ความทุกข์ (ใน) ใจ ชาวอยุธยา เมื่อบ้านต้องรับน้ำแทนคนกรุงมาหลายร้อยปี
เปิดใจคุยกับชาวบ้าน ต.วัดตะกู อ.บางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่บ้านพวกเขาต้องกลายเป็นพื้นที่รับน้ำทุกๆช่วง ก.ค. - พ.ย. โดยมี พี่นุ้น ตัวแทนชาวบ้าน มาบอกเล่าเรื่องราวในใจที่คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ เพราะเข้าใจว่า อยุธยาน้ำท่วมเป็นปกติ หรือแท้จริงบางสิ่งได้เปลี่ยนไปแล้วจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และมีอะไรที่พอแบ่งเบาความทุกข์ หรือสะท้อนให้พวกเขาได้บ้างไหม? จ๊ะโอ๋พาทุกคนมาพูดคุยใน TNN Story Teller Exclusive ค่ะ
Exclusive by จ๊ะโอ๋-ณัฏฐ์อาภา ผ่องทิพาภรณ์
เพราะบ้านคือวิมานของเรา มันควรจะเป็นพื้นที่ที่เราอยู่อาศัยได้อย่างสบายและปลอดภัยที่สุด
แต่นั่นอาจจะไม่ใช่ของพี่น้อง อ.ผักไห่ เสนา และ บางบาล จ.อยุธยา ที่ทุก ๆ ปี ปีละ 1- 3 เดือน บ้านพวกเขาต้องถูกเปลี่ยนสภาพให้เป็นพื้นที่รับน้ำท่วม แทนจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญอย่างกรุงเทพมหานคร
แน่นอนคนนอกอย่างพวกเราอาจมองว่าก็ปกตินี่ ที่อยุธยาน้ำท่วมทุกปีอยู่แล้ว มันก็คงใช่ แต่ให้เราลองไปอยู่ในบ้านที่น้ำท่วมแค่ 1 วัน มันน่าจะใช้ชีวิตอย่างลำบากและคงไม่สบายหรอก และนี่พวกเขาต้องอยู่กับน้ำท่วมมาแทบตลอดทั้งชีวิต ด้วยการมัดมือชกว่าอยุธยาต้องรับน้ำ แต่ชาวบ้านจริง ๆ เขามีอะไรในใจที่ยังไม่เคยบอกพวกเราบ้างไหม หรือเราเคยถามพวกเขา บ้างหรือเปล่า ?
วันก่อนโอ๋มีโอกาสได้เห็นโพสต์ของเพจ อยุธยาสเตชั่น ที่ได้สะท้อนบอกเล่าถึงความรู้สึกและความเดือดร้อนของชาวอยุธยา เมื่อบ้านต้องกลายเป็นพื้นที่รับน้ำให้ตลอด แต่การบริหารจัดการน้ำ และ การเยียวยา มันไม่สมเหตุสมผลเลย วันนี้โอ๋เลยมาลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านที่ ต.วัดตะกู อ.บางบาล จ.อยุธยา เพื่อฟังความทุกข์ใจของพวกเขาพร้อม ๆ กัน ผ่านการพูดคุยกับ นุ้ย-ภานุพงษ์ บุญกิจ ชาวบ้าน ต.วัดตะกู
ปีนี้น้ำท่วมมานานหรือยัง?
ท่วมรอบ 2 แล้ว รอบล่าสุดน้ำขังอยู่แบบนี้อาทิตย์กว่า ๆ แล้ว เพราะหมู่บ้านเราเป็นแอ่งท้องกะทะที่ลึก น้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นแล้ว และก็เริ่มมียุงแล้ว เพราะมันไม่ระบายไปไหน
สูงสุดตอนนี้ 1.70 เมตร แต่สูงขนาดนี้ชาวบ้านยังไม่ค่อยเดือดร้อน แต่ถ้าท่วมถนนจะลำบากมาก จุดนี้ลำบากสุด น้ำลงลงทีหลัง ท่วมก็ท่วมก่อนใคร ปกติน้ำจะท่วมเริ่มมา ก.ค. ถ้าฝนเยอะจะปล่อยไว กระทบไว น้ำจะขึ้น ๆ ลง ๆ ปีละหลายครั้ง ท่วมและลด
ระดับน้ำปีนี้ถือว่าปกติไหม?
