TNN นักวิชาการเผย 4 แนวทางลดค่าไฟฟ้า แต่ทำไมเตือนว่า "ไม่ควรทำ" แบบนี้

TNN

TNN Exclusive

นักวิชาการเผย 4 แนวทางลดค่าไฟฟ้า แต่ทำไมเตือนว่า "ไม่ควรทำ" แบบนี้

นักวิชาการเผย 4 แนวทางลดค่าไฟฟ้า แต่ทำไมเตือนว่า ไม่ควรทำ แบบนี้

ทุบค่าไฟ ไม่ใช่จะทำกันง่าย ๆ 4 แนวทาง “ทุบค่าไฟ” ตามใจ(อดีต) นายกฯทักษิณ การลดค่าครองชีพเป็นเรื่องดี แต่ไม่ควรสร้างภาระระยะยาว

ค่าไฟเราถามว่าแพงไหม ถ้าเทียบกับบ้านใกล้เรา ถือว่าแพงค่ะ เพราะ เวียดนาม 2.69 บาท อินโดนีเซีย 2.59 เมียนมา 2.87  


แล้วทำไมไทยเราปรับลดราคาแบบเขาไม่ได้ ? 


มันเป็นเพราะ “กรรมเก่าของประเทศไทย อยากรู้ไหมว่าเพราะอะไร เดี๋ยวโอ๋อธิบายให้ฟัง  

ข้อมูลต่อไปนี้ จ๊ะโอ๋ได้มีโอกาสสัมภาษณ์เชิงลึก อ.ป๋วย  ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ : นักวิจัยด้านนโยบายพลังงาน TDRI  ที่ทำให้เราเข้าใจถึง ต้นทุนค่าไฟของประเทศไทย มาจากไหนบ้าง?  ส่วนไหนแพงที่สุด และ อะไรสิ่งที่เป็นไปได้และควรทำ กับสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ไม่ควรทำ ถ้าหากรัฐจะช่วยลดค่าครองชีพประชาชน ด้วยการ ทุบค่าไฟ  


กรรมเก่าของคนไทยคืออะไร? ที่ทำให้ค่าไฟแพง 


คนไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้ว่า ค่าไฟแพงส่วนหนึ่งมาจาก เพราะเรามีโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จเอาไว้ แล้วไม่ได้ใช้มากมาย แต่ละโรงมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่าย เรียกว่า ค่าความพร้อมจ่าย แค่ 16 ปีที่ผ่านมาเราเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปกว่า  5 แสนล้าน ที่ กฟผ. ต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง 

โรงไฟฟ้าไม่ได้ใช้ แล้วสร้างเอาไว้ทำไม?


เพราะ การคาดการณ์ การใช้ไฟฟ้าของไทย สูงเกินการใช้จริงมาตลอด และ อนุญาตให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าได้เพื่อให้ประเทศไทยมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ  แต่ reserve margin (กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง) ตามแผนของไทย คาดเอาไว้เกินถึง 30% สูงกว่าความต้องการจริงแค่ 15% 


ส่งผลให้สร้างโรงไฟฟ้าส่วนเกิน ที่ทำให้เจ้าของโรงไฟฟ้าเป็นเสือนอนกิน ถึงไม่ได้เดินเครื่อง คุณก็ไม่ขาดทุนเพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะจ่ายเงินชดเชยให้


ปี 2567 ไทยมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 7 จาก 13 เครื่องที่ไม่ได้เดินเครื่อง เสียค่าความพร้อมจ่ายแค่ปีเดียวถึง  2,500 ล้านบาท เพราะฉะนั้นนี้คือ หนี้ที่ กฟผ. ต้องจ่าย แทนประชาชน หากรัฐจะไปบีบเขา ก็ต้องดู ยอดหนี้ ที่คงค้างอยู่มากมายด้วย


“เวียดนาม คู่แข่งทางการค้าของเรา เขามีพลังงานสะอาดเยอะ แต่มีปัญหาเรื่องไฟตกดับ เขาเร่งแก้ปัญหาเสถียรภาพของไฟฟ้า ด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน และสมาร์ทกริด 
ส่วนปัญหาของไทยคือ เรารู้ปัญหา แต่เราไม่แก้ไข”


เป็นไปได้ไหมที่จะทุบค่าไฟให้เหลือ 3.70 บาท ?


