Thai ESGX พยุงหุ้น-ลดหย่อนภาษี คุ้มแค่ไหน?

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ให้จัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thai ESGX) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมจากกองทุน Thai ESG ปกติ เพื่อรองรับการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund: LTF) และเงินลงทุนใหม่ 

เนื่องจาก ในปีนี้ LTF ทั้งหมดครบกำหนดการถือครอง นักลงทุนจึงมีสิทธิขายหน่วยลงทุนออกมาได้อย่างอิสระ ซึ่งได้ส่งผลกระทบให้มีแรงเทขายสูงในตลาดหุ้นไทยและกระทบสภาพคล่องโดยรวม  ดังนั้นหากมีการชะลอเทขายหน่วยลงทุน LTF  เพื่อโยกเข้าไปลงทุนใน Thai ESGX  น่าจะช่วยประคับประคองตลาดหุ้นได้   

ทั้งนี้ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC ) ระบุว่า ณ สิ้นมกราคม 2568 มีหน่วยลงทุน LTF ที่ยังคงเหลืออยู่รวม  188,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ การจัดตั้ง Thai ESGX ยังเป็นการต่อยอดและสนับสนุนการลงทุนในหุ้นกลุ่มความยั่งยืน (ESG) ซึ่งภาครัฐ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.)  ต้องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่คำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นเทรนด์การลงทุนระดับโลกและมองว่าอาจสร้างความยั่งยืนในระยะยาวทั้งต่อบริษัทและตลาดทุนไทย 

ดังนั้นการให้สิทธิประโยชน์ภาษีเพิ่มเติมสำหรับ Thai ESCX จะดึงดูดและกระตุ้นให้นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันหันมาให้ความสนใจโอนเงินจาก LTF เดิมหรือใส่เงินใหม่เข้าสู่กองทุน Thai ESGX มากขึ้น นับเป็นการผสานเป้าหมายการประคองตลาดหุ้นและขับเคลื่อนแนวคิดส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนกิจการที่คำนึงถึง ESG ควบคู่กันไป 

ทั้งนี้  การจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thai ESGX) และสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เป็นหน่วยลงทุนในกองทุน Thai ESGX  ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จัดตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่ โดยยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุน Thai ESGX ที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินที่ออกโดยผู้ออกหรือกิจการในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติด้านความยั่งยืน ตามหลักเกณฑ์เดียวกันกับกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) 

โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ NAV  แต่ Thai ESG มีกรอบการลงทุนเพิ่มเติมว่าต้องลงทุนในหุ้นกลุ่มความยั่งยืน โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของ NAV 


สรุปข่าว

เปิดเงื่อนไขกองทุน Thai ESGX ให้สิทธิประโยชน์ภาษีเพิ่มเติมสูงสุด 500,000 บาท ที่สำคัญในปีภาษี 2568 การลงทุนในกลุ่ม Thai ESG จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรวมสูงสุดถึง 900,000 บาท ด้านกระทรวงการคล้งประเมินรายได้รัฐอาจหายไปจากมาตรการนี้ 50,000-60,000 ล้านบาทคุ้มค่ากับการพยุงตลาดหุ้น

สำหรับเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ทางภาษีแบ่งออกเป็น 2 วงเงินใหม่ โดยไม่รวมกับกองทุนและประกันเพื่อรองรับการเกษียณการทำงานอื่น ๆ ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้ 

Thai ESGX (วงเงินลดหย่อนที่ 1) สำหรับเงินใหม่ที่บุคคลธรรมดาลงทุนในกองทุน Thai ESGX เฉพาะปี 2568 สูงสุด 300,000 บาท   

ทั้งนี้ Thai ESGX วงเงินลดหย่อนที่ 1 ให้สิทธิลดหย่อนเฉพาะในปี 2568 จะเป็นวงเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีแยกจากการลงทุนในกองทุน Thai ESG ปกติ  และตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไปเงินลงทุนใหม่หรือเงินที่เติมเพิ่มเข้าใน Thai ESGX จะใช้อัตราและวงเงินลดหย่อนภาษีร่วมกับกองทุนในกลุ่ม Thai ESG เดิม ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ลดหย่อนได้สูงสุดร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน ไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี และต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี เหมือนกองทุน Thai ESG ปกติ

ขณะที่ Thai ESGX (วงเงินลดหย่อนที่ 2) สำหรับผู้ลงทุนที่สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิม ที่ถือทั้งหมดใน LTF ทุกกองทุนในทุก บลจ. มาเป็นหน่วยลงทุนของ Thai ESGX เพื่อรับเงินสิทธิลดหย่อนสำหรับ LTF เดิม สูงสุด 500,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน

