"สต็อคโฮล์มซินโดรม" ก็มีแล้ว อย่างนั้น "โคเปนเฮเกนซินโดรม" และ "เฮลชิงกิซินโดรม" มีไหม? | Chronicles
“สต็อคโฮล์มซินโดรม” ก็มีแล้ว อย่างนั้น “โคเปนเฮเกนซินโดรม” และ “เฮลซิงกิซินโดรม” ที่เป็นชื่อเมืองหลวงของ “เดนมาร์ก” และ “ฟินแลนด์” ประเทศแถบสแกนดิเนเวียเดียวกัน มีหรือไม่?
“สต็อคโฮล์มซินโดรม” หรือ “โรคจำเลยรัก” เป็นกลุ่มอาการของผู้ที่ตกเป็นเชลยหรือตัวประกันเกิดมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ร้ายหลังจากต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันระยะหนึ่ง และอาจจะลงเอยด้วยการแสดงอาการปกป้องผู้ร้ายหรือยอมเป็นพวกเดียวกันในบั้นปลาย
โดยเหตุที่ใช้ชื่อว่าสต็อกโฮล์ม ซึ่งเป็นชื่อเมืองหลวงของประเทศสวีเดนนั้น มาจากเหตุการณ์ปล้นธนาคาร “Kreditbanken” ที่กรุงสต็อกโฮล์ม มีการจับตัวประกันไว้ 6 วัน แต่ตัวประกันกับพยายามจะให้การช่วยเหลือโจรหลบหนี ไม่มีทีท่าว่าจะกลัว หรือพยายามเรียกร้องความช่วยเหลือจากตำรวจเสียด้วยซ้ำ
นีลส์ เบเยโรต์ (Nils Bejerot) นักประสาทวิทยาชาวสวีเดน จึงตั้งชื่อตามเมืองหลวงดังกล่าว
แต่คำถามที่ตามมาคือ อย่างนั้น “โคเปนเฮเกนซินโดรม” และ “เฮลซิงกิซินโดรม” ที่เป็นชื่อเมืองหลวงของ “เดนมาร์ก” และ “ฟินแลนด์” ประเทศแถบสแกนดิเนเวียเดียวกัน มีหรือไม่?
คำตอบคือทั้งมีและไม่มี
โดยโคเปนเฮเกนซินโดรม คืออาการ “โรคกระดูกสันหลังคด” ที่พบหาได้ยาก โดยจะปรากฏในเด็กผู้หญิงมากกว่า 60% ซึ่งผู้ป่วยโรคดังกล่าวมีจำนวนน้อยมาก ประมาณ 80-100 รายตั้งแต่ปี 1949
ส่วนเหตุที่ใช้ชื่อว่าโคเปนเฮเกน เพราะโรคนี้ค้นพบเห็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
ส่วน เฮลซิงกิซินโดรมนั้น ไม่มีปรากฏในสารบบของโรคภัย แต่มีเป็นชื่อซีรีย์ของประเทศฟินแลนด์เฉย ๆ
ซึ่งความตลกก็คือ ในภาพยนตร์เรื่อง Die Hard มีการเรียกชื่อสต็อกโฮล์มซินโดรมผิดไปเป็นเฮลซิงกิซินโดรม ซึ่งทำให้ผู้คนเข้าใจผิดไปกันใหญ่และเกิดการถกเถียงว่า ตกลงแล้วชื่อโรคอะไรกันแน่ จนต่อมาก็เคลียร์ว่าเป็นสต็อกโฮล์มซินโดรม
Chronicles by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]
แหล่งอ้างอิง
- https://www.britannica.com/science/Stockholm-syndrome
- https://www.thespinejournalonline.com/article/S1529-9430(14)01775-6/abstract
- https://www.routesnorth.com/language-and-culture/what-is-helsinki-syndrome/
ข่าวแนะนำ