TNN เปิดตลาดรถหรู “โลก-ไทย” ท่ามกลางโควิด-19 โอกาสและความท้าทายใหม่

TNN

Wealth

เปิดตลาดรถหรู “โลก-ไทย” ท่ามกลางโควิด-19 โอกาสและความท้าทายใหม่

เปิดตลาดรถหรู “โลก-ไทย” ท่ามกลางโควิด-19 โอกาสและความท้าทายใหม่

ช่วงโควิด-19 เราได้เห็นหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยปีที่หนักที่สุด ปี 2020 ติดลบไปราวๆ 15% แต่จะเจาะไปที่ตลาดรถหรูทั่วโลก ซึ่งได้รับผลกระทบน้อยกว่า และหากเจาะไปที่ตลาดเอเชียแปซิฟิก ตลาดนี้โตสวนทาง 6% ขณะที่ตลาดในประเทศไทยเอง แม้จะมียอดขายลดลงบ้างเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกับรถยนต์ทั่วไปแล้ว มีสัดส่วนสูงขึ้น และที่สำคัญแนวโน้มในอนาคตตลาดรถหรูในประเทศไทยก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นด้วย เพราะอะไร และนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าที่ครม.อนุมัติมาแล้ว จะส่งผลอย่างไร

การเก็บรวบรวมโดยเว็บไซต์ statista.com เปิดเผยว่า ปี 2019 หรือ ก่อนโควิด-19 ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกอยู่ที่ 74.9 ล้านคัน และปี 2020 ที่ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายลดลงไปอยู่ที่ 63.8 ล้านคัน หรือ ติดลบ 14.8% ขณะที่ปี 2021 ที่ผ่านมา ยอดขายขยับขึ้นไปอยู่ที่ 66.7 ล้านคัน ฟื้นตัว 4.5% ถือว่าน้อยกว่าระดับที่ติดลบลงไปเกือบๆ 15% ในปี 2020 เจาะลึกลงไปในปี 2020 ปีที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงมากที่สุด ข้อมูลจาก Euromonitor และ CEIC และการวิเคราะห์ของ EIC ระบุว่า ตลาดรถยนต์ของโลกปี 2020 ติดลบมากถึง 15.2% ขณะที่เจาะไปที่ตลาดรถยนต์หรูโดยเฉพาะ ติดลบน้อยกว่าเกือบครึ่ง หรือติดลบไป 8.5% มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 4.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้ ตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ในเอเชียแปซิฟิก มีสัดส่วน 46% ของส่วนแบ่งตลาดรถยนต์หรูทั่วโลก และที่สำคัญ ยังเติบโตสวนทางทุกตลาดที่ระดับ 6% ในปี 2020 

เปิดตลาดรถหรู “โลก-ไทย” ท่ามกลางโควิด-19 โอกาสและความท้าทายใหม่

หลายคนสงสัยว่า ทำไมตลาดรถหรูของเอเชียแปซิฟิกครองส่วนแบ่ง เป็นอันดับ 1 และยังเติบโตสวนทางตลาดรถหรูทั่วโลกด้วย คำตอบไม่ยาก เพราะมีประเทศจีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลก ที่กำลังขึ้นไปเทียบเบอร์ 1 ของโลกอยู่ทุกขณะ แน่นอนจีนครองส่วนแบ่งตลาดรถหรูในเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 80% มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดูในปี 2018 ยอดขายรถหรูในเอเชียแปซิฟิก 3 ล้านคัน จีนมีเอี่ยวด้วย 80% , ปี 2019 สงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน หนักๆ ในปีนั้น แต่คนจีนเพิ่มสัดส่วนรถหรูในเอเชีย เป็น 81% จากจำนวน 3.2 ล้านคัน , ปี 2020 จีนได้รับผลกระทบโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2019 ลากมาปี 2020 แม้จะคุมโควิด-19 ได้ แต่ยังมีการคุมเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ดูเหมือนไม่เป็นผลดีทางเศรษฐกิจมากนัก แต่จีนเพิ่มสัดส่วนในตลาดรถหรูเป็น 84% จาก 3.4 ล้านคัน และปี 2021 ที่ผ่านมา ยอดขายรถหรูในเอเชียแปซิฟิกโตแรงไปอยู่ที่ 3.9 ล้านคัน จีนยังครองส่วนแบ่งที่ 84% เท่าเดิม 

เปิดตลาดรถหรู “โลก-ไทย” ท่ามกลางโควิด-19 โอกาสและความท้าทายใหม่

ถ้าพูดถึงตลาดรถหรู ในเอเชียแปซิฟิกต้องบอกว่าจีนกินขาด ด้วยส่วนแบ่งมากกว่า 80% ทุกปี แล้วที่เหลือในเอเชียแปซิฟิก มีประเทศอะไรบ้างที่นิยมตลาดรถหรู พาไปดู 10 อันดับ ที่ครองส่วนแบ่งตลาดรถหรูในเอเชียแปซิฟิก ต่อจากประเทศจีน นำโดยเกาหลีใต้ ครองส่วนแบ่ง 35.1% , อันดับ 2 ญี่ปุ่น ส่วนแบ่งตลาด ที่ระดับ 32.7% ใกล้เคียงเกาหลีใต้มากที่สุด อันดับ 3 ไต้หวัน ครองส่วนแบ่ง 15.5% , อันดับ 4 ประเทศไทย 4.5% ในกราฟฟิกตรงนี้ และเป็นอันดับ 5 ในเอเชียแปซิฟิก แน่นอนอยู่ในสายตาแบรนด์รถหรูยักษ์ใหญ่ ในการเข้ามาลงทุน , อันดับ 5 อินเดีย 3.1% , อันดับ 6 ฮ่องกง 2.8% , อันดับ 7 สิงคโปร์ 2.7% ,อันดับ 8 มาเลเซีย 2.4% ,อันดับ 9 อินโดนีเซีย 0.8% และอันดับ 10 ฟิลิปปินส์ 0.3%  เปิดตลาดรถหรู “โลก-ไทย” ท่ามกลางโควิด-19 โอกาสและความท้าทายใหม่

อันดับตลาดรถหรูขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร รายได้ต่อหัว และการเติบโตของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ แม้จะมีประชากรน้อย แต่รายได้มาก ก็ยังติดอันดับ ขณะที่อินเดีย แม้จะมีประชากรมากกว่า 1.3 พันล้านคน แต่สัดส่วนความต้องการ หรือ การตัดสินใจซื้อรถหรูในขั้นสุดท้ายตลอดทั้งปี 2020 ยังน้อยกว่าประเทศไทย ที่มีประชากรราวๆ 70 ล้านคน และอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ภาษีในการนำเข้ารถยนต์หรู และฐานการผลิต ก็จะมีผลต่อราคาในการตัดสินใจซื้อด้วย 


ทั้งนี้ EIC ยังประเมินว่าแนวโน้มตลาดรถยนต์หรูในประเทศไทย ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากวิกฤตโควิด-19 สาเหตุหนึ่ง คือ กลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้มากกว่า 1 แสนบาท มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อ้างอิงจากสถิติของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ดูเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 1 แสนบาท ในปี 2017 ต้องบอกว่า มีจำนวนมากที่สุด คือ กลุ่มรายได้ 1 แสนบาท ถึง 1.5 แสนบาท มีสัดส่วน 1.8% ของครัวเรือนทั้งหมดในประเทศไทย 21.38 ล้านครัวเรือน ณ ขณะนั้น เมื่อรวมกับ ครัวเรือนที่มีรายได้มากกว่า 1.5 แสนบาทขึ้นไป 0.8% เท่ากับ ผู้มีรายได้มากกว่า 1 แสนบาท คิดเป็น 2.6% ของครัวเรือนทั้งหมด เว้นไป 2 ปี (สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจรายได้ครัวเรือนทุก 2 ปี) ครัวเรือนที่มีรายได้มากว่า 1 แสนบาท ลดลงเหลือ 1.9% ของครัวเรือนทั้งหมดในประเทศไทย ( กลุ่มรายได้ 1-1.5 แสนบาท 1.3% , กลุ่มรายได้ 1.5 แสนบาทขึ้นไป 0.6%) และการสำรวจในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ครัวเรือนที่มีรายได้มากว่า 1 แสนบาท เพิ่มขึ้นเป็น 2.5% ของจำนวนครัวเรือนในประเทศไทย 22.33 ล้านครัวเรือน หรือ เกือบ 6 แสนครัวเรือน ที่มีรายได้มากกว่า 1 แสนบาท เป็นกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และเป็นเป้าหมายของตลาดรถหรูในประเทศไทย ไม่เพียงเท่านั้น ครัวเรือนที่มีรายได้มากกว่า 1 แสนบาท ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 


เปิดตลาดรถหรู “โลก-ไทย” ท่ามกลางโควิด-19 โอกาสและความท้าทายใหม่

ประกอบกับแบรนด์รถยนต์หรูเองรุกตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น หลายประเทศเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังขยายตัว ทำให้แบรนด์ต่างๆ ขยับความกว้างของช่วงราคามากขึ้น โดยราคาต่ำสุดบางค่ายขยับลดลงต่ำกว่า 2 ล้านบาทแล้ว เพื่อต้องการให้คนที่ใช้รถญี่ปุ่นรุ่นทอป ราคาราว 1.5 ล้านบาท ช่วงห่างของไม่ถึง 5 แสนบาท ก็อาจตัดสินใจย้ายแบรนด์มาเป็นรถหรูได้มากขึ้น โดยการขยับราคามาที่ 2 ล้านบาท ผ่อนขั้นต่ำอยู่ที่ 2.4 หมื่นบาทต่อเดือน หากคิดภาระหนี้ที่ 35% ของรายได้ต่อเดือน จะมีรายได้ขั้นต่ำราวๆ 8 หมื่นบาทต่อเดือน ก็สามารถซื้อรถหรูแบบผ่อนชำระได้ ไม่จำเป็นต้องมีรายได้ถึง 1 แสนบาทขึ้นไปอีก เท่ากับตลาดก็จะกว้างขึ้น แน่นอนการทำธุรกิจทุกประเภท เรามองแต่โอกาสอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาจุดอ่อน และการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมซึ่งอาจเกิดได้ในอนาคต และต้องเคลื่อนธุรกิจไปยังจุดที่มีโอกาสมากขึ้น นี่คือความท้าทายของธุรกิจ เช่นเดียวกับธุรกิจ หรือตลาดรถหรูทั่วโลก 


ประเด็นแรก คือ การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิม สู่ยานยนต์ไฟฟ้า ตอนนี้รัฐบาลทั่วโลกเสี่ยงที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมการลงทุน และการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ เช่นเดียวกับรัฐบาลไทย ที่เพิ่งอนุมัติแผนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ที่ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 30% ของยอดผลิตทั้งหมดภายใน ปี 2030 เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของอาเซียน 


โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (BOI) ได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนสนับสนุนให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่าง ๆ ที่มีการลงทุนผลิต EV ภายในประเทศ ซึ่งค่ายรถยนต์หรูอย่าง Mercedes-Benz กับ BMW ก็เข้าร่วมเช่นกัน โดย Mercedes-Benz มีการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่เพื่อการประกอบรถไฟฟ้า และจะเริ่มผลิตรถรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้ในปี 2022 โดยในขั้นต้นจะเริ่มจากมาตรการส่งเสริมการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิด การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมากขึ้น 


ซึ่งล่าสุดมาตรการทางภาษีที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาที่ถูกลง มีทั้งการลดภาษีสรรพสามิต ลดภาษีนำเข้า หรือ ภาษีศุลกากร แลกกับการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศทดแทน (ซึ่งรายการเศรษฐกิจ Insight จะเจาะลึกในประเด็นนี้อีกครั้ง) แต่ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมา แน่นอนว่าจะทำให้ในอนาคตจึงนับเป็นโอกาสที่ดีของผู้บริโภคที่มีโอกาสซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่ต่ำลงและมีแบรนด์ให้เลือกซื้อ ที่หลากหลายมากขึ้น แต่ค่ายรถยนต์ต่างๆ ก็ต้องปรับตัว อย่าง 2 แบรนด์ใหญ่ของโลก ทั้ง Mercedes-Benz และ BMW แสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมโครงการ และเดินหน้าลงทุนในประเทศไทยแล้ว 


ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลก กระทบหนักในอุตสาหกรรมไฮเทค ทั้งสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และรวมไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ยิ่งรถหรู รถแพง จะต้องมีอุปกรณ์อัจฉริยะหลายตัว ก็จะยิ่งใช้ ชิป หรือแผงวงจรต่างๆ มากขึ้นตามไปด้วย และโควิด-19 จึงไม่แปลกที่เห็นรถยนต์หรูหลายรุ่นลดสเปค อย่าง Porsche ที่ตัดพวงมาลัยแบบไฟฟ้า เปลี่ยนเป็นพวงมาลัยธรรมดา หรือ การประกาศปิดสายการผลิตชั่วคราวของ Mercedes-Benz ในเยอรมัน เมื่อช่วงกันยายน 2021 ที่ผ่านมา 


ขณะที่ สำนักวิจัย IHS Markit ได้คาดการณ์ว่าสถานการณ์การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์นี้จะค่อย ๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้นภายในปี 2022 และสามารถคลี่คลายลงได้ในปี 2023 ซึ่งจะเป็นช่วงที่โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ส่วนใหญ่ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างสามารถเริ่มเดินสายการผลิตได้ ซึ่งน่าจะเข้ามาช่วยเติมอุปทานที่ขาดแคลนในตลาดได้มากขึ้นพอสมควร


และประเด็นสุดท้าย ที่ไม่มองไม่ได้ เพราะเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่อาจเป็น New Normal ขณะเดียวกัน Car sharing ก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ธุรกิจในอนาคตที่น่าจับตามอง และมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มธุรกิจรถหรูเช่นกัน ทั้งนี้หากเปรียบเทียบระหว่างการใช้บริการธุรกิจ Car sharing กับการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะที่มีความเสี่ยงสูงด้านสุขอนามัย เราจะพบว่าธุรกิจ Car sharing เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่า เทรนด์ Car sharing ได้แก่ บริการธุรกิจที่เป็นระบบสมาชิก ลักษณะคล้ายกับการเช่ารถยนต์แต่มีเงื่อนไข ที่สั้นกว่าและยืดหยุ่นมากกว่า เพื่อให้ลูกค้าสามารถขับขี่รถยนต์หรูที่มีคุณภาพสูงในราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งโมเดลในลักษณะนี้เป็นที่นิยมมากในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นเจ้าของทรัพย์สินน้อยกว่าคนรุ่นเก่า ใกล้เคียงกันกับเป็นสมาชิกของบริการสตรีมมิ่งต่าง ๆ ที่เมื่อสมัครเป็นสมาชิกและชำระค่าสมาชิกรายเดือนแล้ว จะสามารถใช้สินค้าของบริการนั้นได้หลากหลายสินค้า ซึ่งมีค่ายรถยนต์หรูหลายค่ายที่ดำเนินธุรกิจแบบระบบสมาชิกเช่นเดียวกัน เช่น Porsche ที่เปิดตัวระบบสมาชิกรายเดือนที่ชื่อว่า Porsche Drive ในสหรัฐฯ ซึ่งลูกค้าที่เป็นสมาชิกสามารถใช้รถยนต์หรูได้นานสุดถึง 3 เดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายจะแตกต่างไปตามจำนวนรถยนต์ที่สมาชิกต้องการ


ในณะที่ ธุรกิจบริการเช่ารถยนต์ระยะสั้น (Car Rental) ที่ได้รับความนิยมจากการตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีความต้องการขับขี่รถยนต์หรูแต่ไม่ได้มีความต้องการถือครองไว้ใช้ในระยะยาวเพราะด้วยภาระค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน เช่น บริษัท Prime Cars Rental ที่ให้บริการเช่ารถยนต์หรู ตั้งแต่ Premium Segment ไปจนถึงรุ่น Super car ซึ่งรถเช่าทุกคันมาพร้อมกับ ประกันภัยชั้น 1 ด้วยอัตราค่าบริการที่แตกต่างไปตามรุ่นของรถยนต์และระยะเวลาที่ต้องการเช่า เช่น ราคาเช่ารถเบนซ์รุ่นต่าง ๆ จะเริ่มต้นเพียง 8,900 บาท ไปจนถึง 65,000 บาทต่อวัน ไปจนถึงการเช่ารถยนต์หรู Ultra-luxury อย่าง Rolls-Royce Ghost ที่มีอัตราเช่า 150,000 บาทต่อวัน

#ตลาดรถหรู #luxury #อุตสาหกรรมยานยนต์


ติดตามข่าวหุ้นและการลงทุนทางไลน์
• Line @TNNWEALTH : https://lin.ee/TQ14oAe
—————————————————————————
ติดตาม TNN Wealth ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 
หรือดูรายการ Live ได้ทาง

ข่าวแนะนำ