ทั้งนี้ วงเงินลดหย่อนสูงสุด 500,000 บาท รวม ทยอยลดหย่อน 5 ปี ตั้งแต่ปีภาษี 2568 – 2572  โดยปีแรก (2568)  สูงสุด 300,000 บาท  และปีที่ 2 - 5 (2569 - 2572) : สูงสุด ปีละ 50,000 บาท

สำหรับหน่วยลงทุนที่มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต้องเป็นหน่วยลงทุนที่ผู้ถือหน่วย LTF ถือครอง ณ วันที่ ครม. มีมติอนุมัติมาตรการข้างต้น (ไม่รวม class หน่วยภาษีอื่นภายใต้กองทุนเดียวกัน เช่น class SSF)    โดยมีระยะเวลาในการสับเปลี่ยน คือ ภายใน 2 เดือน ซึ่งคาดว่าเป็นช่วงเดียวกันกับการเปิดขายหน่วย Thai ESGX (วงเงินลดหย่อนที่ 1) คือ เริ่มเปิดให้สับเปลี่ยนหน่วย LTF มาเป็น Thai ESGX ได้ทุกวันทำการของเดือน พ.ค. - มิ.ย. 68)

ส่วนกรณีผู้ถือหน่วยกองทุนรวม LTF ประสงค์จะย้ายไปกองทุนรวม Thai ESGX หากมีเงินลงทุนมากกว่า 500,000 บาท  หากต้องการใช้สิทธิลดหย่อนวงเงินที่ 2 จะต้องสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ทั้งหมดในทุกกองทุน ทุกบลจ. ของผู้ถือหน่วยลงทุนรายนั้น ๆ มาเป็นหน่วยลงทุน Thai ESGX โดยหน่วยลงทุนที่สับเปลี่ยนมาแล้วรวมทั้งหมด ต้องถือครองตามเงื่อนไข ไม่น้อยกว่า 5 ปีด้วย (วันชนวัน นับจากวันที่ส่งคำสั่งสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิม มากองทุน Thai ESGX) 

ทั้งนี้ การขายหน่วยลงทุนก่อนครบระยะเวลา 5 ปี จะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้นและมีเบี้ยปรับตามที่กฎหมายหรือกฎเกณฑ์กำหนด นอกจากนี้ หากมีกำไรจากการขายหน่วยจะต้องนำกำไรนั้นมาคำนวณภาษีเงินได้ตามหลักเกณฑ์ทางภาษีด้วย

สำหรับการตรวจสอบยอด LTF ที่สามารถสับเปลี่ยนได้นั้น  ผู้ถือหน่วยสามารถติดต่อ บลจ. และตัวแทนขายหน่วยลงทุนที่ท่านเคยใช้บริการลงทุน เพื่อตรวจสอบจำนวนหน่วยลงทุน LTF ที่ถือครอง   หรือเมื่อ Fund Connext platform สามารถให้บริการเช็คสอบยอดหน่วยลงทุน LTF ได้ ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบจำนวนหน่วยลงทุน LTF ที่ถือครอง ผ่านระบบดังกล่าวได้

สรุปแล้วในปีภาษี 2568 ผู้ลงทุนมีวงเงินที่สามารถลดหย่อนสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมกลุ่ม Thai ESG ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 3 วงเงิน รวมสูงสุดไม่เกิน 900,000 บาท ดังนี้

1) เงินลงทุนใหม่สำหรับผู้ลงทุนทุกรายที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของ Thai ESG ในปัจจุบัน โดยลดหย่อนไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท

2) เงินลงทุนใหม่สำหรับผู้ลงทุนทุกรายที่ลงทุนใน Thai ESGX ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่เปิดขายในปี 2568 โดยลดหย่อนไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท 

3) สำหรับผู้ถือหน่วย LTF ที่สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนจาก LTF ทุกกองทุนไป Thai ESGX โดยมีวงเงินลดหย่อนในปีแรก (2568) : สูงสุด 300,000 บาท  และปีที่ 2 - 5 (2569 - 2572) สูงสุดปีละ 50,000 บาท

มุมมองจาก บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า สิทธิลดหย่อนภาษีจาก Thai ESGX  ถ้ารวมสิทธิลดหย่อนภาษีจาก Thai ESG เดิมด้วยจะสามารถนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 900,000 บาท ในปีแรก ซึ่งถือเป็นมาตรการที่จูงใจเพราะวงเงิน ลดหย่อนรวมสูงกว่าทุกรอบ และเงื่อนไข Thai ESGX คล้าย LTF Version 2 คาดว่าจะเห็นการใช้สิทธิพิเศษนี้มากกว่า Thai ESG เดิมเนื่องจาก Valuation ของ SET INDEX ไม่แพง และถือเป็นนโยบายเดียวที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เงินเดือน

