ลดหย่อนภาษี ปี 2564 ด้วยกองทุน RMF-SSF-ประกันชีวิต เลือกแบบไหน?
เช็กข้อมูลลดหย่อนภาษีประจำปี 2564 สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อกองทุน RMF-SSF ประกันชีวิต มาลดหย่อนภาษีได้มากน้อยแค่ไหน เลือกผลิตภัณฑ์แบบไหนดี เช็กได้ที่นี่!!
ใกล้สิ้นปีหลายคนน่าจะเตรียมวางแผนเพื่อ ลดหย่อนภาษี กันบ้างแล้ว เพราะจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าที่เมื่อถึงปลายปีก็จะมีรายจ่ายเรื่องภาษีเข้ามามากมาย ซึ่งก็มีหลายๆค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น การซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือแม้แต่การลงทุนในกองทุน RMF, SSF ที่ล่าสุดได้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางภาษีไปเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา วันนี้ TNN Online จึงได้รวบรวมรายละเอียด รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆมาฝาก เผื่อว่าจะเป็นแนวทางและข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการวางแผนลดหย่อนภาษีในรอบปี 2564 ที่จะถึงนี้
กองทุนรวม
อย่างแรกเลยคือการซื้อ กองทุนรวม โดยมีอยู่ 2 ประเภทที่จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่
1. กองทุนรวมเพื่อการออม SSF (Super Savings Fund) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมให้มีระยะยาวขึ้น เรามีสิทธิซื้อกองทุน SSF เพื่อใช้ ลดหย่อนภาษี ได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท และจะต้องถือครองเป็นระยะเวลา 10 ปีปฏิทิน โดยในเบื้องต้นกองทุน SSF จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับผู้ที่ลงทุนตั้งแต่ปี 2563-2567 หลังจากนั้นจะถูกประเมินและทบทวนอีกครั้งโดยกระทรวงการคลัง ส่วนเงื่อนไขการลงทุน ปีไหนซื้อปีนั้นได้ลดหย่อน และไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อลงทุนครบ 10 ปี ปฏิทิน
2. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF (Retirement Mutual Fund) โดยกองทุนนี้จะเป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม สำหรับเป็นเงินออมที่รองรับชีวิตหลังเกษียณ โดยได้มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ มีผลตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ให้สามารถซื้อกองทุน RMF เพื่อใช้สิทธิในการ ลดหย่อนภาษี ได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยไม่มีการกำหนดขั้นต่ำในการลงทุน ให้เป็นไปตามที่แต่ละกองทุนกำหนด แต่เงื่อนไขการลงทุนต่อเนื่องทุกปี และเว้นได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน ยังคงเหมือนเดิม ผู้ลงทุนสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และถือครองไม่ต่ำกว่า 5 ปีเต็ม
ประกันชีวิตหรือ ประกันสุขภาพ
การซื้อ ประกันชีวิต จะมี 2 ประเภทหลักๆ ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
1. ประกันชีวิตทั่วไป แบบประกันชีวิตที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้นั้นต้องเป็นแบบประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครองชีวิตตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เราสามารถนำเบี้ยประกันภัยที่ชำระมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท โดยนับรวมเบี้ยประกันภัยในส่วนสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ (ถ้ามี) ได้สูงสุด 25,000 บาท (เริ่มตั้งแต่ปีภาษี 2563)
2. ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันชีวิตแบบนี้มอบความคุ้มครองชีวิตและมอบเงินคืนเป็นงวดๆ หลังจากที่เราเกษียณไปแล้ว เราสามารถนำเบี้ยประกันภัยที่ชำระมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของรายได้ทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท และหากเราไม่ได้ซื้อประกันชีวิตทั่วไป ก็สามารถใช้ประกันชีวิตแบบบำนาญลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาท
ทีนี้หากเราจะนำกองทุนหรือประกันชีวิตที่ซื้อไปหัก ลดหย่อนภาษี ได้ รวมไปถึงกองทุนเพื่อการออมต่างๆ อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. กอช. เป็นต้น นั้น มีเงื่อนไขอยู่ว่า เมื่อนับรวมผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่จะหักลดหย่อนแล้ว จะต้องไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกันและการลงทุน (รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท) | |
ประกันสังคม | ไม่เกิน 5,100 บาท |
ประกันสุขภาพของพ่อแม่ | ไม่เกิน 15,000 บาท |
ประกันสุขภาพ | ไม่เกิน 25,000 บาท |
ประกันชีวิตและสะสมทรัพย์ | ไม่เกิน 100,000 บาท |
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกันและการลงทุน (รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท) | |
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ( RMF ) | 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 100,000 บาท |
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) | 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท |
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จกำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน | 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท |
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) | ไม่เกิน 13,200 บาท |
ประกันชีวิตแบบบำนาญ | 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท |
**หมายเหตุ** จำนวนเงินประกันสังคมที่ลดหย่อนได้สูงสุด เป็นข้อมูล ณ เดือน ต.ค. 2564 ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ หากมีประกาศปรับลดส่งเงินสมทบในช่วงปลายปี และขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้ประกันตนแต่ละมาตรา ที่มา : กรมสรรพากร,ประกันสัมคม |
ต้องเตรียมเอกสารสำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอะไรบ้าง??
รูปแบบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 2 แบบ คือ ภ.ง.ด.90 (สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน) และ ภ.ง.ด.91 (สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น) และจะต้องเตรียมเอกสาร ดังนี้
- หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับใบ 50 ทวิ
- รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
- เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี เช่น ใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันชีวิตหรือ หนังสือรับรองการจ่ายเงินเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น
ยื่นภาษีได้ที่ไหนบ้าง??
1. ยื่นภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
2. ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th
3. ยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax โดยการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรเป็นอันดับแรก จึงจะสามารถยื่นผ่านแอปพลิเคชันได้
อย่างไรก็ตามการที่เราจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นประกันหรือกองทุน อยากให้พิจารณาจากความจำเป็นหรือไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน เช่น หากเป็นคนที่ทำงานในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เสี่ยง หรือเดินทางบ่อย อาจจะเลือกประกันชีวิต ที่อาจจะซื้อเสริมจากประกันที่ทางบริษัทจ่ายให้ ส่วนคนที่มีความจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ ก็อาจจะเลือกเป็นประกันสุขภาพ แต่หากลักษณะการทำงานหรือไลฟ์สไตล์ชอบเก็บออม หรือชอบลงทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนด้วยก็อาจจะเลือกเป็นการซื้อกองทุน แต่สิ่งสำคัญต้องดูกำลังและความสามารถในการจ่ายด้วย เพราะการเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ใดก็ตาม แล้วได้ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมด้วยนั้น ถือเป็นสิ่งที่ได้ตามมาทีหลัง
และที่ต้องเน้นย้ำในทุกบทความของ TNN Online เลยก็คือ การศึกษาข้อมูลมากเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองมากขึ้นเท่านั้น นอกจากวัตถุประสงค์ที่จะหักลดหย่อนภาษีในอนาคตแล้ว ก่อนที่เราจะเริ่มลงทุนทุกครั้ง ควรมีการตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน และมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ รัดกุม รวมถึงศึกษารายละเอียดจากคู่มือภาษี หรือปรึกษาผู้แนะนำการลงทุนเพื่อทำความเข้าใจรายละเอียด กฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างให้ละเอียดก่อนก็ได้ จะช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงิน และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างถูกต้องและคุ้มค่าที่สุดนั่นเอง
ข้อมูล:กรมสรรพากร,ประกันสังคม ,บลจ.กรุงศรี
ภาพ: AFP,TNN Online