เดิมพัน 2.5 ล้านล้านบาท “เปิดประเทศ” ไทยเสี่ยงแค่ไหน เอกชนพร้อมหรือไม่ ?
เดิมพัน 2.5 ล้านล้านบาท “เปิดประเทศ” ไทยเสี่ยงแค่ไหน เอกชนพร้อมหรือไม่ ?
1 พ.ย. 2564 ประเทศไทยมีการประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ โดยให้กลุ่มเสี่ยงต่ำ เข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว หลายคนเห็นด้วย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมาเกือบจะ 2 ปี แล้ว แต่ต้องยอมรับว่า มีเสียงค้านค่อนข้างมาก สำหรับแนวคิดการเปิดประเทศในครั้งนี้ โดยมองว่า เสี่ยงเกินไป สำหรับการรับเชื้อเข้าประเทศ และอาจกลับไปปิดประเทศอีกครั้ง
วันนี้ รายการเศรษฐกิจ Insight พาไปดูว่า เดิมพันในการเปิดประเทศ ครั้งนี้เหมาะสมหรือไม่ และมีความเสี่ยงอย่างไร
เมื่อวานนี้ เป็นวันแรกที่ไทย เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเป็นทางการ จาก 63 ประเทศกลุ่มเสี่ยงต่ำ โดยไม่กักตัว แต่มีข้อแม้คือ ต้องมีการฉีดวัคซีนครบโดส มีมีผลตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง และต้องตรวจซ้ำอีกครั้ง เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย หากผลตรวจเป็นลบ จึงสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้
โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย วันแรก 61 เที่ยวบิน เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2,300 คน และจะทยอยบินเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลไกภาคการท่องเที่ยว ค่อยๆ เคลื่อนตัว หลังจากต้องบอกว่า ถูกปิดตายมานาน
ถ้าเราย้อนไปดูภาคการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเดิมเราเคยคาดหมายเอาไว้ว่า จะเป็นปีที่ต่ำที่สุด แต่จนถึงตอนนี้ ต้องทำใจยอมรับ ว่ารายได้จากภาคการท่องเที่ยวปี 2564 จะต่ำลงเมื่อเทียบกับปี 2563
โดยถ้าย้อนไปดูก่อนโควิด-19 ปี 2562 ภาคการท่องเที่ยว มีมูลค่า 3.01 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 39.8 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงิน 1.93 ล้านล้านบาท และไทยเที่ยวไทย 1.08 ล้านบาท
ขณะที่ปี 2563 ไทยกลายเป็นประเทศแรกที่แจ้งพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกประเทศจีน และพบมากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องปิดประเทศในเดือนเมษายน 2563 จำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้จะมีเฉพาะ 3 เดือนแรกเท่านั้น ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในปี 2563 มีอยู่ที่ 6.7 ล้านคน สร้างรายได้ 4.4 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับเม็ดเงินสะพัดไทยเที่ยวไทย ซึ่งแซงหน้าเม็ดเงินท่องเที่ยวจากต่างชาติครั้งแรกในรอบหลายปีที่ 4.8 แสนล้านบาท รวมทั้งสิ้น 9.2 แสนล้านบาท
ส่วนปี 2564 ความหวังที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวและเปิดประเทศ ลดลงเรื่อยๆ หลังจากทั่วโลกต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ อย่าง เดลต้า ซึ่งกลายเป็นเชื้อหลักของโลกในปัจจุบัน ทำให้การเปิดประเทศล่วงเลยมาถึงช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งทยอยเปิดประเทศสำหรับการเดินในกลุ่มสหภาพยุโรป ตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างให้มีการศึกษาแนวทางเปิดประเทศ ของหลายประเทศ รวมถึงไทยซึ่งประกาศเปิดประเทศไทยแล้ว และสหรัฐอเมริกา จะเปิดในวันที่ 8 พ.ย.นี้
แต่การเปิดประเทศในช่วง 2 เดือน สุดท้ายของปี ยังมีความหวังอันน้อยนิด เพราะทุกฝ่ายเห็นพ้องว่า นักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต้องใช้เวลา โดยล่าสุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการณ์เอาไว้ ต่างชาติเข้าไทย 1.5 แสนคน คิดเป็นรายได้เข้าไทย 1.2 แสนล้านบาท และธนาคารแห่งประเทศไทยปรับเพิ่มคาดการณ์จากสภาพัฒน์ฯ เล็กน้อยราว 3 หมื่นคนเท่านั้น ขณะที่หากรวมเม็ดเงินจากไทยเที่ยวไทย 3.2 แสนล้านบาท เป็น 4.4 แสนล้านบาท
และถ้าหากเทียบปี 2564 กับ ก่อนโควิด-19 คือ ปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ หายไป 99.62% รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ หายไป 93.78% นี่คือเหตุผลหลักที่รัฐบาลจำเป็นจะต้องวางเดิมพันเปิดประเทศ เพราะเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท
คำถามว่า กระตุ้นให้ไทยเที่ยวไทยได้หรือไม่ ถ้าดูจากข้อมูลแล้วก็ยังลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ราวๆ 1.6 แสนล้านบาท และเมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ก็หายไป 70.37% หรือ 7 แสนล้านบาท ทำให้รายได้รวมเมื่อเทียบกับก่อนโควิด หายไป 85.38% หรือ 2.5 ล้านล้านบาท ทางเดียวที่จะกลบหลุมรายได้ภาคการท่องเที่ยวตรงนี้ ถ้าไม่ใช่การเปิดประเทศ ดูเหมือนรัฐบาลจำเป็นต้องกู้เพิ่ม แต่เม็ดเงินระดับ 1.8 ล้านล้านบาท เฉพาะต่างชาติ หรือ รวมไทยเที่ยวไทยด้วยก็เป็น 2.5 ล้านล้านบาท ดูจะไม่ใช่ระดับที่สามารถกู้ได้ง่าย และไม่กระทบกับระดับความน่าเชื่อถือ หรือ เครดิตเรตติ้ง
คำถามต่อไป ไม่เปิดประเทศ ไม่กู้เพิ่มจะเกิดอะไรขึ้น เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นจากจุดต่ำสุด แต่กำลังซื้อฐานรากจะทนได้หรือไม่ โดยวัดจากการจ้างงาน โดยอัตราว่างงานทรงอยู่ที่ระดับสูง 1.9 - 2% มาต่อเนื่องตลอด 1 ปีเต็ม ซึ่งนี่เป็นระดับอัตราว่างงานสูงสุด นับตั้งแต่การปรับวิธีการคำนวนอัตราการว่างงานใหม่ ทั้งปรับเรื่องอายุกำลังแรงงานที่เหมาะสมจาก 13 ปี เป็น 15 ปี และไม่คำนวนแรงงานต่ำกว่า 15 ปี เป็นแรงงานในระบบ
โดยข้อมูลล่าสุดในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อัตราว่างงานอยู่ที่ 1.9% ขณะที่กำลังแรงงานในระบบอยู่ที่ 38.78 ล้านคน เท่ากับมีกำลังแรงงานในระบบตกงาน 7.3 แสนคน ไม่เพียงผลกระทบคนว่างงานเท่านั้น แต่แรงงานที่มีงานทำอยู่ ก็ถูกลดชั่วโมงการทำงานลงด้วย ทำให้ผู้เสมือนว่างงานเพิ่มมากขึ้น ถึงเท่าตัวในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ เมื่อว่างงาน หรือ งานน้อยลงก็ส่งผลต่อรายได้ และกำลังซื้อในท้ายที่สุด และที่สำคัญแรงงานภาคการท่องเที่ยว มีการประเมินว่าอยู่ที่ระดับ 8 ล้านคน หรือราวๆ 20% ของแรงงานในระบบทั้งหมด นี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำหรับการเดิมพันเปิดประเทศครั้งนี้
และวันนี้ รายการเศรษฐกิจ Insight อยู่กับ นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องบอกว่า เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ขณะที่การเปิดประเทศครั้งนี้ มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และจะต่อลมหายใจของธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอย่างไร ติดตามในรายการ เศรษฐกิจ Insight ทางTNNช่อง16
https://www.youtube.com/watch?v=TKltN5U0EcE