เป็นไปได้ แต่ถ้าถามว่า ควรทำไหม พูดตามตรงว่า ไม่ควรทำ? เพราะมันส่งผลกระทบแน่นอนเป็นภาระในอนาคต เพราะ หนี้ กฟผ. แม้ยืดได้ แต่ยังไงก็ต้องจ่าย และมีดอกเบี้ยเสี่ยงแพงขึ้น ยังไม่นับราคาเชื้อเพลิงที่อาจสูงขึ้น จนกระทบต้นทุนพลังงานในอนาคต ลดตอนนี้ แต่ราคาอาจดีดกลับมาเป็น 6 บาทกว่าเลยก็ได้ เป็นภาระระยะยาวในอนาคต 

4 แนวทางเป็นไปได้ ในการ “ทุบค่าไฟ” ตาม (อดีต) นายกฯทักษิณ  


1.ยืดหนี้ กฟผ. ในส่วนต้นทุนจัดหาแก๊ส 1.5 หมื่นล้านบาท


- ค่าส่วนต่างเชื้อเพลิงในการซื้อไฟฟ้า 8 หมื่นล้านบาท (ก้อนนี้ยืดอยู่แล้ว)
กฟผ. รับภาระหนี้ค่าไฟแทนประชาชนล่วงหน้า จากต้นทุนส่วนต่างของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า และส่วนต่างค่าไฟ ที่เขาต้องไปซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่างๆก่อนมาจ่ายให้เรา ทำให้มีต้นทุนค่าความพร้อมจ่าย ที่โรงไฟฟ้าได้ไปเป็นเงินก้อน รวมหนี้ 2 ก้อน กฟผ. = 1แสนล้านบาท


- ต้นทุนส่วนต่างจัดหาแก๊ส 1.5 หมื่นล้าน (อันนี้ยืด ถึงจะได้ลด  23  สตางค์)

ถ้ายืดหนี้นี้ได้ จะช่วยลดค่าไฟได้  
แต่มันจะมี ดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายอยู่ดีในอนาคต 


2.ลดค่า adder (ส่วนเพิ่มของราคารับซื้อไฟฟ้าต้นทุน)


จะมีโรงไฟฟ้าส่วนหนึ่งสัญญาจะหมดปลายปี 2568  โรงไฟฟ้าแต่ละโรงจะหมดสัญญาไม่เท่ากัน ช่วยลดค่าไฟได้อีก 17 สตางค์  แต่สัญญาadder ไม่ได้หมดพร้อมกัน คิดง่ายๆถ้าอยากให้เห็นด่วน ให้หาร 4 เป็น quarter ก็จะลดได้ประมาณ 5 สตางค์ ถ้าทำทั้งหมด ลดได้ประมาณ 30 สตางค์แล้ว

ข้อ 3 - 4 ไม่แนะนำให้แตะ แต่ถ้าจะลดค่าไฟระยะสั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ

3.เรียกค่า claw  back ของ 3 การไฟฟ้ากลับคืน (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค)

4.ปรับลดงบประมาณ โครงการบางส่วนของโรงไฟฟ้า 

ค่า call back คือ 
ปกติค่าไฟของเราจะมีส่วนที่การไฟฟ้า เรียกเก็บเป็น ค่าโครงการที่จะก่อสร้างในอนาคต เอาไว้ด้วย ซึ่งยังไม่ได้สร้า แต่อยู่ในแผนการก่อสร้าง คิดเป็นรายจ่ายไปแล้ว


รัฐก็อาจต้องขอให้ชะลอการลงทุนโครงการในอนาคตเอาไว้ก่อน รวมถึงปรับลดงบประมาณโครงการโรงไฟฟ้าบางส่วนด้วย

แต่ข้อ 3 - 4 มันไม่ใช่รีดไขมัน มันเป็นการรีดกล้ามเนื้อแล้ว มันไม่ควรทำ เพราะสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดของไทย ยังจำเป็นต้องทำอีกเยอะมาก  เป็นหนทางในการพัฒนาด้านพลังงานอย่างยั่งยืน สมควรเป็นเรื่องที่ควรเดินไปข้างหน้า มากกว่ามาชะลอ เพราะจะส่งผลกระทบระยะยาว 

ข้อ  3- 4 จะช่วยลดค่าไฟเพิ่มอีกได้ถึง  15 สตางค์ หรือเปล่า?
30 + 15 = 0.45 สตางค์ 


4.15 - 0.45 = 3.70 บาท

“ไม่อยากให้ทำ เพราะถ้าทำจะเกิดผลกระทบ” กระทบยังไง? 


อันดับแรก หนี้ ยิ่งยืด ยิ่งแพง เพราะมีดอกเบี้ย เสี่ยงแพงขึ้น ยังไม่นับรวมว่าสถานการณ์ราคาพลังงานในอนาคตจะเป็นอย่างไร ราคาแก๊สเชื้อเพลิงจะแพงขึ้นไหม มันกระทบค่าใช้จ่าย กฟผ. เต็ม ๆ อาจกระทบสภาพคล่องขององค์กรได้เลย

หรือถ้าเราไปดึงโครงการที่การไฟฟ้าต่างๆเตรียมลงทุนไปแล้วกลับมา แล้วเขาจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างไร หากไทยจะสร้างพลังงานสะอาด ต้องมีระบบการไฟฟ้ารองรับที่ดีเสียก่อน 

ต้นทุนค่าไฟไทย แพงเพราะอะไร?


โครงสร้างค่าไฟไทย มีค่าใช้จ่าย  3 ส่วนหลัก ค่าระบบการผลิต, ค่าระบบการจัดส่ง, ค่าระบบสายจำหน่าย


แต่ส่วนที่ทำให้ค่าไฟแพงที่สุด คือ ค่าระบบการผลิต คิดเป็น 80% ของค่าไฟ เช่น ค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟ (ถ่านหิน LNG ผันผวนตามราคาพลังงาน ) ค่าซื้อไฟจากเอกชน ค่า adder  


สิ่งที่ทำให้ค่าไฟแพง คือ แก๊สเชื้อเพลิง LNG ราคาถูกได้มากกว่านี้ ด้วยการปรับเกณฑ์การนำเข้าเชื้อเพลิงใหม่ เพราะแม้ไทย เปิดเสรีการนำเข้าแก๊สเชื้อเพลิง ระยะที่ 2  ทำให้มีผู้เล่นเจ้าอื่นนอกจาก ปตท. แต่หลักเกณฑ์การคัดผู้เข้าประกวดราคายังไม่ยึดหลัก ถูกสุด นำเข้าได้มากสุด จึงไม่จูงใจให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาให้ถูกลงกว่านี้

หากรัฐบาลเลือกปรับเกณฑ์ส่วนนี้ใหม่ จะยิ่งช่วยให้ราคาแก๊สที่ใช้ผลิตไฟฟ้า มีราคาถูกลง ค่าไฟก็ถูกลงได้ วินวินทุกฝ่ายไม่มีใครได้รับผลกระทบ ราคาตามกลไกตลาด ไม่ได้ถูกบีบจากรัฐ ผู้นำเข้าอาจยอมกำไรลด แต่สามารถนำเข้าได้มากขึ้น ผู้ผลิตไม่ขาดทุน ประชาชนได้ใช้ไฟถูก และ รัฐบาลก็ได้ผลงาน  แต่แค่มันอาจต้องใช้เวลา  
 

ลดการจัดเก็บ ค่าเสื่อมสภาพท่อส่งแก๊ส ที่หมดอายุการใช้งานไปแล้ว 


ปกติเฉลี่ย ท่อแก๊สจะมีอายุการใช้งาน 40 ปี ต้องหักค่าเสื่อมไปเรื่อย ๆ ของไทย ท่อแก๊สที่หมดอายุ แต่ยังมีการลงทุนเพิ่มเล็กน้อย เพื่อยืดอายุการใช้งาน และยังสามารถคิดต้นทุนคงที่ได้ และซึ่งบางสินทรัพย์ไม่ควรเก็บแล้ว


แนวทางที่ถูกต้องที่รัฐบาลควรทำ เพื่อลดค่าครองชีพ ลดค่าไฟ คืออย่างไร?

- ลงทุนในพลังงานสะอาด เร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรี 
เพื่อให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมผลิตไฟฟ้าสะอาดได้ ตอนนี้ ทุกภาคส่วนต้องการพลังงานสะอาด เอกชนก็พร้อมผลิต แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะภาครัฐยังไม่เปิดสิทธิ์การขายไฟฟ้าได้โดยตรงให้กับภาคอุตสาหกรรม 


- รัฐควรเปิดระบบสายส่งไฟฟ้าให้เอกชนขนส่งไฟขายได้แล้ว
เพราะไฟฟ้า ไม่สามารถใส่กล่องพัสดุไปส่งไปให้ผู้ซื้อได้ จำเป็นต้องใช้ถนน หรือ สายส่งที่รัฐสร้างเอาไว้ ทั้ง ๆ ที่ไทยมีพลังงานแสงแดดล้นเหลือ เทคโนโลยี Solar cell ก็พร้อม คนซื้อก็พร้อม แต่ช่องทางในการจัดส่งไฟฟ้า ไม่พร้อม เพราะภาครัฐไม่เปิดให้ใช้สักที ด้วยเหตุคือ เพราะไม่รู้จะเก็บค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ คุยมาเป็น 10 ปี จนปัจจุบันเวียดนามเขาทำแล้ว  

สุดท้ายผู้เขียนมองว่า การลงทุนและดำเนินการในพลังงานสะอาด คือหนทางการแก้ไขปัญหาค่าไฟแพงอย่างแท้จริงที่รัฐควรเร่งทำที่สุด หากจริงใจแก้ไขปัญหาค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของประเทศโดยเฉพาะในเรื่องพลังงานสะอาด แถมยังสามารถลดค่าไฟฟ้า ลดค่าครองชีพให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ทำเพราะประชานิยม 

เพราะเชื่อว่าไม่มีเหตุผลที่คนไทยจะไม่ต้องการใช้ “ ไฟฟ้าพลังงานสะอาด ในราคาเป็นธรรม” และสุดท้ายมันยิ่งเป็นการเร่งการลงทุน สร้างโอกาสใหม่ๆที่ท้าทายศักยภาพประเทศไทย เพื่อให้คนไทยมีโอกาสใหม่ๆ มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ตามเจตนารมย์ที่นายกฯแพทองธาร ได้เคยกล่าวเอาไว้

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง