TNN “ระบบราง”ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ยกระดับชีวิตคนไทย (ตอน 2)

TNN

TNN Exclusive

“ระบบราง”ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ยกระดับชีวิตคนไทย (ตอน 2)

 “ระบบราง”ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ยกระดับชีวิตคนไทย (ตอน 2)

การขนส่งระบบราง นอกจากต้นทุนที่ถูก ระยะเวลาการจัดส่งที่ค่อนข้างแน่ชัดทำให้ภาครัฐเล็งเห็นโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่ รถไฟความเร็วสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับระบบโลจิสติกส์ไทย

หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับรถไฟไทย แต่อาจจะไม่ถึงกับได้ใช้บริการบ่อยหรือบางคนอาจจะไม่เคยใช้บริการเลย แต่ก็เชื่อว่าต้องรู้จักระบบขนส่งทางรางที่อยู่กับคนไทยมานาน ในทางธุรกิจหลายบริษัทก็เลือกใช้รถไฟในการขนส่งสินค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำ มีระยะเวลาการเดินทางของสินค้าที่แน่นอน ส่งสินค้าได้ในปริมาณมาก

การพัฒนาระบบรางดั้งเดิม ไปสู่ระบบรางรถไฟฟ้า

เส้นทางรถไฟไทยปัจจุบัน มีระยะทางรวม 4,346 กิโลเมตร หลังจากภาครัฐมีแนวคิดดำเนินการก่อสร้างทางคู่ เพื่อแก้ปัญหาการสับหลีกขบวนรถ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างทางคู่เพิ่มเติมในหลายเส้นทาง รวมถึงเส้นทางรถไฟสายใหม่ๆ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ตั้งเป้าปี 2580 ประเทศไทยจะมีโครงข่ายเส้นทางรถไฟ 6,463 กิโลเมตร  

ส่วนการพัฒนารถไฟฟ้าของประเทศไทยมีพัฒนาการเกือบ 20 ปีใน 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 156 กิโลเมตร โดยแผนการเกิดโครงการรถไฟฟ้า ล่าสุดมีรถไฟฟ้า 14 สาย ใน ปี 2572 ระยะทางรวม 550 กิโลเมตร จำนวน 367 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 4,762 ตารางกิโลเมตร 

 “ระบบราง”ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ยกระดับชีวิตคนไทย (ตอน 2)

รถไฟความเร็วสูง จุดเปลี่ยนการเชื่อมต่อการเดินทางและลดต้นทุนโลจิสติกส์

โครงการรถไฟความเร็วสูง นับเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับไทยที่จะขนส่งได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งตามแผนมี 4 เส้นทาง รวมระยะทาง 2,466 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มโครงการแล้วเฟสแรก 2 เส้นทาง คือกรุงเทพ –นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบรางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มาจากการที่ประเทศต้องการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจอื่นๆก็จะได้อานิสงส์ตามไปด้วย อาทิ ธุรกิจด้านท่องเที่ยว ที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดธุรกิจอื่นๆตามมาในท้องถิ่น  

สำหรับ ต้นทุนโลจิสติกส์ ในปัจจุบันประกอบด้วย การขนส่งสินค้า คลังสินค้า การรักษาสินค้าคงคลัง และการบริหาร ซึ่งต้นทุนการขนส่งสินค้ามีสัดส่วนที่สูงถึง 54% สาเหตุสำคัญเพราะไทยใช้ระบบขนส่งทางถนนเป็นหลัก โดยข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สศช.  ระบุว่า สัดส่วนการขนส่งทางถนนสูงถึง 78.3%  แม้จะมีค่าขนส่งสูง เกิดอุบัติเหตุบ่อย ขนสินค้าได้ในปริมาณจำกัด แต่จะให้หันไปใช้ขนส่งรูปแบบอื่นยังไม่สะดวกพอ ภาครัฐจึงต้องเร่งโครงสร้างพื้นฐานระบบรางให้ครอบคลุมพื้นที่ให้ได้มากที่สุด

 “ระบบราง”ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ยกระดับชีวิตคนไทย (ตอน 2)

โดยในระยะเร่งด่วนตามแผนของรัฐบาล โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง –สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ซึ่งรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการเชื่อมต่อเส้นทางการบินกับระบบราง จากพื้นที่เมืองหลวงของประเทศคือ กรุงเทพมหานครไปยังพื้นที่อุตสาหกรรม หรือ อีอีซี ที่เชื่อมการเดินทางของฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองไปด้วย ซึ่งหากภาคเอกชนหันมาใช้รถไฟฟ้าความเร็วสูงในการขนส่งสินค้า ก็จะเป็นการลดความแออัดบนท้องถนน สามารถระบุเวลาการจัดส่งสินค้าที่แน่นอนมากขึ้น เพราะหากรถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จจะสามารถทำความเร็วได้สูงสุดที่ 250 กม./ชม.เลยทีเดียว และหากต้องการเดินทางจากกรุงเทพฯไปยังระยอง ก็จะร่นระยะเวลาเหลือเพียง 60 นาที จากการเดินทางด้วยรถยนต์อาจจะใช้เวลา 2-3 ชม.

 “ระบบราง”ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ยกระดับชีวิตคนไทย (ตอน 2)

แม้เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาระบบรางเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ แต่คนในประเทศก็จะได้รับบริการด้านขนส่งที่ดีมีคุณภาพ ในราคาที่ถูกลง และยังเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพและการขยายตัวทางการค้า ส่งผลต่อยอดกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อีกด้วย 

ในตอนหน้า TNN ONLINE มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ ซึ่งเป็นที่มาว่าทำไมจึงต้องพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงนั่นเอง






ข่าวแนะนำ