ราคาของคอนเทนต์ บทเรียนจากการเสียชีวิตของ 'แบงค์ เลสเตอร์'
อินฟลูเอนเซอร์หนุ่มดับปริศนาที่จันทบุรี ท่ามกลางข้อถกเถียงด้านมืดคอนเทนต์โซเชียล
ความสะเทือนใจครั้งใหม่ในวงการอินฟลูฯ เกิดขึ้นเมื่อ "แบงค์ เลสเตอร์" หรือ นายธนาคาร คันธี อินฟลูเอนเซอร์วัย 21 ปี เสียชีวิตที่งานเปิดร้านการเกษตรแห่งหนึ่งใน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ในเวลาประมาณ 03:40 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ท่ามกลางการคาดการณ์ถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่หลากหลาย
ล่าสุด เจ้าของร้านที่เกิดเหตุได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ชี้แจงกรณีกระแสข่าวเรื่องการจ้างดื่มแอลกอฮอล์แลกเงิน 30,000 บาท โดยยืนยันว่าไม่เป็นความจริง พร้อมระบุว่ามีพยานหลายคนที่สามารถยืนยันได้ และแสดงความไม่พอใจต่อการนำเสนอข่าวที่อาจสร้างความเข้าใจผิด โดยกล่าวว่า "ถามทุกคนเลย พยานเยอะแยะหมด ถามว่าใครจ้าง ไม่มีใครจ้าง แต่ไอ้คนเขียนข่าว มันเขียนเกินไป เขียนเพื่อเอายอดไลก์ เขาให้เราเสียหาย มันก็ไม่ใช่"
ย้อนกลับไปก่อนเหตุการณ์อันน่าเศร้านี้ แบงค์เริ่มต้นชีวิตเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่ขายพวงมาลัยอยู่ที่ตลาดเลียบด่วนเพื่อหาเงินเลี้ยงยาย ด้วยบุคลิกเป็นตัวของตัวเอง และมีความกล้าแสดงออก เขามักร้องแร็ปและเต้นให้ลูกค้าชมแลกกับทิปเล็กๆ น้อยๆ จนมีคนถ่ายคลิปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ทำให้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
การเข้าสู่วงการอินฟลูเอนเซอร์ของแบงค์เริ่มต้นจากความฝันอยากเป็นแร็ปเปอร์และเข้าวงการบันเทิง แต่กลับถูกกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์สายล่างนำไปสร้างคอนเทนต์ในลักษณะที่เรียกว่า "human zoo" หรือ "สวนสัตว์มนุษย์" โดยถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการต่อยมวยกับคนไม่เต็ม ถูกเผาหะมอย ถูกถอดกางเกง ถูกถ่ายคลิปอนาจาร ถูกบังคับให้กินของสกปรก โดนพ่นน้ำลายใส่ และถูกให้กินเจลหล่อลื่น หลายครั้งถึงขั้นเลือดตกยางออก
ในช่วงท้ายของชีวิต คอนเทนต์ของแบงค์เปลี่ยนไปเน้นการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ด้านหมอแล็บแพนด้าได้ให้ข้อมูลถึงอันตรายของการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอย่างรวดเร็วว่า หากระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (เทียบเท่าการดื่มเหล้า 12 แก้ว แก้วละ 2 ฝา) จะเริ่มมีอาการเดินไม่ตรง เมื่อเกิน 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะสับสน และหากเกิน 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากร่างกายไม่สามารถขับแอลกอฮอล์ออกได้ทัน
เจ้าหน้าที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง โดยต้องรอผลการชันสูตรศพอย่างละเอียด และการสอบปากคำพยานในที่เกิดเหตุเพิ่มเติม เพื่อคลี่คลายปมการเสียชีวิตครั้งนี้ ขณะที่สังคมออนไลน์เริ่มตั้งคำถามถึงจริยธรรมในการสร้างคอนเทนต์ และความรับผิดชอบของผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะประเด็นการใช้ชีวิตมนุษย์เป็นเครื่องมือสร้างความบันเทิง
การจากไปของแบงค์ เลสเตอร์ ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงด้านมืดของการสร้างคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย แต่ยังเป็นบทเรียนราคาแพงที่ชี้ให้เห็นว่าชีวิตไม่ควรถูกแลกด้วยความบันเทิงชั่วครู่ การขาดผู้ปกครองที่คอยให้คำแนะนำ ประกอบกับการถูกล่อด้วยชื่อเสียง ทำให้เด็กหนุ่มวัยเพียง 21 ปีต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า นำมาสู่การเรียกร้องให้มีมาตรการควบคุมการสร้างเนื้อหาที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและสวัสดิภาพของผู้อื่น
ข่าวแนะนำ