ชามิมา เบกุม “เจ้าสาวไอเอส” กับชะตากรรมที่เธอเลือกเอง
ท่องโลกกับ สันติ สร้างนอก: ชามิมา เบกุม “เจ้าสาวไอเอส” กับชะตากรรมที่เธอเลือกเอง
“ชามิมา เบกุม” ยังจำเธอได้ไหม?
“ชามิมา เบกุม แพ้อุทธรณ์คัดค้านตัดสินใจของรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพิกถอนสัญชาติอังกฤษของเธอ และยังห้ามเธอเดินทางกลับสหราชอาณาจักร”
ต้นเรื่องเริ่มขึ้นในปี 2015
ชามิมา เบกุม เกิดในปี 1999 ในลอนดอนตะวันออก ประเทศอังกฤษ โดยมีพ่อแม่เป็นชาวบังกลาเทศ ทั่วโลกรู้จักเธอ เพราะเธอเห็นหนึ่งในเด็กนักเรียนหญิง 3 คนจากอังกฤษ ที่เดินทางเข้าไปในซีเรียพื้นที่ควบคุมของกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม หรือไอเอส (บางสื่อใช้อักษรย่อเป็น ไอซิล (ISIL) และบางสื่อใช้ไอซิส (ISIS) แต่ทั้งหมดนี้คือกลุ่มเดียวกัน) ซึ่งขณะนั้น เธออายุ 15 ปีเท่านั้น ด้วยความประสงค์เข้าร่วมกับกลุ่มไอเอส
ซึ่งเธอก็สมความปรารถนา หรือจะเรียกได้กว่าเกินความปรารถนาด้วยซ้ำ เพราะขณะอยู่ในซีเรีย เธอได้แต่งงานกับนักรบเดนตายของไอเอส และใช้ชีวิตอยู่ในเมืองรักกาเป็นเวลาหลายปี และมีลูก 2 คน โดยลูกทั้ง 2 คน เสียชีวิตตั้งแต่แบเบาะ
สัญชาติอังกฤษของเธอถูกเพิกถอนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ไม่นานหลังจากที่เธอปรากฏตัวพร้อมกับอุ้มท้องลูกคนที่ 3 อายุครรภ์ 9 เดือนใกล้คลอดเต็มทีในค่ายผู้ลี้ภัยอัล-ฮอว์ล ประเทศซีเรียในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 พร้อมผู้ลี้ภัย 39,000 คน
ในการเปิดปากให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Times ในปี 2019 เบกุมกล่าวว่า เธอเหนื่อยหน่ายกับชีวิตในสมรภูมิรบเต็มที และเกรงว่า ลูกน้อยที่ยังไม่ได้ลืมตาดูโลกของเธอจะได้รับอันตราย
เธอตั้งชื่อลูกในครรภ์ของเธอว่า “จาร์ราห์” ซึ่งจะด้วยเวรกรรมอันใดไม่รู้ได้ เธอคลอดจาร์ราห์ที่ค่ายผู้ลี้ภัยอัล-ฮอว์ล ในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน สุขภาพของทารกน้อยแย่ลงอย่างรวดเร็ว ในที่สุดลูกชายตัวน้อยก็เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมในช่วงปลายปีเดียวกัน หลังจากถูกย้ายออกจากค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อไปรักษาตัวในโรงพยาบาลหลักในเมืองอัล-ฮาซากาห์
ชะตากรรมเล่นตลกอะไรกับเธอ ถือเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายกาจของลูกผู้หญิงคนหนึ่ง
หญิงผู้ถูกเพิกถอนสัญชาติ
ปัจจุบัน เบกุม ซึ่งอายุ 23 ปี ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยอัล-โรจ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย ซึ่งมีผู้ลี้ภัยมากกว่า 2,000 คนอยู่ที่ค่ายแห่งนี้ เธอวิงวอนรัฐบาลสหราชอาณาจักร ยอมให้เธอเดินทางกลับบ้านไปพบหน้าครอบครัวของเธอในกรุงลอนดอน
ผู้พิพากษาโรเบิร์ต เจย์ มีคำพิพากษาในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังทำการไต่สวนนาน 5 วันในเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว ซึ่งระหว่างการไต่สวน ทีมทนายความของเธอแย้งว่า กระทรวงมหาดไทยของสหราชอาณาจักร มีหน้าที่ตรวจสอบว่า เธอตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ ก่อนที่จะเพิกถอนสัญชาติของเธอ
อย่างไรก็ตาม ทีมทนายของเธอให้คำมั่นว่าจะยังคงต่อสู้ต่อไป โดยบอกว่า คดีนี้คงไม่จบโดยง่าย
ย้อนกลับไปในวันที่เธอทิ้งอนาคตที่สดใสในอังกฤษ เบกุม เดินทางไปยังซีเรียในปี 2015 พร้อมกับเพื่อนนักเรียนหญิง 2 คนเพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายไอเอส เวลาล่วงเลยจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2019 เธอปรากฏตัวอีกครั้งและกลายเป็นข่าวพาดหัวระดับนานาชาติในฐานะ “เจ้าสาวของไอเอส” หลังจากวิงวอนรัฐบาลสหราชอาณาจักรอนุญาตให้เธอเดินทางกลับประเทศเพื่อคลอดทารกน้อยเพศชายที่อยู่ในท้องของเธอ
แต่ซาจิด จาวิด รัฐมนตรีมหาดไทยในขณะนั้น ได้เพิกถอนสัญชาติอังกฤษของเธอในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2019 และลูกชายที่เพิ่งลืมตาดูโลกของเบกุม ก็เสียชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยในซีเรียหลังคลอดได้ไม่นาน เธอกล่าวกับสื่อสหราชอาณาจักรว่า เธอมีลูกแล้ว 2 คนก่อนที่จะคลอดลูกชายคนนี้ แต่ก็เสียชีวิตในซีเรียขณะที่ยังเป็นทารกน้อยเช่นกัน
ทำไมเบกุมจึงสูญเสียสัญชาติอังกฤษของเธอและสูญเสียอย่างไร?
สัญชาติ หรือความเป็นพลเมือง (Citizenship) เป็นสถานะทางกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า บุคคลคนหนึ่งมีสิทธิ์ที่จะอาศัยอยู่ในรัฐ และรัฐนั้นไม่สามารถปฏิเสธการเข้าเมืองหรือเนรเทศได้ ตามข้อมูลของหน่วยงานสังเกตการณ์คนย้ายถิ่นของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
สถานะนี้อาจได้รับเมื่อแรกเกิด หรือในบางรัฐ ได้รับผ่านการ “โอนสัญชาติ”
อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 ผู้พิพากษาชาวอังกฤษ กล่าวว่า การเป็นพลเมืองอังกฤษนั้น “ไม่ใช่สิทธิ์ที่สมบูรณ์สำหรับทุกคน มันสามารถถูกเพิกถอนได้โดยกระทรวงต่างประเทศ”
ในกรณีของเบกุม ศาลของสหราชอาณาจักร มีคำตัดสินในปี 2019 ว่า การเพิกถอนสัญชาติของเธอ ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากเบกุม ถือสัญชาติบังกลาเทศโดยการสืบเชื้อสายทางพ่อแม่ของเธออยู่แล้ว จะไม่เป็นบุคคลไร้สัญชาติ
ส่วนบังกลาเทศปฏิเสธสิ่งนี้ และบอกว่า เธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศเช่นกัน ซึ่งเท่ากับว่า เธอจะเข้าอังกฤษก็ไม่ได้ จะเข้าบังกลาเทศ ประเทศของพ่อแม่ก็ไม่ได้เช่นกัน
ในปี 2019 ซาจิด จาวิด ให้คำมั่นด้วยว่าจะขัดขวางใครก็ตามที่ไปเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอส ไม่ให้เดินทางเข้าประเทศ และว่า เบกุมเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ
จดหมายฉบับหนึ่งที่ส่งถึงครอบครัวของเธอในปี 2019 โดยหน่วยงานของกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ ระบุว่า “คุณเป็นคนสองสัญชาติ คืออังกฤษ/บังคลาเทศ ซึ่งเคยเดินทางไปซีเรียและเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอส จึงมีการประเมินว่า การกลับมายังสหราชอาณาจักรของคุณอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหราชอาณาจักร”
แต่เมื่อเบกุมไม่เคยถือสัญชาติบังกลาเทศ และไม่เคยเดินทางไปยังบังกลาเทศเลย เจ้าหน้าที่ในบังกลาเทศ กล่าวว่า พวกเขาจะไม่ออกสัญชาติให้เธอ
“ฉันมีสัญชาติเดียว และหากคุณพรากมันไปจากฉัน ฉันก็ไม่มีอะไรเลย ฉันไม่คิดว่า พวกเขาได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้” เบกุม กล่าวกับ BBC ในปี 2019 “นี่เป็นการตัดสินที่เปลี่ยนแปลงชีวิต พวกเขายังไม่ได้พูดอะไรกับฉันด้วยซ้ำ”
ถึงวันนี้ เธอไม่เหลืออะไรแล้วในชีวิต นอกจากลำพังตัวเองที่ต้องซุกหัวนอนอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย
เสียงสะท้อนจากแต่ละฝ่าย
ความคิดเห็นของผู้คนในอังกฤษแตกต่างกันออกไปกรณีของเธอ บางคนบอกว่า เธอควรถูกห้ามต่อไป ขณะที่อีกกลุ่มเชื่อว่า เธอควรถูกดำเนินคดีในศาลอังกฤษในข้อหาเข้าร่วมกลุ่มไอเอส
ทีมทนายความของเบกุม วิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของผู้พิพากษาว่า เป็น “การเสียโอกาสในการแก้ไขข้อผิดพลาดที่ลึกซึ้งและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง”
แกเรธ เพียร์ซ และแดเนียล เฟอร์เนอร์ จากสำนักงานกฎหมาย Birnberg Pierce Solicitors ระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว พีเอ มีเดียของสหราชอาณาจักรว่า ผลที่ได้คือตอนนี้ ไม่มีการปกป้องคุ้มครองเด็กชาวอังกฤษคนหนึ่งที่ถูกชักจูงโดยขบวนการค้ามนุษย์ให้ออกจากสหราชอาณาจักร หากกระทรวงมหาดไทยอ้างความมั่นคงของชาติ
ทีมทนายของเบกุม แย้งอีกว่า เบกุมและเพื่อนของเธอ เข้าซีเรียโดยมีสายลับแคนาดาคนหนึ่งที่ทำงานให้กับไอเอส เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้
หนังสือเล่มหนึ่งที่ออกเมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว ซึ่งตรวจสอบการแบ่งปันข่าวกรองระหว่างสหราชอาณาจักร, แคนาดา และพันธมิตรอื่น ๆ กล่าวหาว่า บทบาทของสายลับแคนาดาในคดีของเบกุม ถูกตำรวจและสำนักงานความมั่นคงของอังกฤษ ปกปิดในเวลาต่อมา
ส่วนแคนาดาและสหราชอาณาจักร ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหา เนื่องจากเป็นงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับหน่วยข่าวกรอง
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนชื่อดัง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ องค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า คำตัดสินดังกล่าว น่าผิดหวังมาก โดยสตีฟ วัลเดซ-ซีมอนด์ส ผู้อำนวยการผู้ลี้ภัยและผู้อพยพประจำสหราชอาณาจักรของแอมเนสตี้ ระบุในแถลงการณ์ว่า “อำนาจในการเนรเทศพลเมืองอย่างง่ายดายเช่นนี้ไม่ควรมีอยู่จริงในโลกสมัยใหม่ อย่างน้อยเมื่อเราพูดถึงบุคคลที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างจริงจังในขณะที่ยังเป็นเด็ก”
เบกุม ซึ่งก็ไม่ต่างจากอีกหลายพันคน ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและเด็กจำนวนมาก ขณะนี้ติดอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่เต็มไปด้วยอันตรายในประเทศที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากภัยสงคราม และส่วนใหญ่ถูกปล่อยให้อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มอันธพาลและกลุ่มติดอาวุธ”
“รัฐมนตรีมหาดไทยไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเนรเทศพลเมืองอังกฤษด้วยการถอดสัญชาติของพวกเขา” วัลเดซ ซีมอนด์ส กล่าว
จาวิด ซึ่งถอดสัญชาติอังกฤษของเบกุม แสดงความยินดีต่อคำตัดสินดังกล่าว โดยทวีตข้อความว่า คำตัดสินเมื่อวันพุธนั้นเป็นการสนับสนุนการตัดสินใจของเขาในการถอดสัญชาติของคน ๆ หนึ่ง ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ
จาวิดกล่าวเพิ่มเติมว่า นี่เป็นคดีที่ซับซ้อน แต่กระทรวงมหาดไทยควรจะมีอำนาจในการป้องกันใครก็ตามที่จะเข้าประเทศของเรา ซึ่งถูกประเมินว่าเป็นภัยคุกคามต่อประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศของสหราชอาณาจักรแนะนำประชาชนของตนมาตลอด ห้ามเดินทางไปยังซีเรียตั้งแต่ปี 2011
สำหรับประเทศอื่น ๆ ปฏิบัติอย่างไรเกี่ยวกับการถอดสัญชาติ?
พลเมืองที่เกิดในสหรัฐฯ ไม่สามารถถูกเพิกถอนได้ เนื่องจากสัญชาติเป็นสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่ถือกำเนิด ซึ่งรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม พลเมืองสหรัฐฯ ที่โอนสัญชาติ ซึ่งก็คือผู้ที่อพยพเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ - สามารถถูกถอดสัญชาติได้ด้วยเหตุผลบางประการ รวมถึงการเป็นสมาชิกของกลุ่มต้องห้าม และหากพวกเขาได้สัญชาติสหรัฐฯ จากการฉ้อฉล
ในออสเตรเลีย สามารถเพิกถอนสัญชาติได้ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ หากบุคคลนั้นเป็นพลเมืองสองสัญชาติของอีกประเทศหนึ่ง
นอกจากนี้ สัญชาติสามารถถูกเพิกถอนได้ เนื่องจากการเป็นกบฏ, ไม่ซื่อสัตย์และเหตุผลด้านความมั่นคงอื่น ๆ ใน 14 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งรวมทั้งกรีซ, ฝรั่งเศสและโรมาเนีย และในเนเธอร์แลนด์ สามารถเพิกถอนได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าด้วย
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สหราชอาณาจักรได้ถอดสัญชาติประชาชนของตนมากกว่าประเทศอื่น ๆ ยกเว้นบาห์เรน ตามรายงานที่เผยแพร่โดยสถาบันไร้สัญชาติและการอยู่ร่วมกัน
ชะตาชีวิตของชามิมา เบกุม จะพลิกผันไปอย่างไร เธอจะได้คืนสัญชาติและสามารถเดินทางออกจากค่ายผู้ลี้ภัยในซีเรีย กลับอังกฤษเพื่อพบหน้าพ่อแม่ ญาติพี่น้องได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เรื่องของเธอคงยังไม่จบแค่นี้ ต้องติดตามกันต่อไป
————
แปล-เรียบเรียง: สันติ สร้างนอก
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.aljazeera.com/news/2023/2/23/shamima-begum-4
https://www.bbc.com/news/uk-64731007
#TNNWorldNews #EditorsPick #ชามิมาเบกุม #ไอเอส #สัญชาติ
#เจาะลึกรอบโลก #TNNOnline #ข่าวต่างประเทศ #ข่าว #ต่างประเทศ
————
📲 อัพเดตข่าวไฮไลต์และบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ มาเป็นเพื่อนใน LINE กับ TNN World คลิก https://lin.ee/LdHJXZt
ติดตาม TNN World ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่
Website : https://bit.ly/TNNWorldWebsite
Youtube : https://bit.ly/TNNWorldTodayYouTube
TikTok : https://bit.ly/TNNWorldTikTok