ปีนี้ปกติ ปลายเดือน ส.ค. ซึ่งเดี๋ยวน้ำจะสูงกว่านี้ มีโอกาส 3 เมตร เหมือนปี 65 ถนนไปหมดเลย มิดหัว ทุกคนเดือดร้อน ต้องเรืออย่างเดียว ตื่นเช้าพายเรือออกไป บ้านไหนมีคนแก่ก็ลำบาก
ปีนี้ยังไม่ถือว่าปลอดภัย เพราะยังไม่รู้ว่าฝนทางเหนือมาเยอะหรือมาน้อย เขาก็ต้องเฝ้าระวัง รอฟังจากเขื่อนขัยนาถ ว่าปีนี้จะปล่อยน้ำเท่าไหร่ ซึ่งมันแล้วแต่ปริมาณฝนทางเหนือ และ เขาปล่อยน้ำเข้าทุ่งไหม บางที ปล่อย 2,000 ลบ.ม. ต่อวินาทีตรงนี้ก็ไม่รอด บางบาล ผักไห่ เสนา ตรงนี้เฝ้าระวังและ ซึ่งตอนนี้ (6 ก.ย. 67) ปล่อยที่ 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที
น้ำท่วมหนักสุดคือปีอะไร?
ปี 65 สาหัสเลยท่วมหมด บ้านเรือนเสียหายกันเยอะ บนถนนที่เราเดินสูง เมตร 50 ข้างล่างลุ่มต่ำก็คือเกิน 3 เมตร อันนั้นจากเขื่อนปล่อยน้ำมา 2,000 กว่า
แล้วเราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางน้ำท่วมกันยังไง?
เราต้องทนอยู่ เราเกิดที่นี่ เราจะไปไหนได้ เราก็ต้องอยู่ให้ได้ หนุนให้สูงแล้วอยู่กันไป เพราะปู่ย่าตายายเขายังผ่านมาได้เลย แต่พูดตรง ๆ สมัยก่อนมันก็ไม่ท่วมสูงขนาดนี้ สมัยนี้ถ้าท่วมสูงมิดถนนบางที ก็คือหนักเลย การสัญจรต้องใช้เรือเท่านั้น ชาวบ้านมีเรือกัน แต่ก็มีบางหลังที่เรือเสียก็จะลำบากหน่อย ต้องคอยไปรับไปส่งกัน หรือ พายไป วิดน้ำไป เพื่อไม่ให้มันจม บางบ้านไม่มีเงินเลย รอกินแต่ของยังชีพเลย เพราะส่วนใหญ่ รับจ้างงานเล็ก ๆ ตามบ้านกัน พอน้ำท่วมก็ไม่มีคนจ้าง ก็ขาดรายได้ คือถ้าท่วมเยอะ ถุงยังชีพเนี่ยจำเป็นมาก ๆ เลย
แล้วถ้าไม่มีของยังชีพมาแจกอ่ะ?
ก็ตัวใครตัวมันตามมีตามเกิด แต่ก็ต้องเอาตัวรอดให้ได้ เราก็ต้องเตรียมความพร้อม เพราะเราอยู่แบบนี้มาตลอด แม้ลำบากแต่ต้องอยู่ให้ได้ ก็ถ้ายังไม่หนัก เราก็จะไปตลาด ซื้อของมาตุนไว้เยอะ ๆ บางปีน้ำรอบหมู่บ้านหมด เหมือนอยู่เกาะเลยก็มี
เดี๋ยวนะ โอ๋สงสัยมาก ขับถ่ายยังไง?
เอาแบบไม่หยาบเลยนะ ก็ปล่อยไหลตามน้ำไปเลย เพราะห้องน้ำเข้าไม่ได้ละ ราดก็ไม่ลง ให้น้ำไหลพัดออกไปเลย แต่บางบ้านก็ออกไปข้างนอก เขามีห้องน้ำบริจาค แต่ถามว่าบางที เวลาเราปวดหนัก ๆ ใครจะมาพายเรือออกไปถนน กว่าจะถึง หรือเวลาเราท้องเสียมาเนี่ย มันจะทันหรอ
เพราะที่โอ๋ถามเพราะเราคนนอกก็มักมองว่า น้ำท่วมแปป ๆ เดี๋ยวก็ลงเขาอยู่กันได้ชิน
แต่เอาจริง ๆ การใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่น้ำท่วม แค่วันเดียว มันใช้ชีวิตลำบากนะ
ปัจจัย 4 การขับถ่าย เรื่องสำคัญเพราะเราต้องถ่าย ต้องเข้าห้องน้ำทุกวันเลย
ใช่ ไหนจะเรื่องอาหารการกิน เรื่องไฟฟ้าอีก พายเรือไป บางทีเป็นเรือเหล็ก เราก็ไม่รู้ตรงไหนไฟรั่วบ้าง มันเกิดชำรุดตอนน้ำท่วมขึ้นมาและคนพายเรือไปพอดี เนี่ยเกิดอันตราย ยังดีที่ไฟยังติด ถ้าท่วมสูงเราก็ไปแจ้งเขาไปยกหม้อแปลงได้
เคยมีคนถึงกับต้องเสียชีวิตเพราะน้ำท่วมไหม?
มีทั้งคนป่วยและคนเสียชีวิต คนแก่หลงเดินตกน้ำลงไปเลยก็มี เพราะบางบ้านลูกหลานไป ทำงาน กทม.หมด มีคนแก่อยู่บ้านคนเดียว ไหนจะเก็บของ ไหนจะหาอะไรกิน พวกเราก็ดูแลกันไม่ไหวทั้งหมดหรอก บางบ้านแก่ ๆ แกหลงก็เดินลงน้ำไปเลย หรือ ปี 65 มีผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในหมู่บ้าน ฝนก็ตก อาการก็แย่ต้องพายเรือ ห่อผ้า เอาไปขึ้นรถไปโรงพยาบาล ต้องพายเรืออย่างเดียวทุลักทุเลไปหมด กว่าจะถึง ลำบากมาก ๆ
แล้วพี่นุ้ยอยู่ที่นี่ตั้งแต่เกิดเลยไหม รู้ตัวตอนไหนว่า บ้านเรา คือ พื้นที่รับน้ำ
อยู่นี่มาตั้งแต่เกิดเลย ก็มาเริ่มรู้ก็ช่วง 10 กว่าขวบ ที่น้ำมันท่วม แต่มันท่วมไม่มาก ครึ่งเสาบ้านเอง ตอนนั้นของแจกไม่ต้องเข้าก็ได้ตอนนั้น เพราะขับรถได้ น้ำไม่สูง ชาวบ้านก็ยังออกไปทำงานได้ ซื้อของได้ แม้ท่วมเป็นเดือน ก็ยังอยู่กันได้
แล้วตอนนี้เป็นยังไง?
น้ำมาเยอะขึ้น สูงขึ้น แต่น่าจะมีหนทางที่ระบายไปทางอื่นบ้างเพื่อช่วยชาวบ้าน ที่ละนิดละหน่อยก็ยังดีไม่ต้องมากหรอก แค่ให้ชาวบ้านอยู่ได้ ไม่ท่วมถนน เขาสัญจรไปทำงานได้ ก็โอเคแล้ว
หลังจากน้ำท่วมไปแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง?
ไม้กระดาน พอน้ำท่วมนานมันก็จะผุ เพราะบ้านเราเป็นไม้หมดยังไงก็บวม โก่ง ผุ บางทีน้ำมาแรง พัดฝาหลุด ไม้หลุดบ้าง สีถลอก บ้านทรุด เพราะน้ำมันมาแช่นาน หรือ น้ำแรงมันซัด หลายๆปีเข้า ดินมันก็อ่อนตัว น้ำมันก็ทำเสาโยก และมันไม่ได้ทรุดทีเดียว บ้านจะค่อยๆทรุดลงไปเรื่อยๆ ไหนจะขาดรายได้อีก
และการที่เราต้องยอมรับน้ำแทนพื้นที่อื่นๆทุกปี การเยียวยาเป็นอย่างไร?
มันได้ไม่คุ้มเสียหรอก แม้การเยียวยาก็มีทุกปี ให้เราส่งเอกสารไป ให้เราถ่ายรูป แต่บางปีส่งไปครบ บางปีก็ไม่ได้เงินก็มีนะ ไม่รู้ทำไม หลักเกณฑ์คือ ของเสียหาย จะได้เงินต้องถูกน้ำซัดหลุดหายไปเลยนะ ถ้ายังคาอยู่ไม่ได้ ไม้อัดลอกได้ แต่ถ้าเป็นไม้จริง ไม่ได้ เราเอาตะปูไปตีได้ ทีวี ตู้เย็น โดนน้ำ ไม่เยียวยานะ เพราะถือว่ายกหนีได้ ที่นอนเปียกน้ำไม่ได้ เพราะถือว่ายกหนีได้
เยอะสุดที่เราเคยได้รับการเยียวยามาคือเท่าไหร่?
ได้จากปีที่อดีตนายกฯท่านหนึ่ง คือ หลักหมื่นบาท แต่ไม่คุ้มหรอกที่บ้านเราเสียหาย ไม้กระดาน แผ่นเท่าไหร่ บันไดอันละเท่าไหร่ ซื้อใหม่เป็นหมื่น ถ้าพื้นเราพัง บันไดเราหาย ได้เงินหมื่นเดียว ยังไงเราก็ต้องควัก ตะปูให้โลละ 40 บาท แต่ชาวบ้านไปซื้อโลละ 80 ผมเคยถามเขานะว่า พี่ซื้อที่ไหนเนี่ย ตะปูโลละ 40 บาท ผมจะได้พาชาวบ้านไปซื้อบ้าง เขาก็เงียบ เดินหนี เสาต้นละ 200 ถามว่าไปซื้อที่ไหน ไม่มีหรอก แล้วเสาปูนมันจะไปซ่อมแซมยังไงได้ไหม ไม่ได้เราก็ต้องเปลี่ยน ต้นละเป็น 1000 เขาให้ต้นละ 200 กว่าบาท
เรารู้สึกยังไงเมื่อบ้านของเรา ต้องกลายเป็นพื้นที่รับน้ำ เพื่อป้องกันกรุงเทพ หรือ พื้นที่อื่นๆ?
พูดถึงมันก็น้อยใจเหมือนกันนะ ว่าเราเป็นพื้นที่รับน้ำ อะไรก็ต้องมาหาเรา อะไรก็ต้องมาหาเราตรงอื่นเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ แต่คือว่าเราระบายเข้าทุ่งไปบ้าง อะไรบ้าง ทุ่งทำนาเรามีเยอะนะ
ระบายไป ทุ่งละเมตรหรือ 80 เซนเงี้ย มันก็จะช่วยชาวบ้านได้บ้าง เราก็จะอยู่กันได้
เพราะตอนนี้ไม่ใช่ทุกพื้นที่ในอยุธยาที่น้ำจะท่วม
แล้วถ้าเลือกได้ เรายังอยากจะอยู่ในพื้นที่รับน้ำไหม?
เราก็ต้องอยู่นะ เพราะเราเกิดตรงนี้ ปู่ย่าตายายเราเขาโตมาอยู่ตรงนี้แต่น้ำมันไม่ได้ท่วมสูงขนาดนี้ ยังไงเราก็ต้องอยู่ เราต้องสู้ไป
แสดงว่าเราโอเคกับการเป็นพื้นที่รับน้ำหรอ?
ใช่เพราะเราใช้ชีวิตได้ แต่ไม่ใช่จะปล่อยให้ท่วมสูงจนมิดถนน มันลำบากเกินไป ซึ่งมันเริ่มเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ปี 38 54 น้ำเยอะ แต่ 65 น้ำน้อยแต่ท่วมเยอะกว่า 54 เพราะน้ำไปไหนไม่ได้ เขาปิดหมด นั่นก็เศรษฐกิจ นี่ก็เศรษฐกิจ ในอยุธยาบางพื้นที่ก็ไม่ท่วม มันจะท่วมเฉพาะ เสนา ผักไห่ บางบาล
ถ้าวันนี้เราพูดกับทางภาครัฐได้ ในฐานะที่เราช่วยรับน้ำให้แทนกรุงเทพทุกปี เราอยากให้เขาช่วยอะไร?
ชาวบ้านนะ ไม่ขออะไรมาก แค่ขอให้ช่วยระบายน้ำเข้าทุ่ง ชาวบ้านจะได้สัญจรไปมาได้ เขาไม่เดือดร้อน อะไรเลย ให้ระบายน้ำเข้าทุ่งบ้าง เงินเขาไม่อยากได้หรอก เงินได้มาแป๊ปเดียวก็หมด แต่เขาสัญจรไปทำงานได้ มันได้มากกว่าที่ภาครัฐจะให้
แสดงว่าเรายอมรับน้ำต่อไป
ยอมรับครับ แต่ให้ท่วมครึ่งเสาบ้านพอ แล้วระบายเข้าทุ่งไปเลย ทุ่งละเมตรถึง 80 เซน
ถ้าทำแบบนี้ถามว่า อยุธยาเรามีกี่ทุ่ง มันก็จะช่วยแบ่งเบาภาระหนักให้กับพวกเราตอนนี้
ก็รออยู่ชลประทานเขาบอกว่าหลัง 15 ก.ย. เขาจะระบายน้ำเข้าทุ่งให้
ถ้าพี่ไม่เป็นไข้เลือดออกกันก่อน?
ใช่ครับ มีเด็กคนแก่ ถ้าไข้เลือดออกลำบากเลย ถ้าระบายน้ำเข้าทุ่งน้ำตรงนี้จะลง เอาน้ำเสียออกไป และน้ำแม่น้ำใหม่มันก็จะมา มันก็จะช่วยได้เยอะเลย นำ้เสียจะออกไป และ น้ำจะไม่สูง
สรุปคือ คำตอบที่โอ๋ได้รับค่อนข้างช็อกโอ๋เหมือนกันนะ ไม่คิดว่าชาวบ้านเอง เขาเต็มใจรับน้ำท่วมแทนพวกเราชาวกรุงขนาดนี้ ซึ่งสิ่งที่พวกเขาร้องขอ ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า การขยายพื้นที่รับน้ำในส่วนที่เป็นทุ่งที่เหลือ ในจังหวัดอยุธยาได้ไหม เพื่อบรรเทาทุกข์ ในพื้นที่ที่ท่วมก่อนและลงทีหลัง และเพื่อเหลือถนนหนทาง ให้พวกเขา ยังพอใช้ชีวิตสัญจร ไปทำมาหากิน หาอาหารเลี้ยงครอบครัวได้ รวมถึงการเยียวยา ก็ควรจะสมเหตุสมผล มากกว่านี้หรือไม่? เพราะไม่ว่ายังไง บ้านที่น้ำท่วมก็เกิดความเสียหายอยู่แล้ว ทั้งต่อทรัพย์สิน และ ค่าเสียเวลาที่พวกเขาควรได้รับ
ยังมีสิ่งของที่พวกเขาต้องการ เพื่อรับน้ำท่วมในรอบนี้อีกมาก ทั้งเรือพลาสติก อาหารแห้ง และ น้ำดื่ม ใครที่สนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาทุกข์ ติดต่อได้ที่เพจ อยุธยาสเตชั่น
ทาง TNN online ของเรา ขอเป็นเสียงเล็ก ๆ ในการสะท้อน ความทุกข์ใจและความเดือดร้อนของชาวบ้าน ที่ต้องรับน้ำแทนชาวกรุงในทุก ๆ ปี
ข่าวแนะนำ