ฉากทัศน์ต่อไปของ "ซีเรีย" จุดเปลี่ยนสมดุลอำนาจ หรือ เข้าสู่ยุคศึกแบ่งก๊ก
การสิ้นสุดอำนาจของ “บาชาร์ อัล-อัสซาด” ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ แต่ยังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะเปลี่ยนสมดุลอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่สุดท้ายการเปลี่ยนผ่านอำนาจจะราบรื่นแค่ไหน หรือ จะเป็นการกลับเข้าสู่ความวุ่นวายจากการชิงอำนาจกันเองของเหล่าขุนศึกกลุ่มต่อต้านที่มีชาติมหาอำนาจหนุนหลัง
จุดจบของ ‘บาชาร์ อัล-อัสซาด’ ที่ถูกโค่นอำนาจ จากกลุ่มติดอาวุธฮายัด ทารีร์ อัล-ชาม หรือ HTS เข้ายึดครองกรุงดามัสกัสได้สำเร็จอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาเพียง 11 วัน ไม่ใช่แค่เพียงการเปลี่ยนผ่านอำนาจ และ สิ้นสุดระบอบการปกครองกว่า 50 ปี ของตระกูลอัสซาดเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสมดุลอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างมาก
ซีเรียสำคัญอย่างไรในภูมิภาคตะวันออกกลาง คำตอบนี้ไม่ยากหากเริ่มจากแผนที่จะเห็นภาพได้อย่างชัดเจนเพราะที่ตั้งของซีเรียมีความสำคัญในด้านภูมิรัฐศาสตร์ของตะวันออกกลาง ซีเรียอยู่ในโซนเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ มีพรมแดนทิศตะวันตกจรดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศเหนือติดกับประเทศตุรกี ทิศตะวันออกประชิดกับประเทศอิรัก ทิศตะวันตกเฉียงใต้จรดประเทศเลบานอน และ อิสราเอล ส่วนทิศใต้จรดประเทศจอร์แดน
การมีพื้นที่ชายแดนติดกับสมรภูมิสำคัญในภูมิภาค และ ของโลกทำให้สถานการณ์ภายในของซีเรียมีความซับซ้อนมากกว่าปกติ โดยกลุ่มผู้สนับสนุนของ ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด และ ประเทศที่ให้การสนับสนุนกลุ่มต่อต้านก็คือคู่ขัดแย้งในการเมืองโลกนั่นเอง
ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง ผศ. ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจภายในของซีเรียจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในสมรภูมิตะวันออกกลาง เพราะในส่วนของพันธมิตรของรัฐบาลซีเรียในยุคของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด คือ รัสเซีย อิหร่าน รวมถึงกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์
ส่วนกลุ่มต่อต้านก็มีผู้เล่นมหาอำนาจเข้ามามีอิทธิพลและสนับสนุน ได้แก่
กลุ่ม Hay’at Tahrir al-Sham หรือ HTS ได้รับการสนับสุนจากทั้งสหรัฐฯ และตุรกี
กลุ่ม Syrian National Army (SNA) ได้รับการสนับสนุนจากตุรกี
กลุ่มเคิร์ด (YPG/SDF) ได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐฯ
รวมไปถึง กลุ่ม ISIS (Islamic State of Iraq and Syria) ไม่มีการเปิดเผยผู้สนับสนุนที่แท้จริง เพราะเป็นองค์กรก่อการร้ายระดับโลก
ซีเรีย ยังถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ในการประลองกำลังกันระหว่างอิสราเอล และอิหร่าน โดยในยุคของ “บาชาร์ อัล-อัสซาด” อิหร่านใช้พื้นที่ของซีเรียในการลำเลียงอาวุธและความช่วยเหลือต่าง ๆ เข้าไปสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน
การสิ้นสุดอำนาจของ “บาชาร์ อัล-อัสซาด” จึงไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ แต่ยังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะไปเปลี่ยนสมดุลอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลาง
สำหรับอิหร่านแน่นอนว่าย่อมกระทบโดยตรงกับอิทธิพลในภูมิภาคที่เป็นลักษณะรูปจันทร์เสี้ยวของอิหร่านในภูมิภาคตะวันออกกลาง ( อิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคที่มีพันธมิตรประกอบด้วย เลบานอน ซีเรีย อิรัก เยเมน มีการเรียงตัวเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว ) โดยเฉพาะการถูกตัดเส้นทางการสนับสนุนไปยังกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ กระทบต่อรัสเซีย ที่สูญเสียพันธมมิตรทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง กระทบต่ออิสราเอล ที่แม้ว่าจะได้รับอานิสงส์ในการตัดเส้นทางสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์จากอิหร่าน แต่ก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ คือ ตุรกี ที่คาดว่จะเข้ามามีอิทธิพลในซีเรียมากขึ้น ซึ่งในระยะหลังความสัมพันธ์ระหว่าง อิสราเอล และ ตุรกี ดูจะไม่ค่อยสู้ดีนัก หลังอิสราเอลเปิดฉากโจมตีเข้าไปในเขตฉนวนกาซ่าอย่างหนัก
ขณะที่ในส่วนของสหรัฐฯ ซึ่งในยุคของ “โดนัลด์ ทรัมป์” แม้จะประกาศว่าไม่ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ในซีเรีย แต่ก็ให้การสนับสนุนกับกลุ่มเคิร์ด ซึ่งมีฐานที่มั่นทางตอนใต้ของตุรกี และ อาจไม่พอใจกับการแผ่อิทธิพลเข้าไปในซีเรียของตุรกี ซึ่งในอนาคตอาจจะทำให้เพิ่มชนวนความขัดแย้งระหว่างตุรกี กับ สหรัฐอเมริกา
โดยความเปราะบางของสถานการณ์ดังกล่าวสังเกตได้จากท่าทีของอิสราเอล และ สหรัฐฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในซีเรีย พร้อมประกาศว่ากำลังจับตาสถานการณ์ในซีเรียอย่างใกล้ชิด
แม้การเปลี่ยนผ่านอำนาจในซีเรียจะส่งผลกระทบต่อประเทศมหาอำนาจที่หวังจะเข้ามามีบทบาทในซีเรียหลังยุคของ “บาชาร์ อัล-อัสซาด” สิ้นสุดลง แต่หากมองดูสถานการณ์ในประเทศก็มีความเปราะบางไม่ต่างกัน แม้การเข้าไปยึดอำนาจของกลุ่มต่อต้านจะสามารถทำได้รวดเร็วภายใน 11 วัน แต่การจัดสรรอำนาจภายในอาจยาวนาน และ ไม่สามารถประเมินได้ ซึ่งสิ่งที่น่ากังวล คือ กรณีของซีเรียที่กลุ่มต่อต้านประกอบไปด้วยกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม จึงอาจมีการแย่งชิงอำนาจภายใน หากในช่วงเปลี่ยนผ่านกลุ่มต่าง ๆ ไม่สามาถพูดคุย หรือ มีคนกลางที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เข้ามาช่วยจัดสรรอำนาจ
สุดท้ายการโค่นอำนาจ “บาชาร์ อัล-อัสซาด” อาจนำไปสู่ ภาวะชิงอำนาจกันเอง จนนำไปสู่การแบ่งเขตปกครอง เป็นระบบการปกครองแบบขุนศึก เหมือนกับสถานการณ์ของอัฟกานิสถานใน ปี 1994 ที่มีการแย่งชิงอำนาจภายในหลังกลุ่มมูจาฮีดิน หลังขับไล่โซเวียตสำเร็จ
สถานการณ์ในซีเรียจึงยิ่งน่าจับตา เพราะแม้จะใช้เวลาเพียง 11 วันในการโค่นอำนาจเก่า แต่ความสงบสุข และ สันติภาพในซีเรียอาจจะไม่ยุติในเร็ววันนี้
เรียบเรียงโดย วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ รองบรรณาธิการ TNNOnline
ข่าวแนะนำ