เปิดสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีไทย ดันรถไฟความเร็วสูงเกิด(ตอน 3 )
เปิดรายละเอียด สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีไทย ปัจจัยสำคัญของการผลักดันรถไฟความเร็วสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพและยกระดับระบบโลจิสติกส์ในประเทศให้สูงขึ้น
เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาโรงการรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ที่ถูกหยิบยกมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานแรกในพื้นที่ EEC เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย อีกทั้งจะเป็นจุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ ให้คนไทยได้เรียนรู้เทคโนโลยีระบบรางความเร็วสูง สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้กับภาคธุรกิจ กระตุ้นการลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ตรงต่อเวลา เร็ว ปลอดภัย โจทย์สำคัญของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทย
จุดเด่นของรถไฟความเร็วสูง คือตรงเวลา ปลอดภัย สิ้นเปลืองพลังงานน้อยเมื่อเทียบกับขนส่งประเภทอื่นๆ กระจายความแออัดของเมืองไปสู่เมืองรอง โดยข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สศช. เปิดเผย สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP ) ในปี 2561 ต้นทุนโลจิสติกส์ไทยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,190.2 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4 ต่อ GDP ส่วนในปี 2562 มีมูลค่า 2,258.4 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4 /GDP โดยสัดส่วนการขนส่งที่ประเทศไทยเลือกใช้มากที่สุดคือ ระบบขนส่งทางถนน ร้อยละ 78.3 ส่วนระบบรางอยู่ที่ร้อยละ 1.7
ขณะที่แนวโน้มต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ในปี 2563 คาดว่าจะปรับลดลงอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 12.9-13.4 จาก สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศที่หดตัว ซึ่งแน่นอนว่าหนีไม่พ้นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลกไม่เพียงแต่ในประเทศไทย
การพัฒนา-ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศ
สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์เฉลี่ยของต่างประเทศ จากผลการสำรวจของบริษัท Armstrong & Associate ที่ปรึกษาด้านการบริการทางโลจิสติกส์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยตลาด ในปี 2561 พบว่า สัดส่วนต้นทุน โลจิสติกส์ต่อ GDP เฉลี่ยของทุกประเทศทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 10.7 โดยประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและ ยุโรปมีสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP อยู่ในระดับต่ำที่สุดที่ร้อยละ 8.4 และ 8.5 ที่ ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 12.7
และที่น่าสนใจก็คือ อันดับดัชนีประเทศตลาดเกิดใหม่ด้านโลจิสติกส์(Agility Emerging Markets Logistics Index: AEMLI) ในปี 2563 พบว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน อยู่ในอันดับ 1 ส่วนประเทศไทย อยู่อันดับที่ 9 จาก 50 ประเทศทั่วโลก และหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้าดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ ด้วยจุดเด่นทั้งเรื่องของเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัย ตรงต่อเวลา สามารถขนส่งสินค้าได้ในจำนวนมาก สิ้นเปลืองพลังงานน้อย ใช้พลังงานสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดอุบัติเหตุจากการขนส่งทางถนน เป็นต้น
นอกจากนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เมื่อเกิดขึ้นจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึง 650,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า พร้อมกันนี้บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน ผู้พัฒนาโครงการ ยังออกแบบบริการรองรับกับคนทุกกลุ่ม ทั้งผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้อย่างสะดวก
ดังนั้น รัฐบาลจึงมองเห็นโอกาสในการพัฒนาเชื่อต่อระบบขนส่งทางราง ให้มีความทันสมัย รวดเร็วเพื่อตอบโจทย์ทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินถือเป็นก้าวสำคัญที่จะยกระดับระบบโลจิสติกส์ไทยต่อยอดพัฒนาไปยังธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องในอนาคต