ย้อนรอยคดี "แอม ไซยาไนด์" จากจุดเริ่มต้นถึงคำพิพากษา
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" คดีวางยาฆ่า "ก้อย" อดีตสามีและทนายร่วมรับโทษ ปิดฉากคดีสะเทือนขวัญ สืบพยานกว่า 900 ปาก ใช้หลักฐานมัดแน่น!
การคลี่คลายคดีที่สร้างความสะเทือนขวัญเริ่มต้นจากเหตุการณ์วันที่ 14 เมษายน 2566 เมื่อ น.ส.ศิริพร ขันวงษ์ หรือ "ก้อย" อายุ 32 ปี หายตัวไปหลังไปทำบุญและปล่อยปลาที่บริเวณริมแม่น้ำแม่กลอง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ครอบครัวพยายามตามหาทุกช่องทาง จนกระทั่งพบการเสียชีวิตของเธอที่ริมท่าน้ำในเวลาต่อมา
ในวันที่ 15-16 เมษายน 2566 ครอบครัวของผู้เสียชีวิตพบว่าทรัพย์สินหลายรายการหายไป ทั้งรถยนต์ กระเป๋าแบรนด์เนมมูลค่าประมาณ 40,000 บาท และโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง นำไปสู่การตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่พบภาพผู้เสียชีวิตเดินทางไปกับหญิงสาวเสื้อสีขาว
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม นางสรารัตน์ รังสิตวุฒาภรณ์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และในวันถัดมา (26 เมษายน 2566) ได้นำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา โดยผู้ต้องหาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา
วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีการแถลงสรุปคดี พร้อมดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ รวมกว่า 75 ข้อหา ประกอบด้วย พยายามฆ่าผู้อื่น ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ชิงทรัพย์โดยเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และปลอมปนอาหาร
ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 พนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหากับพวกต่อศาลอาญา การพิจารณาคดีใช้เวลากว่าหนึ่งปี มีการสืบพยานและรวบรวมหลักฐานอย่างละเอียด โดยในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในคดี และทั้งสามจำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา
วันที่ 17 กันยายน 2567 ศาลมีนัดสืบพยานฝ่ายจำเลย แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธที่จะเบิกความ ทำให้ศาลต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์เป็นหลัก
เปิดคำพิพากษาคดี "แอม ไซยาไนด์" จากพยานหลักฐานสู่โทษประหารชีวิต
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 เวลา 12.30 น. ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดี "แอม ไซยาไนด์" โดยองค์คณะผู้พิพากษา 4 ท่าน ใช้เวลาพิจารณาพยานหลักฐานนานกว่า 3 ชั่วโมง ก่อนจะมีคำพิพากษาประหารชีวิตจำเลยที่ 1 จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
จากการพิจารณาพยานหลักฐาน ศาลพบว่าในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 5 พฤษภาคม 2566 จำเลยที่ 1 มีเงินหมุนเวียนในบัญชีมากกว่า 95 ล้านบาท และมีการเชื่อมโยงกับบัญชีม้าอีก 10 บัญชีที่เกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ โดยเฉพาะในปี 2564-2565 จำเลยที่ 1 เสียเงินให้กับพนันออนไลน์จำนวนมาก ซึ่งสัมพันธ์กับช่วงที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ในส่วนของพยานหลักฐานการวางยา มีผู้เสียหายที่รอดชีวิตให้การว่าถูกหลอกลวงให้ดื่มน้ำและรับประทานยาเม็ดแคปซูลที่มีสารพิษ นอกจากนี้ยังพบสารไซยาไนด์ซ่อนอยู่ในรถยนต์ของผู้ตายหลายจุด และพบว่าจำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อไซยาไนด์อย่างเร่งรีบ ทั้งที่ไม่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับสารเคมี
คดีนี้ยังพบการพยายามทำลายหลักฐาน โดยจำเลยที่ 2 นำกระเป๋าของกลางไปส่งให้จำเลยที่ 1 แทนที่จะส่งมอบให้พนักงานสอบสวน ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะทนายความ ได้ยุยงให้จำเลยที่ 1 ปกปิดของกลาง พร้อมส่งตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ชนะคดีโดยไม่มีของกลาง
ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 2,343,588 บาท โดยคดีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญ เนื่องจากศาลได้นำพยานจากคดีอื่นมาประกอบการพิจารณาด้วย และจะมีผลต่อการพิจารณาคดีที่เหลืออีก 14 คดีที่เกี่ยวข้องกับจำเลย ซึ่งพนักงานอัยการจะนำสำนวนมามอบให้ศาลในเร็วๆ นี้
คดีนี้นับเป็นหนึ่งในคดีสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของกระบวนการสืบสวนสอบสวนของไทย โดยมีการสอบปากคำพยานกว่า 900 ปาก รวบรวมเอกสารเกี่ยวกับคดีถึง 26,500 แผ่น และใช้ทั้งหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ พยานแวดล้อม และการสืบสวนทางการเงิน เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ภาพ Freepik
ข่าวแนะนำ