ไขกระดูกปลอดภัย หลังการรักษามะเร็งด้วย Cosela
องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ค้นพบ Cosela รักษาอาการที่เกิดขึ้นจากผลข้างเคียงของการทำคีโมต่อไขกระดูก ชี้อนาคตอาจถูกใช้ในการรักษาและการฟื้นฟู คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดย วิศรุต จารุอนันตพงษ์ AFPT™ Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
ในปี 2020 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงถึง 10 ล้านราย และชนิดของมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่สุดคือ โรคมะเร็งปอด (1.8 ล้านราย) และโรงมะเร็งลำไส้ใหญ่ (9.35 แสนราย) แม้ปัจจุบันจะมีวิธีการรักษาโรคมะเร็งในหลายวิธีด้วยกัน แต่การรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือ ที่เราเรียกกันติดปากว่า คีโม ยังถูกใช้เป็นวิธีการหลักในการรักษา ด้วยตัวเลขการรักษาผู้ป่วยในสหรัฐฯ กว่า 1 ล้านรายในแต่ละปีโดยการรักษาด้วยเคมีบำบัดมักจะใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งที่ลูกอัณฑะ เป็นต้น
เนื่องจากยาคีโมจะออกฤทธิ์ยับยั้งการการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งในะระยะต่างๆ โดยตรง ทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวได้และตายไปในที่สุด ซึ่งจะแตกต่างกับการรักษาด้วยวิธีอื่น อาทิ ยาต้านฮอร์โมน ที่จะออกฤทธิ์ต้านการสร้างหรือใช้ฮอร์โมนในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง หรือยาต้านมะเร็งแบบพุ่งเป้า (Targeted Therapy) ที่จะออกฤทธิ์ในการต้านการทำงานของโปรตีนในเซลล์มะเร็ง แล้วจึงมีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ในภายหลัง
อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือคีโมจะส่งผลทำลายเซลล์ต่างๆ ในร่างกายด้วยเช่นกัน จึงทำให้การรักษาด้วยวิธีนี้มักตามมาด้วยผลข้างเคียงต่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ อวัยวะสำคัญต่างๆ รวมถึงเนื้อเยื่อและเส้นขนตามร่างกาย ซึ่งอวัยวะที่สำคัญมากของร่างกายที่ได้รับผลกระทบข้างเคียงจากการทำคีโม คือ ไขกระดูก
ไขกระดูก (Bone Marrow) เป็นส่วนสำคัญในระบบน้ำเหลืองของร่างกาย ซึ่งระบบดังกล่าวมีหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างเนื้อเยื่อ หลอดเลือด และอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เพื่อไหลเวียนน้ำเหลืองไปทั่วร่างกาย รักษาความสมดุลของระบบน้ำในร่างกาย ดูดซึมไขมันและวิตามินที่ละลายในไขมัน รวมถึงปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ โดยไขกระดูก มีหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด ซึ่งการทำคีโมจะไปกดการทำงานของไขกระดูกและเกิดการผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือด หรือที่เรียกว่า Myelosuppression และจะส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง ภาวะเลือดออกง่าย และภาวะภูมิต้านทานโรคต่ำ เป็นต้น และในผู้ป่วยที่เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและเสียชีวิตได้
ความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาผลข้างเคียงนี้ ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุมัติตัวยา Cosela (Trilaciclib) ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างบริษัท G1 Therapeutics และ Boehringer Ingelheim ซึ่ง Cosela เป็นตัวยาแรกของโลกที่มีฤทธิ์ในการรักษาอาการที่เกิดขึ้นจากผลข้างเคียงของการทำคีโมต่อไขกระดูกในผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดในระยะลุกลาม หรือ Extensive-stage Small Cell Lung Cancer (ES-SCLC)
ด้วยผลการทดสอบจากกลุ่มตัวอย่างที่มีการใช้ยา Cosela ก่อนการรักษาด้วยเคมีบำบัด พบว่า Cosela สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ทางโลหิตวิทยาลงอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาหลอก (Placebo) ได้แก่ อาการนิวโทรพีเนีย (Neutropenia) 32% และ 69% อาการนิวโทรพีเนียที่เกิดจากอาการไข้ 3% และ 9% โรคโลหิตจาง 16% และ 34% ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ 18% และ 33% และภาวะลูคีเมีย 4% และ 17% ตามลำดับ
นอกจากการรักษาผลข้างเคียงที่กดทับการทำงานของไขกระดูกหลังจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดแล้ว ในอนาคต Cosela อาจถูกใช้ในการรักษาและการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ใช้การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง หรือ Immuno-Oncology (IO) ซึ่งเป็นวิธีการรักษาโดยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ต่อสู้กับเซลล์มะเร็งและมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยน้อยกว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัดจะเห็นได้ว่าตัวยา Cosela กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในขบวนการรักษามะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก
ซึ่ง Cosela จะเข้าไปมีส่วนช่วยในการลดผลข้างเคียงจากการรักษาที่ส่งผลต่อไขกระดูก เพิ่มการสร้างเม็ดเลือด ตลอดจนลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งจะส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น ช่วยฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยหลังได้รับการรักษาให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วมากขึ้น ตลอดจนช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตจากการรักษาโรคมะเร็งได้อีกด้วย
ดังนั้นการลงทุนในหุ้น biotechnology ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา โรคต่าง ๆ รวมถึงโรคร้ายแรง และการค้นพบตัวยาใหม่ ๆ จะช่วยให้หุ้นในกลุ่มเติบโตและสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต