TNN ทำไมผู้หญิงวัยทำงาน เป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์

TNN

TNN Exclusive

ทำไมผู้หญิงวัยทำงาน เป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์

ทำไมผู้หญิงวัยทำงาน เป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์

ผู้หญิงวัยทำงาน มักชอบที่จะซื้อสินค้าออนไลน์อยู่เป็นประจำ ซึ่งกลุ่มอาชญากรไซเบอร์เห็นถึงช่องโอกาสดังกล่าว จึงได้ออกแบบหลุมพรางที่น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของเหยื่อทั้งการโฆษณา กิจกรรมทางการตลาดออนไลน์ เพื่อดึงดูดเหยื่อเข้าสู่กับดัก

หญิงวัยทำงานตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์ จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่ากว่าร้อยละ 64 ของเหยื่อจากคดีอาชญากรรมไซเบอร์ คือ เพศหญิง   

โดยเฉพาะเพศหญิงในช่วงวัยทำงาน

ในมุมของนักวิชาการไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้หญิงจะตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์ เพราะการเลือกเหยื่อของอาชญากรมักเจาะไปที่กลุ่มคนที่มีการสั่นไหวต่อการชักจูงได้ง่ายที่สุด 

ซึ่งหากไปดูในรายละเอียดที่ลึกขึ้นในเชิงสถิติก็พบว่าช่วงวัยที่ตกเป็นเป้ากลุ่มใหญ่ที่สุด มี 3 ช่วงวัย คือ อายุ 30 - 44 ปี  ร้อยละ 41.51  รองลงมากลุ่มอายุ 22 - 29 ปี : ร้อยละ 25.33  และ กลุ่มอายุ 45 - 59 ปี ร้อยละ 19.62  จากสถิติเหล่านี้หากอธิบายโดยสรุปก็คือ ผู้หญิงในวัย 22 -59 หรือ ผู้หญิงในวัยทำงานตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์ และ เป็นกลุ่มที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น 

จากการวิเคราะห์ของนักอาชญาวิทยา นายวรภัทร พึ่งพงศ์  นักอาชญาวิทยาอิสระ และอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พบว่าผู้หญิงวัยทำงานมักมีพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์บ่อยครั้ง และ มักสนใจกับสินค้าที่ตรงใจ โดยเฉพาะสินค้าที่มีการลดราคา หรือ มีการทำการตลาดที่ดี จึงไม่แปลกที่อาชญากรยุคใหม่จะผสานเทคนิคการตลาด ที่ผสมคำโกหก หลอกลวง ออกมาเป็นเหยื่อล่อเพื่อให้เหยื่อตกหลุมพราง 

"ผู้หญิงวัยทำงานมีจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรไซเบอร์เป็นส่วนใหญ่ก็เพราะเพศสภาพหญิงค่อนข้างจะกระทบต่อสิ่งเร้าได้ง่าย เมื่อคนกลุ่มนี้เจอกับข้อมูลทางการตลาด เช่น คำโปรยโฆษณาที่ดึงดูดใจ หรือ โปรโมชั่นพิเศษของสินค้าที่นำเสนอบนช่องทางออนไลน์ก็มักจะเกิดการสั่นไหวต่อสิ่งเร้านั้นได้ง่าย 

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าบริบทของสังคมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องวัตถุมากขึ้น ดีงคำฮิตติดหูของบรรดา นักช็อปปิ้ง หรือ อินฟลูเอนเซอร์ที่ระบุว่า “ของมันต้องมี” หรือ “ของมันต้องโดน” จึงกลายเป็นช่องโอกาสสำคัญให้กกลุ่มอาชญากรที่มีการพัฒนา และ ปรับตัวเอง ได้สังเกตเห็นว่ามันมีช่องโอกาสที่จะสามารถหาเหยื่อได้ง่ายจากคนกลุ่มนี้ " นักอาชญาวิทยา อธิบาย

แม้ในยุคนี้จะมีการเผยแพร่พฤติการณ์คนร้าย และ รูปแบบการหลอกลวงออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ แต่ชุดความรู้ดังกล่าวไม่ต่างกับดาบสองคมที่คนร้ายจะนำข้อมูลไปปรับรูปแบบการก่ออาชญากรรมให้มีความแยบยลมากขึ้น  หรือ พูดง่ายๆว่าชุดข้อมูลความรู้ภัยออนไลน์ ก็อาจช่วยให้คนร้ายบางกลุ่มมีแต้มต่อมากขึ้น

นักอาชญาวิทยามองว่า การป้องกันภัยออนไลน์เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่แบ่งเพศ และ ช่วงวัย เพียงแต่ทุกคนที่ไม่อยากตกเป็นเหยื่อจำเป็นต้องมีสติ และ ความรอบคอบในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ ขณะที่ภาครัฐต้องมีมาตรการเชิงรุก หรือ เน้นการป้องกัน มากกว่าปราบปราม ที่สำคัญต้องสรรหาวิธีไม่ให้อาชญากรก่อเหตุได้ลำบากให้มากที่สุด 

“การนำเสนอข้อมูล รูปแบบ กระบวนการ และ พฤติการณ์ของคนร้าย บางครั้งก็กลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้ฝ่ายอาชญากรรับรู้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บังคับใช้กฎหมายกำลังมองจุดไหน หรือ เฝ้าระวังในจุดไหนอยู่ คนร้ายก็สามารถนำข้อมูลไปเป็นสารตั้งต้นในการพัฒนา ปรับรูปแบบเพื่อก่ออาชญากรรมให้แยบยลมากยิ่งขึ้น 

ดังนั้นการป้องกันอาชญากรรมในปัจจุบันก็เหมือนกับการวิ่งแข่ง ฉะนั้นการนำเสนอชุดข้อมูลของคนร้ายออกมาจำเป็นจะต้องมีมาตรการ หรือ แนวทางรับมือกับการก่อเหตุให้นำหน้าอาชญากรไปด้วย ที่สำคัญผู้บังคับใช้กฎหมายต้องเปลี่ยนการทำงานจากเชิงรับ เป็นเชิงรุก โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดเหตุ มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความแล้วจึงค่อยไปดำเนินการ แต่เน้นไปที่การป้องกันและลดการก่อเหตุ และ ความเสียหายให้มากที่สุด ” นายวรภัทร ทิ้งท้าย 


Exclusive By  วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ ASS. EDITOR TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