห่งหนึ่งในเขตเฉาหยาง ซึ่งมีผู้ให้ข้อมูลมากกว่า 200 คน และยังระบุว่า “พวกเขาทั้งหมดเป็นชาวเมืองที่กระตือรือร้น ด้วยการสวมปลอกแขนสีแดง เมื่อใดก็ตามที่พบเห็นสิ่งต้องสงสัย พวกเขาจะรายงานให้ตำรวจชุมชนทราบทันที”
มีแม้กระทั่งทีมลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านกว่า 70 คน ที่เฝ้าระวังทุกหย่อมหญ้าในชุมชน
ปัญหาที่อาสาสมัครเหล่านี้แก้ไขได้ในอดีต ได้แก่ การพบชายสูงอายุที่ป่วยทางจิตและช่วยให้เขาได้รับการรักษา รวมถึงการสืบสวนกรณีการก่อกวนในละแวกนั้น
จากยุคเหมา เจ๋อตุง สู่ยุคดิจิทัล
ตามรายงานของ People's Daily มีประเพณีของ "qunfang qunzhi" หรือ "การป้องกันและการปกครองโดยมวลชน" ในประเทศจีนมานานแล้ว ซึ่งสร้างขึ้นโดยประธาน เหมา เจ๋อตุง และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ในปี 1949
ในกรุงปักกิ่ง ประเพณีนี้ได้รับการส่งเสริมมานานหลายปี ไม่เพียงแต่ใช้อาสาสมัครในชุมชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในไซเบอร์สเปซด้วย
โดยปี 2014 ตำรวจไซเบอร์สเปซของปักกิ่ง ได้คัดเลือกอาสาสมัคร เพื่อช่วยในการค้นหาการฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ต, ภาพลามกอนาจาร, การพนันออนไลน์, การใช้ยาเสพติด และหยุดการแพร่กระจายของข่าวลือ ซึ่งในปี 2015 มีประชาชนเข้าร่วมมากกว่า 3,000 คน
ส่วนในปี 2017 ตำรวจปักกิ่ง เปิดตัวแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ ชื่อ “Chaoyang Public” ซึ่งช่วยให้ผู้อยู่อาศัยอัปโหลดรูปภาพและคำอธิบายได้ด้วยคลิกเดียว รวมถึงอนุญาตให้ตำรวจส่งการแจ้งเตือน และแจ้งให้ประชาชนทราบถึงกรณีอื่น ๆ ที่กำลังถูกสอบสวนด้วย
—————
เรื่อง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters