บ่อนทำลาย CPTPP? ญี่ปุ่นวิตกสหรัฐฯ จ่อเปิดตัวนโยบาย IPEF
มุมมองที่เลือนลางของญี่ปุ่นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ จะบดบังการเยือนโตเกียวของไบเดนหรือไม่?
สำนักข่าว SCMP รายงานว่า ญี่ปุ่นรับรู้ว่านโยบาย IPEF ของสหรัฐฯ อาจบ่อนทำลาย CPTPP ที่ญี่ปุ่นมุ่งมั่นพัฒนา หลังสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงไปก่อนหน้านี้
--- เปิดตัวนโบบายของสหรัฐฯ---
แม้การตอบรับแผนบูรณาการทางเศรษฐกิจฉบับใหม่ของสหรัฐฯ จะค่อนข้างเย็นชา แต่คาดว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในระหว่างการเยือนประเทศญี่ปุ่นช่วงปลายเดือนนี้
การเยือนของไบเดนตรงกับการเปิดตัวกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้อิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชีย
โดยความคิดนี้ เกิดขึ้นหลังสหรัฐฯ ถอนตัวจากการเจรจาข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคของหุ้นส่วนเศรษฐกิจแปซิฟิก หรือ TPP ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำของสหรัฐฯ ในขณะนั้น
ไบเดนเตรียมออกแถลงการณ์ในระหว่างการเยือนประเทศพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20-24 พฤษภาคมนี้
--- จุดรวมคือการโดดเดี่ยวจีน?---
ขณะที่ สหรัฐฯ มองว่า IPEF เป็นข้อตกลงทางเศรษฐกิจสร้างเสริม แต่ญี่ปุ่นกลับมองว่า มันกำลังบ่อนทำลายข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้า สำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งญี่ปุ่นทำงานเพื่อพัฒนานโยบายนี้ หลังสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงฉบับเดิมว่า TPP ในปี 2017
อดีตรัฐมนตรี 2 คน ซึ่งยังคงเป็นสมาชิกคนสำคัญของพรรคเสรีประชาธิปไตยของญี่ปุ่น ระบุว่า ญี่ปุ่นรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งกับข้อเสนอของสหรัฐฯ
ทาโร โคโนะ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และทาคาชิ ยามาชิตะ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่น กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่า ญี่ปุ่นได้บรรลุสัมปทานอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้แน่ใจว่า TPP สามารถลงนามในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 โดย 11 ประเทศดั้งเดิมในแถบแปซิฟิก ซึ่งมีเพียงสหรัฐฯ เท่านั้น ที่ตัดสินใจไม่ไปต่อ
ยามาชิตะกล่าวว่า ด้วยสนธิสัญญาใหม่ที่มีทางเลือกให้สหรัฐฯ เพิกเฉยต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ไม่เห็นด้วย เช่น การปล่อยคาร์บอน หรือกฎระเบียบทางการค้า ซึ่งจะทำให้ข้อตกลง IPEF หละหลวม และมีแต่จะทำให้รัฐบาลในภูมิภาคตั้งคำถามถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อแผนของตนเอง
โคโนะเสริมว่า แต่เดิมข้อตกลง TPP กำหนดมาตรฐานระดับสูง ไว้บนตัวชี้วัดที่มีความสำคัญต่อญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงมาตรฐานแรงงาน บทบัญญัติด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจีนจะถูกกีดกันออกจากข้อตกลงดังกล่าว
--- ข้อตกลง IPEF vs CPTPP---
แม้ความทะเยอทะยานนั้น ไม่เคยประกาศอย่างชัดแจ้งว่าเป็นเป้าหมายของข้อตกลง แต่ก็สอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในการโดดเดี่ยวจีน เนื่องจากกลายเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจและการทหารในภูมิภาคนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งโคโนะและยามาชิตะสรุปว่า ทางออกที่ดีที่สุด คือ ให้สหรัฐฯ เปลี่ยนแนวทางและลงชื่อสมัคร CPTPP ฉบับแก้ไข แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ฝ่ายบริหารของไบเดนจะไม่สามารถย้อนกลับเส้นทางนั้นได้
เจฟฟ์ คิงส์ตัน ผู้อำนวยการด้านเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยเทมเปิลในโตเกียว กล่าวว่า “ไม่มีทางที่ไบเดนจะผ่านมติจากสภาคองเกรส เพื่อเข้าร่วม CPTPP อีกครั้ง”
คิงส์ตันกล่าวว่า ดูเหมือนว่าข้อตกลง IPEF จะไม่ได้เป็น “คู่แข่งโดยตรง” กับ CPTPP แม้ว่า “มีข้อกังวลอยู่บ้าง เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากแนวคิดบางอย่างยังค่อนข้างคลุมเครือ”
แม้ว่ารายละเอียดของกรอบการทำงานใหม่จะยังไม่ชัดเจน แต่คาดว่า กรอบนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการลดภาษีการค้า เนื่องจากได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากวุฒิสมาชิกในสหรัฐฯ แล้วว่า แคบเกินไปที่จะบรรลุวัตถุประสงค์
--- บาดแผลที่สหรัฐฯ ทิ้งไว้---
หลายประเทศในเอเชียตะวันออกที่สหรัฐฯ คาดว่าจะลงชื่อสมัคร อาจไม่เต็มใจที่จะทำเช่นนั้น เนื่องจากไม่อยากเลือกระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งต่างเป็นคู่ค้าหลักของพวกเขา
คิงส์ตันเสริมว่า สำหรับญี่ปุ่น การถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจาก TPP ในยุคของทรัมป์ ได้ทิ้งรอยแผลเอาไว้
“ญี่ปุ่นใช้ความพยายามอย่างมากในข้อตกลงนี้ แต่สหรัฐฯ ก็มาถอนตัวไปเสียได้” คิงส์ตันกล่าวกับ This Week in Asia ของ SCMP “นั่นทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีกับสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรของญี่ปุ่น”
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการข้อตกลงนี้ ซึ่งมี 11 ประเทศที่ลงนาม รวมเศรษฐกิจคิดเป็น 13.4% ของ GDP ทั่วโลก
รัฐบาลประเทศอื่น ๆ อยู่ในขั้นตอนของการเข้าร่วมข้อตกลง โดยจีน ไต้หวัน และเอกวาดอร์ ต่างส่งใบสมัครเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการแล้ว
ส่วนเกาหลีใต้ได้เริ่มกระบวนการสมัครแล้ว ขณะที่ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และโคลอมเบีย ได้ประกาศความตั้งใจที่จะเข้าร่วมด้วย
--- ความวิตกกังวลที่กัดกินญี่ปุ่น---
สำหรับญี่ปุ่นแล้ว การขอเป็นสมาชิกจากจีนเป็นเรื่องน่ากังวล และนายกฯ คิชิดะ น่าจะชี้แจงให้ประธานาธิบดีไบเดนทราบว่า หากจีนได้รับการยอมรับ ก็อาจมีอิทธิพลมากพอที่จะรับตำแหน่งผู้นำ ซึ่งจะบ่อนทำลายความตั้งใจของพันธมิตรโดยสิ้นเชิง และอนุญาตให้จีนกำหนดกฎการค้าและการลงทุนที่ตอบสนองความต้องการของตนได้
คิชิดะอาจกล่าวว่า วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการลบล้างภัยคุกคามนั้น คือการที่สหรัฐฯ กลับมาลงนามข้อตกลง CPTPP
“ญี่ปุ่นรู้สึกวิตกกังวล และเป็นที่ชัดเจนว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น” ฮิโรมิ มูราคามิ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทมเปิล กล่าว
“ญี่ปุ่นทำงานอย่างหนักเพื่อให้ TPP ประสบความสำเร็จ จากนั้นก็ต้องรับหน้าที่เป็นผู้นำให้ CPTPP ดำเนินการต่อไปได้ ฉันคิดว่าพวกเขากำลังถามตัวเองว่าอะไรคือความแตกต่างระหว่างข้อตกลง CPTPP และ IPEF และเหตุใดสหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องแนะนำแผนใหม่นี้ ในตอนนี้”
“ฉันคิดว่ามันสมเหตุสมผลสำหรับสหรัฐฯ ที่จะมีข้อตกลงทางการค้าของตัวเอง แต่ทำไมถึงอยากให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย เพราะสิ่งนี้จะเป็นเพียงการด้อยค่าข้อตกลง TPP และทุกอย่างที่ญี่ปุ่นทำ” เธอกล่าว
————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters