ซื้อ บิตคอยน์ ต้องเสียภาษีหรือไม่-เสียอัตราเท่าไหร่กัน ?
เปิดข้อสงสัย ซื้อขาย บิตคอยน์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องจ่ายภาษีหรือไม่ อัตราเท่าไหร่ของมูลค่าที่ซื้อไป ??
กระแสคริปโทเคอเรนซี cryptocurrency หรือหลายคนอาจจะเริ่มต้นรู้จักจาก บิตคอยน์ หนึ่งในสกุลเงินดิจิทัลแรกๆที่เกิดขึ้นมาบนโลก และตลาดคริปโทฯเองก็เป็นกระแสขึ้นมาได้เพราะ บิตคอยน์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าบรรดานักลงทุนเองก็เริ่มเข้าใจธรรมชาติของตลาดคริปโทฯกันมากขึ้นพอสมควร เพราะทุกวันนี้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการระดมทุน (ICO ) และเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเป็นจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยได้มี พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เข้ามาดูแลกำกับในส่วนนี้แล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน และช่วยเหลือให้ประชาชนไม่ถูกหลอกลวง
รู้หรือไม่? มีสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลกมากกว่า 5,400 สกุล
ด้วยตลาดคริปโทฯ เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น นักลงทุนให้ความสนใจกันมากขึ้น โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบัน มีสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลกมากกว่า 5,400 สกุล ซึ่งแต่ละสกุลเงินถูกนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน เช่น บิตคอยน์ Bitcoin ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ส่วน Ethereum ถูกใช้ในการพัฒนา Smart Contract และอีกสกุลเงินดิจิทัล Ripple เป็นระบบการชำระเงิน สำหรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและรับส่งเงินตราระหว่างประเทศ เป็นต้น ทำให้แต่ละสกุลเงินมีความน่าสนใจ และความต้องการซื้อขายไม่เท่ากัน ส่งผลให้ผลตอบแทนและความเสี่ยงของแต่ละสกุลแตกต่างกัน
ภาพประกอบ: AFP
แล้วถ้าซื้อ บิตคอยน์ จะต้องเสียภาษีเท่าไหร่??
น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย... โดยตามกฎหมาย ภาษีกับสินทรัพย์ดิจิทัล ในกรณีบุคคลธรรมดา พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่19 พ.ศ.2561 ระบุไว้ว่า หากใครซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโตเคอร์เรนซี่ เช่น บิตคอยน์,อีเธอเรียม และอื่นๆ หรือ โทเคนดิจิทัลต่างๆ) แล้วตอนขายออกไปสามารถทำกำไรได้ ส่วนผลกำไรจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และยังต้องนำกำไรจากการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลมารวมในการคำนวณภาษีเงินได้อีกด้วย ซึ่งในท้ายที่สุด สำหรับบุคลธรรมดาอาจต้องเสียภาษีสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลถึง 35%
กำไรจากสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ซื้อต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี(กลุ่มธุรกิจพลังงาน)ในฐานะโฆษกกรมสรรพากรเปิดเผยถึงรูปแบบการเสียภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลว่า โดยปกติหากมีการขายแล้วมีกำไร ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา40(4)(ฌ)ซึ่งผู้จ่ายเงินได้(ผู้ซื้อ) มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15%
นอกจากนี้ ตามข้อกฎหมาย ผู้ขายสินทรัพยดิจิทัล หากมีกำไร มีหน้าที่ต้องนำกำไรจากการขายไปคำนวณรวมกับเงินได้อื่น ในการยื่นเสียภาษีประจำปี ตามปีที่ได้รับกำไร
ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้เลือกว่า จะนำมาคำนวณรวมหรือไม่ต้องนำมาคำนวณรวม เช่นเดียวกับการที่ถูกหักภาษีณที่จ่าย แบบดอกเบี้ยหรือเงินปันผล ที่ถูกหักณที่จ่ายในอัตรา15% และ 10% แล้วได้สิทธิ์ให้เลือกว่า จะรวมหรือไม่รวมกับเงินได้ตอนยื่นประจำปีได้
ภาพประกอบ: AFP
ก.ล.ต.และ DSI คอยจับตาการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะผิดกฎหมาย
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการประชุมร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำโดยนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อหารือประเด็นความร่วมมือในการยกระดับการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดในตลาดทุน รวมถึงการพิจารณากำหนดเพิ่มลักษณะความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลและสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ
โดยนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า การหารือในครั้งนี้ เป็นการหาแนวทางการยกระดับการทำงานร่วมกันในเชิงรุก ทั้งด้านกระบวนการสืบสวนและตรวจสอบเกี่ยวกับการกระทำผิดในตลาดทุน อันเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อสังคมและประชาชน รวมทั้งจะมีการพิจารณากำหนดความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลและสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพิ่มในบัญชีท้ายประกาศ กคพ. ออกตามความในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และได้มีการหารือกันถึงประเด็นการเชื่อมโยงข้อมูลและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบังคับใช้กฎหมายด้วย
เเม้ว่าอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลจะน่าสนใจ แต่ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในรูปแบบใดก็ตาม ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนการลงทุนให้รอบคอบ โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความซับซ้อน เช่น หากต้องการลงทุนใน บิตคอยน์ ควรทำความเข้าใจในลักษณะของบิตคอยน์ให้มากที่สุดจากสมุดปกขาว (White Paper) ให้รอบคอบ เพราะมีข้อมูลที่สำคัญของโครงการนั้นๆ คล้ายๆกับหนังสือชี้ชวนการลงทุน (Prospectus) ของกองทุนรวม ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนนั่นเอง สิ่งที่สำคัญคือให้คิดเสมอว่า การลงทุนทุกรูปแบบมีความเสี่ยง มาก-น้อยก็คือความเสี่ยงที่จะได้ผลตอบรับเป็นกำไร หรือขาดทุน ได้เช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง : www.set.or.th/set/financialplanning, www.depa.or.th, ก.ล.ต. www.sec.or.th
ภาพประกอบ: AFP, เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์ พีอาร์ ซิตี้แบงก์