เดือนมิถุนายนยังเป็นเดือนที่ดีของทองคำหรือไม่ วิเคราะห์โดย ฮั่วเซ่งเฮง
เดือนมิถุนายนยังเป็นเดือนที่ดีของทองคำหรือไม่ วิเคราะห์โดย ธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง
GOLD BULLISH
- การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ
- ความต้องการทองคำจากจีนในปีนี้คาดเพิ่มขึ้น
GOLD BEARISH
- ธนาคารกลางสหรัฐอาจลดวงเงินมาตรการ QE
- แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว
- การกระจายวัคซีนโควิด-19 ทั่วถึงมากขึ้นในสหรัฐและจีน
เดือนพฤษภาคมทองคำให้ผลตอบแทนดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563
เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่ราคาทองคำปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และให้ผลตอบแทนดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โดยทองคำ Spot ให้ผลตอบแทน 7.74% และทองแท่งให้ผลตอบแทน 7.85% ราคาทองคำ Spot ในเดือนพฤษภาคมปรับขึ้นโดดเด่นทำจุดสูงสุดในรอบ 4 เดือนครึ่งและทะลุแนวต้าน 1,900 ดอลลาร์ได้ ปัจจัยที่หนุนราคาทองคำมีทั้งปัจจัยด้านพื้นฐานและปัจจัยทางด้านเทคนิค ปัจจัยด้านพื้นฐาน ได้แก่ เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนครึ่ง ความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อได้หลังจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐเร่งตัวสูงขึ้น Bond yield สหรัฐเริ่มเคลื่อนไหวทรงตัว อย่างไรก็ดีทองคำมีปัจจัยลบคือกรรมการเฟดส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเริ่มปรับลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากการเปิดเผยรายงานการประชุม FOMC ซึ่งเป็นการประชุมเมื่อวันที่ 27-28 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนปัจจัยทางด้านเทคนิคส่งสัญญาณทองคำเป็นขาขึ้นที่ชัดเจน หลังจากที่สามารถทะลุ 1,850 ดอลลาร์ที่เป็นเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วันได้
ผลตอบแทนรายเดือนของทองคำ
เดือน | ทอง Spot | ทองแท่ง |
ม.ค. | -2.70% | -2.23% |
ก.พ. | -6.18% | -3.43% |
มี.ค. | -1.44% | -1.38% |
เม.ย. | 3.59% | 4.40% |
พ.ค. | 7.74% | 7.74% |
ที่มา : บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด |
เดือนมิถุนายนทองคำยังเป็นเดือนที่ดีของทองคำหรือไม่
หลังจากที่ผมเกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่าราคาทองคำเพิ่มขึ้นติดต่อกันมา 2 เดือนแล้ว รวมทั้งทองคำไม่มีการย่อตัวลงแรงๆด้วยซ้ำ ทำให้มีคำถามว่าแล้วเดือนมิถุนายนทองคำยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ ก่อนที่จะตอบคำถามนี้คงต้องพิจารณากันก่อนว่ามีปัจจัยอะไรที่กระทบต่อราคาทองคำในเดือนมิถุนายน เดือนนี้ต้องบอกว่าเป็นเดือนของการประชุมธนาคารกลางชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่ตลาดจับตามองเป็นพิเศษคงเป็นการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และผมมองว่าการประชุมรอบนี้จะเป็นอีกการประชุมของปีนี้ที่ตลาดจับตามองมากที่สุด หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐเดือนเมษายนพุ่งสูงขึ้น จะมีผลให้เฟดตัดสินใจที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ รวมทั้งประเด็นเรื่องการปรับลดวงเงินในมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จะเริ่มทำเมื่อไหร่ ทั้งนี้ถ้าเฟดมีการส่งสัญญาณว่าจะเริ่มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินคาดว่าอาจจะส่งผลลบต่อราคาทองคำ ในทางตรงกันข้ามถ้าเฟดยังย้ำว่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป คาดว่าจะยังช่วยหนุนต่อราคาทองคำ ส่วนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ความต้องการเพื่อการลงทุนในส่วนทองแท่งและกองทุนอีทีเอฟทองคำเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาทองคำเช่นกัน ผมมองว่าราคาทองคำ Spot เดือนมิถุนายนอาจต้องระวังแรงเทขายทำกำไรบ้าง หลังจากที่ราคาทองคำปรับขึ้นร้อนแรงมาพอสมควร ทั้งนี้ราคาทองคำยังมีแนวโน้มปรับขึ้นได้ในช่วงที่ราคาทองคำปรับลดลง ตราบใดที่ราคาทองคำยังยืนเหนือแนวรับสำคัญ 1,840-1,850 ดอลลาร์ แต่ถ้าหลุดแนวรับดังกล่าวจะมีแนวรับถัดไปที่ 1,800-1,820 ดอลลาร์ ส่วนแนวต้านแข็งแกร่งอยู่ที่ 1,920-1,930 ดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะมีแรงเทขายทำกำไรออกมา ทั้งนี้ถ้าผ่านขึ้นไปได้จะมีแนวต้านสำคัญ 1,950-1,960 ดอลลาร์
สำหรับสัปดาห์นี้ประเด็นหลักที่คาดจะกระทบต่อราคาทองคำ ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางยุโรป คาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปยังคงตรึงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป อาจจะไม่กระทบต่อราคาทองคำมากนัก ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐเดือนพฤษภาคม ซึ่งตลาดคาดจะเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบรายปี สะท้อนให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังอยู่ในระดับที่สูง ประเด็นนี้ผมมองว่าตลาดจะให้ความสนใจและอาจทำให้ราคาทองคำผันผวนได้ สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐอื่นๆ ที่จะประกาศสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน จำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครเดือนเมษายน
สัปดาห์นี้แนวโน้มราคาทองคำคาดเคลื่อนไหวในกรอบ 1,850-1,910 ดอลลาร์ ทั้งนี้ทองคำมีแนวรับ 1,870 ดอลลาร์ และ 1,850 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,900 ดอลลาร์ และ 1,910 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 27,650 บาท และ 27,400บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 28,050 บาท และ 28,200 บาท