เวียดนามนิยมใช้ "เหงียน" เป็นนามสกุลเกือบครึ่งประเทศ เพราะ “จำยอม” มากกว่า “ชอบ” | Chronicles
หลายครั้ง ผู้คนมักให้เหตุผลว่า ที่ชาวเวียดนามนิยมใช้สกุลเหงียนมากมายถึงเพียงนี้ เป็นเพราะบรรพบุรุษเชิดชู “ราชวงศ์เหงียน” ที่ทำให้อาณาจักรเวียดนามกว้างใหญ่ไพศาล และเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด ประชาชนจึงให้เกียรติตั้งเป็นนามสกุลของตน แต่จริง ๆ ตามประวัติศาสตร์แล้ว คำอธิบายเป็นอีกแนวทางหนึ่ง
หากกล่าวถึงเวียดนาม นอกเหนือจากแหนมเนือง ชุดอ่าวหญ่าย หมวกงอบหนอนลา หรือสัญลักษณ์ดาวทอง นั่นคือ นามสกุล “เหงียน (Nguyen)” ที่ชาวเวียดนามใช้กันมากถึง 39% จากนามสกุลที่มีทั้งหมดในประเทศ
หลายครั้ง ผู้คนมักให้เหตุผลว่า ที่ชาวเวียดนามนิยมใช้สกุลเหงียนมากมายถึงเพียงนี้ เป็นเพราะบรรพบุรุษเชิดชู “ราชวงศ์เหงียน” ที่ทำให้อาณาจักรเวียดนามกว้างใหญ่ไพศาล และเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด ประชาชนจึงให้เกียรติตั้งเป็นนามสกุลของตน
แต่จริง ๆ ตามประวัติศาสตร์แล้ว คำอธิบายเป็นอีกแนวทางหนึ่ง
งานศึกษา Toward an Onomastic Account of Vietnamese Surnames
เขียนโดย เหงียน เวียด กั๋ว (Nguyen Viet Khoa) ตีพิมพ์ในวารสาร Genealogy เสนอว่า ที่จริง คำว่าเหงียนนั้น มีที่มาจากศัพท์โบราณของพื้นที่เวียดนามว่า “โหง่น (nguồn) หรือ หงอย (ngòi)” ที่หมายถึงแม้น้ำลำคลอง และจริง ๆ ไม่ได้ใช้เป็นนามสกุล แต่ใช้เป็นชื่อ เพราะวิธีคิดในอดีตของเวียดนามนั้น ไม่ได้มีเรื่องของชื่อวงศ์ตระกูล
แต่พอรับวัฒนธรรมการตั้งชื่อวงศ์ตระกูล (แซ่) มาจากจีน ชาวเวียดนามโบราณจึงเริ่มคิดหาชื่อที่ตนคุ้นเคย คือชื่อที่ตั้งซ้ำกันบ่อย ๆ
โดยสืบสาวได้ประมาณ 16 ชื่อ ได้แก่ ชุก (Thục), จุง (Trưng), เตียว (Triệu), เหม่ย (Mai), คุ๊ก (Khúc), ลี๋ (Lý), เฝื่อง (Phùng), เกียว (Kiều), โหง (Ngô), ดิ่ง (Ðinh), เล (Lê), เทริน (Trần), โฮ (Hồ), หมัก (Mạc), ญิ่ง (Trịnh), และแน่นอน เหงียน (Nguyễn) เป็นหนึ่งในนั้น
เมื่อมีการสถาปนาการปกครองแบบสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นในเวียดนาม บรรดาราชวงศ์ต่าง ๆ ขึ้นครองราชย์ และได้พระราชทานนามสกุลให้แก่ชาวเวียดนาม เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อผสกนิกร (คล้าย ๆ กับการพระราชทาน “ณ อยุธยา” แบบราชวงศ์จักรีของไทย)
แต่ที่ต่างกัน นั่นคือ ประชาชนไม่สามารถที่จะ “ปฏิเสธ” การพระราชทานนามสกุลนี้ได้ เพราะการปฏิเสธหมายความถึง “การคิดกบฏ ต่อราชบัลลังค์” และมีโอกาสสูงที่จะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ
ด้วยการนี้ จากแต่เดิมใช้นามสกุล “เล” พอราชวงศ์ใหม่เป็นเหงียน ก็ต้องพากันเปลี่ยนเป็น “เหงียน” ทั้งครอบครัว
ดังนั้น การใช้นามสกุลของชาวเวียดนาม จึงเป็นเรื่องของการจำยอม มากกว่าความชื่นชอบ ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละบุคคล
และปรากฏว่า ราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองดินแดนเวียดนามโบราณ นั่นคือ “ราชวงศ์เหงียน” (1802-1945) ก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมตะวันตกในที่สุด ส่วนนี้จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นามสกุลเหงียน ค่อนข้างมีเยอะมากในเวียดนาม
Chronicles by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]
แหล่งอ้างอิง
- บทความ Toward an Onomastic Account of Vietnamese Surnames
- บทความ A cross-cultural approach to personal naming: given names in the systems of Vietnamese and English
- https://www.britannica.com/topic/Nguyen-dynasty
- https://itourvn.com/blog/why-do-many-vietnamese-have-the-nguyen-surname/
ข่าวแนะนำ