เปิดโมเดล "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ลุ้นสั่งเบรคหรือได้ไปต่อ??
เปิดมาตรการรองรับรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" นำร่องเปิดประเทศ 1 ก.ค.2564 นี้ ภายใต้เงื่อนไขต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ครบ จึงจะเดินทางเข้ามาไทยได้ ล่าสุดมีความคืบหน้าอย่างไร??
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แน่นอนว่าส่งผลกระทบไปแทบจะทุกกลุ่ม ผู้ประกอบการรายได้หดหาย ประชาชนตกงาน เพราะไม่เพียงแต่การระบาดในปัจจุบันแต่ลากยาวต่อเนื่องมาตั้งแต่โควิด-19 ระบาดรอบแรก ต่อเนื่องมาจนถึงระลอกที่ 3 ซึ่งทำให้หลายธุรกิจไปต่อไม่ไหว บางรายถึงขั้นต้องปิดกิจการ
ซึ่งความหวังที่จะให้ประเทศพลิกฟื้นได้เร็วที่สุด นั่นก็คือการท่องเที่ยว ที่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะล้มลงกี่รอบ การกระตุ้นเม็ดเงินได้เร็วที่สุด ก็คือการใช้จ่ายภาคการท่องเที่ยว ซึ่งลำพังแค่การท่องเที่ยวในประเทศนั้นยังไม่เพียงพอที่จะกระจายเม็ดเงินได้ทั่วถึง การอาศัยเม็ดเงินจากต่างชาติจึงเป็นหนทางที่หลายฝ่ายมองว่าจะช่วยได้มากเหมือนครั้งที่ผ่านๆมา ดังนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้ผุดโมเดล "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ที่จะเปิดให้จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดนำร่องในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้ ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ครบโด๊ส และเมื่อเดินทางเข้ามาแล้วก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัว โดยแผนนี้วางไว้ว่าจะเริ่มดีเดย์วันที่ 1 กรกฎาคมนี้
แต่ก่อนจะเปิด ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ได้ สิ่งที่ต้องทำคือการฉีดวัคซีนให้คนในภูเก็ตให้ได้ 70% ของประชากรก่อน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ สร้างความมั่นใจให้ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผู้ให้บริการในประเทศ แผนต่างๆที่วางไว้จึงจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้
สำหรับ แผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 จังหวัดภูเก็ต แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- ประชากรที่มีทะเบียนบ้านภูเก็ต 417,000 ตัดคนอายุต่ำกว่า 18 ปี เหลือ 3 แสนกว่าคน
- แรงงานด้านการท่องเที่ยวที่ไม่มีทะเบียนบ้านภูเก็ต 5 หมื่นกว่าคน
- แรงงานแฝงที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว 7-8 พันคน
- แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนถูกต้อง 8.1 หมื่นคน
ในกลุ่มนี้ทั้งหมด 70% คือ 466,000 คน ใช้วัคซีน 933,000 โดส ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 มีผู้ลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนหรือรับการฉีดวัคซีนที่จังหวัดภูเก็ตแล้วจำนวน 132,070 ราย (ประมาณ 28%)
เป้าหมายปั้นรายได้ท่องเที่ยวให้ได้ 11,492 ล้าน
ในแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. 2564 มีแผนคือ เดือน ก.ค. เป็นการทำตลาดระยะใกล้ (สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน และญี่ปุ่น ยกเว้น จีน) 6,000 คน ประมาณการรายได้ 284.40 ล้านบาท เดือน ส.ค. 15,000 คน ประมาณการรายได้ 743.40 ล้านบาท และ ก.ย. 23,000 คน ประมาณการรายได้ 1,151.40 ล้านบาท
ส่วนตลาดระยะไกล (อังกฤษ เยอรมนี รัสเซีย อิสราเอล กลุ่มประเทศ GCC หรือกลุ่มประเทศอาหรับ 6 ประเทศ ฝรั่งเศส นอร์ดิก และอเมริกา) แผนในเดือน ก.ค.ตั้งเป้านักท่องเที่ยว 23,700 คน ประมาณการรายได้ 2,597 ล้านบาท เดือน ส.ค.อีก 32,300 คน ประมาณการรายได้ 3,539 ล้านบาท และเดือน ก.ย. 29,000 คน ประมาณการรายได้ 3,177 ล้านบาท รวมนักท่องเที่ยวทั้ง 2 กลุ่มที่คาดว่าจะเดินทางเข้าประเทศ 129,000 คน รวมรายได้ 11,492.2 ล้านบาท
บทความที่น่าสนใจ
- หมอศิริราช เปิด 5 เหตุผลสำคัญ ทำไม 'คนไทย' ควรฉีดวัคซีนโควิด
- รวมมาตรการช่วย "ลูกหนี้บัตรเครดิต" บรรเทาโควิด-19ระลอกใหม่ มีแบงก์ไหนบ้าง?
- เช็กเลย!มาตรการภาษีบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ระลอก3 มีอะไรบ้าง??
