TNN ธปท. รับ NPL ขาขึ้น จับตากลุ่มเฝ้าระวังพุ่ง 2 เท่า

TNN

Wealth

ธปท. รับ NPL ขาขึ้น จับตากลุ่มเฝ้าระวังพุ่ง 2 เท่า

ธปท. รับ NPL ขาขึ้น จับตากลุ่มเฝ้าระวังพุ่ง 2 เท่า

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยสถานการณ์หนี้เสีย ยังไม่พ้นจุดสูงสุด ปี 2564 เชื่อยังเป็นขาขึ้น พร้อมจับตา กลุ่มลูกหนี้

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้จากผลกระทบโควิด-19 ดีขึ้น จากผู้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ วงเงินรวมทั้งสิ้น 7 ล้านล้านบาท คิดเป็นบัญชี 12.5 ล้านบัญชี แต่ข้อมูล ณ สิ้นปี 2563 วงเงินรวมผู้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินฯ ลดลง 33% มาอยู่ที่ 4.8ล้านล้านบาท คิดเป็น 8.37 ล้านบัญชี 


ทั้งนี้ ประเมินว่า ปี 2564 แนวโน้มหนี้เสีย หรือ NPL ยังคงเป็นขาขึ้น แต่ไม่ถึงกับเหตุการณ์ NPL Cliff  หรือในเวลาอันรวดเร็ว และเชื่อว่าระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย พร้อมรองรับเหตุการณ์ได้ เนื่องจากสถานภาพของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ยังคงแข็งแกร่ง มีระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง, อัตราเงินสำรอง NPL , สภาพคล่อง และอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝาก อยู่ในเกณฑ์ที่ดี 


ขณะที่ NPL ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 3.12% เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ระดับ 2.98% ซึ่งเป็นระดับไม่มาก เนื่องจากธนาคารมีการดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนลูกหนี้กลุ่มเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หรือ Stage 2 ซึ่งกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จากระดับ 2.79% ณ สิ้นปี 2562 ขึ้นเป็น 6.62% ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิด แต่เชื่อว่า หากมีมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่อง ลูกหนี้จะกลับมาอยู่ที่ Stage 1 ได้ 


สำหรับผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ ทั้งระบบ ปี 2563 มีกำไรราว 4 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่มีกำไร 5 แสนล้านบาท หรือลดลง 18.8% หากหักกำไรจากการขายเงินลงทุนในปี 62 ออกไป ลดลง 3.7% และพบว่า กำไรที่ลดลงมาจากการกันเงินสำรองสูงถึง 2.3 แสนล้านบาท เพื่อรองรับคุณภาพของสินเชื่อ หลังจากหมดมาตรการไป 


ขณะที่ ภาพรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ปี 2563 เติบโต 5.1% สูงกว่าปี 2562 ที่อยู่ระดับ 2% เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่ หันมากู้เงินฝากระบบธนาคารแทนตลาดตราสารหนี้ ส่งผลให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่โต 13.1% ส่วนธุรกิจขนาดเล็กติดลบ 2.8% และหากไม่รวมสินเชื่อซอฟท์โลน จะติดลบถึง 5.9% ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอยู่ที่ระดับ 4.6% 

ข่าวแนะนำ