โดยThai ESGX ใกล้เคียงกับ LTF Version 2  กล่าวคือ กองทุน Thai ESGX ที่ตั้งขึ้นใหม่เน้นลงทุนในหุ้น ESG ในตลาดหุ้นไทย โดยต้องถือหุ้นที่มีความโดดเด่นด้าน ESG + เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก+ ยกระดับด้าน G ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของ NAV ส่วนที่เหลือจะเป็นตราสารหนี้ หรือ Investment Token ด้าน ESG ก็ได้ รวมกันแล้วจะต้องมีสินทรัพย์ลงทุนอิง ESG ไม่น้อยกว่ารร้อยละ 80 ของ NAV ซึ่งการมีสัดส่วนหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของ NAV ถือเป็นเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับ LTF เดิม แต่จะต่างจาก Thai ESG ธรรมดา ที่มีกองตราสารหนี้ให้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย

Thai ESGX เป็นการแก้ไขปัญหา ที่ตรงจุด คือ "ชะลอแรงขาย LTF" และ "เพิ่มเงินลงทุนใหม่ให้ตลาดทุนไทย" ในคราวเดียวกันคาดหวัง Thai ESGX จะได้ผลดีเหมือน SSFX ซึ่งกระทรวงการคลังเคยใช้ได้ผลดีในช่วง COVID-19 ระบาด

โดยการออกกองทุน SSFX เปิดขาย ระหว่าง เม.ย.-มิ.ย. 2563 สามารถระดมเงินลงทุนได้ราว 9,000 ล้านบาท SET INDEX ฟื้นแรงร้อยละ 20.5 ในช่วง ดังกล่าว ตามตลาดหุ้นทั่วโลกพอดี (จาก 1,138 จุด มาอยู่ที่ 1,373 จุด จาก ความคาดหวังต่อพัฒนาการของวัคซีน COVID)แต่ SSFX ก็มีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในประเทศ ในแง่ของแรงซื้อใหม่ที่เข้ามาช่วยจำกัด Downside ในช่วงที่ SET INDEX ผันผวน

ขณะที่การกำหนดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยมากกว่าร้อยละ 65 ของ NAV จะช่วยจำกัด Downsideให้กับ SET INDEX ในช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน จากนโยบายภาษีของสหรัฐและปรากฏการณ์ Sell in May ที่มักเกิดขึ้นในเดือน พฤษภาคมนี้ได้คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะหนุนหุ้น ESG Rating สูง กลับมา Outperform ตลาดได้อีกครั้ง

ด้านกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่ารัฐอาจจะสูญเสียรายได้จากมาตรการนี้ราว 50,000 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานผู้ถือหน่วยลงทุน LTF ที่ครบกำหนด 180,000 ล้านบาท (วันที่ครม.มีมติจัดตั้งกองทุน Thai ESGX) มีการสับเปลี่ยนไป Thai ESGX ประมาณร้อยละ 75 หรือราว 135,000 ล้านบาท  และสมาคมบริษัทจัดการการลงทุน (AIMC) คาดว่าจะมีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้ากองทุน Thai ESGX  ประมาณ 30,000 ล้านบาท   ดังนั้นจะส่งผลให้มีเม็ดเงินไม่ไหลออกและมีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้าตลาดทุนรวมประมาณ  165,000 ล้านบาท 

แต่หากมีการโยกเงินลงทุน LTF  เข้ากองทุน Thai ESGX  ทั้งหมด และเมื่อรวมกับเม็ดเงินใหม่ที่คาดว่าจะไหลเข้ามา 30,000 ล้านบาท  จะทำให้มีเงินไม่ไหลออกและมีเงินใหม่เข้าตลาดทุนถึง 210,000 ล้านบาท  กรณีนี้ สศค. ประเมินว่ารัฐอาจสูญเสียรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 60,000 ล้านบาท 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รายได้รัฐที่ต้องสูญเสียจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีครั้งนี้ราว 50,000-60,000 ล้านบาทตลอดระยะเวลาโครงการ 5 ปี เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่เข้ามาใหม่ และเงินที่ไม่ไหลออกจากระบบราว 165,000-210,000 ล้านบาทถือว่าคุ้ม 


ที่มาข้อมูล : กระทรวงการคลัง, ก.ล.ต.

ที่มารูปภาพ : TNN 16