- เช็กที่นี่!มาตรการสินเชื่อ-พักหนี้แบงก์ บรรเทาผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3
ก่อนหน้านี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้มีประกาศยืนยันแผนเปิดเมืองภูเก็ต เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ในวันที่ 1 ก.ค.2564 เป็นต้นไป โดยไม่มีการกักตัวและต้องอยู่ในภูเก็ตเป็นเวลาเพียง 7 วัน ก่อนที่จะเดินทางออกนอกพื้นที่ แต่ล่าสุดมีการแจ้งว่านักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนอาจต้องอยู่บนเกาะภูเก็ตเป็นเวลา 14 วันก่อนเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในประเทศ หากแผน ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จะได้รับการอนุมัติภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว จะต้องอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 14 วันและต้องแสดงผลการตรวจ COVID-19 เป็นลบก่อนเดินทาง โดยเบื้องต้นได้วางกรอบไทม์ไลน์การเดินทางของนักท่องเที่ยวไว้ 4 ระยะด้วยกัน ได้แก่
ก่อนเดินทาง
ผู้เดินทางต่างประเทศที่ได้รับวัคซีนและบุตรหลาน จำเป็นต้องเตรียมเอกสารล่วงหน้าทั้งหมดตามลำดับสำหรับการเดินทางเข้าประเทศ ดังนี้
- ใบรับรองวัคซีนเพื่อพิสูจน์ว่าได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ครบถ้วนแล้วไม่น้อยกว่า 14 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปีก่อนวันเดินทางด้วยวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขหรือได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO)
- วีซ่า (สำหรับต่างชาติ)
- หนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (COE) ที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทย
- กรมธรรม์ประกันสุขภาพ COVID-19 ที่มีความคุ้มครองขั้นต่ำ 100,000 เหรียญสหรัฐ (สำหรับต่างชาติ)
- การยืนยันการจองโรงแรมเป็นเวลา 14 คืน
- ใบรับรองแพทย์พร้อมผลห้องปฏิบัติการ RT-PCR ระบุว่าตรวจไม่พบ COVID-19 ออกไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง
วันที่เดินทางมาถึง
- ผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร และการตรวจคัดกรอง COVID-19
- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ThailandPlus
- เช็คอินที่สถานประกอบการที่พักที่ได้รับการรับรอง SHA Plus ที่จองล่วงหน้าและพักที่นั่นไม่น้อยกว่า 14 คืน
ระหว่างการเข้าพักในภูเก็ต
- เข้ารับการทดสอบ COVID-19 โดยใช้วิธี RT-PCR หรือวิธี rapid antigen ในวันที่ 5 ที่คุณมาถึงตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข
- มีส่วนร่วมในกิจกรรมการท่องเที่ยวหรือเพลิดเพลินกับบริการในสถานที่และธุรกิจที่ได้รับการรับรอง SHA Plus ภายใต้มาตรการป้องกัน DMHTTA
- กรณีฉุกเฉินในกรณีที่มีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจหรืออาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ ณ ที่พักของท่าน หรือติดต่อโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
- เจ้าของสถานประกอบการที่พักต้องรายงานรายชื่อและสถานะของแขกต่างชาติทั้งหมดต่อผู้มีอำนาจในจังหวัดทุกวัน
สิ้นสุดการเข้าพัก
- กรณีการเดินทางจากภูเก็ตไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆของไทย ผู้เดินทางที่ได้รับการฉีดวัคซีนจะต้องแสดงใบรับรองวัคซีนและใบรับรองแพทย์ที่มีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ
- กรณีการเดินทางจากภูเก็ตไปยังประเทศอื่นๆ ผู้เดินทางควรปฏิบัติตามแนวทางและมาตรการที่ประกาศโดยประเทศปลายทางนั้น ๆ
กระทรวงท่องเที่ยวเตรียมมอร์นิเตอร์ " ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ " ก่อน 1 เดือน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) มีมติเปิด ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ วันที่ 1 ก.ค.นี้ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว โดยยืดระยะเวลาการอยู่ในจังหวัดภูเก็ต โดยไม่ต้องกักตัวจาก 7 วัน เป็น 14 วัน ถึงจะออกไปจังหวัดอื่นได้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เตรียมเข้ามาในเดือน ก.ค.นี้ลดลงไปถึง 50% จากเป้าหมาย 29,700 คน ซึ่งตนจะรอให้ทดลองไปก่อน 1 เดือน เพื่อดูผลว่ามีการติดเชื้อจากคนที่เดินทางเข้ามาหรือไม่ หากสำเร็จด้วยดีไม่มีคนติดเชื้อ จะเสนอให้พิจารณาระยะเวลาอยู่ในภูเก็ตเหลือ 7 วัน แล้วออกไปพื้นที่อื่นได้ และจะประกาศให้ทั่วโลกได้เห็นว่าภูเก็ตเป็นพื้นที่สีเขียว ที่คนมาท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาได้
ด้านภาคเอกชน แสดงความกังวลว่า การเพิ่มจำนวนวันกักตัวเป็น 14 วันนั้น อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เคยวางแผนมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเปลี่ยนใจ เพราะในเงื่อนไข นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้าภูเก็ต ต้องตรวจโควิด 3 ครั้งตลอด 14 วัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มราว 1,350 บาทต่อคน ทั้งที่ นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาก็มีการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ขณะเดียวกันยังการทำการตลาดของบริษัทท่องเที่ยวก็จะยิ่งยากขึ้น และอาจจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไม่มากนัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังถูกจำกัดให้ท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเป็นเวลาที่มากเกินไป
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (8 มิ.ย.) ที่ประชุมยังไม่ได้อนุมัติแผน "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" แต่ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรการป้องกันด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และนำกลับมาเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาอีกครั้ง
ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังน่าเป็นห่วง จำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อนโยบายการฉีดวัคซีนในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากวัคซีนอาจถูกส่งไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า หากภูเก็ตไม่สามารถจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมประชากรตามที่ภาครัฐกำหนดได้ แผนการเปิดประเทศให้ล่าช้าออกไปอีกก็เป็นได้ ซึ่งยังคงต้องลุ้นกันต่อไป