กฎยาบ้า 1 เม็ด ได้ผู้เสพต้องได้ผู้ค้า รัฐเดินหน้าสงครามยาเสพติด
การปรับเกณฑ์ครอบครองยาบ้าเหลือ 1 เม็ด คือ การประกาศสงครามกับยาเสพติดของรัฐบาลที่เล็งขยายผลจากผู้เสพไปสู่การจับกุมยึดทรัพย์ผู้ค้า ขณะที่การใช้ยาแรงถูกตั้งคำถามว่าอาจไม่สอดคล้องกับหลักสากล
ผ่านไปเพียง 4 เดือนหลัง ราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่สันนิษฐานว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 หรือ นโยบายถือครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพนำเข้าสู่รับการบำบัด มาถึงวันนี้เมื่อรัฐบาลปรับ ครม. และเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ก็ปรากฎการปรับกฎหมาย แก้กฎกระทรวงฯ โดยสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 ยาบ้า และ ไอซ์ โดยกำหนดปริมาณแอมเฟตามีน หรือยาบ้าไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ หรือหรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม เดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 5 เม็ด หรือ 500 มิลลิกรัม จึงกำหนดให้แอมเฟตามีน ไอซ์ ปริมาณไม่เกิน 1 หน่วย
ปรับลดยาบ้า 1 เม็ด พุ่งเป้าเครือข่ายค้ายา
ความเห็นของนายสมศักดิ์ ในฐานะเจ้ากระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ค่อนข้างชัดเจนว่าการปรับลดยาบ้าเหลือ 1 เม็ด คือการมุ่งเน้นไปที่การปราบปรามเครือข่ายยาเสพติด ทั้งการขยายผลจากผู้ถือครองไปจนถึงผู้ค้า พร้อมเพิ่มแรงจูงใจในการแจ้งเบาะแส
นายสมศักดิ์ระบุว่าการปรับลดเกณ์การครอบครองยาบ้าให้เหลือเพียง 1 เม็ด จะเน้นไปที่ผู้ขาย หรือผู้ค้า และจะเน้นในเรื่องการยึดทรัพย์ด้วย เพราะเหตุผลหลักของการปรับลดปริมาณครอบครองยาบ้าเป็น 1 เม็ด คือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งมีทั้งข้อมูล สถิติในการจับกุม เทียบเคียงก่อนหน้านี้ที่ไม่มีการกำหนดยาบ้า 5 เม็ด เป็นผู้เสพ ก็จะต้องถูกปล่อยไปบำบัด แต่หลังมีการประกาศให้ครอบครองยาบ้า 5 เม็ดเป็นผู้เสพ พบว่า มีผู้ถูกจับกุมมากขึ้นถึง 85% ซึ่งเชื่อว่า การลดลงเหลือ 1 เม็ด จะทำให้ได้ผลในการดำเนินคดี
ส่วนเรื่องการบำบัดรักษา หากคนที่ถูกจับกุมยาบ้า 1 เม็ด แล้วสมัครใจเข้ารับบำบัด หรือขอเข้าบำบัด เราก็มองว่า เป็นการเอาเปรียบประเทศ เอาเปรียบราชการเกินไป แต่เมื่อถูกจับแล้วต้องบอกให้ได้ว่า ซื้อยานี้มาจากที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก รายใหญ่ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการถูกยึดเม็ดทรัพย์
"ยืนยันว่า ครอบครอง 1 เม็ด ก็มีสิทธิถูกจำคุกได้ เพราะยาบ้า 1 เม็ด ก็มีความผิด เพราะต้องพิสูจน์ต่อด้วยว่า เป็นผู้เสพ หรือ ผู้ขาย หากเป็นผู้เสพก็ต้องเข้ารับการบำบัด พร้อมต้องขยายผลตามแนวนโยบาย “1 ผู้เสพ ขยายผล 1 ผู้ขาย และขยายต่อเป็น 1 ผู้ผลิต” ดังนั้น มียาบ้า 1 เม็ด ก็ต้องถูกขยายผลเพื่อนำไปสู่การยึดอายัดทรัพย์ ซึ่งในขณะนี้ เรามีผู้แทนแต่ละกระทรวง ที่อยู่ตามชุมชน ก็จะช่วยเป็นหูเป็นตา และหากใครแจ้งเบาะแสก่อน ก็รับรางวัลนำจับ 5%" นายสมศักดิ์ กล่าว
โดยหลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาตรวจ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ ก็จะประกาศใช้ โดยตนเองพยายามจะให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 18 มิ.ย.นี้ เพื่อให้ทันการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ จะได้มีการนำไปพูดคุยกันในสภาผู้แทนราษฎรได้
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ให้สัมภาษณ์กับ TNN โดยมองว่าการกำหนดปริมาณการครอบครองยาบ้าไม่ใช่สาระสำคัญของการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพราะแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดที่มีประสิทธิภาพ คือ การมองว่า "ผู้เสพคือผู้ป่วย" เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบำบัด แต่ก็ยอมรับว่าการประกาศนโยบายถือครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพนำเข้าสู่รับการบำบัด สร้างความสับสนให้กับสังคม และมีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าการถือครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดไม่มีความผิด ซึ่งผิดกับข้อเท็จจริงว่าการถือครองไม่ว่ากี่เม็ดก็นับเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่จะแยกผู้เสพ กับผู้ค้าจากพฤติการณ์เป็นหลัก นั่นหมายความว่าแม้คุณจะไม่ครอบครองยาบ้าสักเม็ดเดียว แต่มีพฤติการณ์เป็นผู้ค้ายาเสพติดคุณก็ต้องถูกดำเนินคดีอาญา
"แม้จะมองว่าไม่สามารถมีเกณฑ์อะไรมาวัดได้ว่าปริมาณเท่าไหร่จึงถือว่าเป็นผู้ค้าหรือผู้เสพ แต่ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดก็มองว่าการออกข้อกำหนดเป็นจำนวนปริมาณก็เพื่อให้ง่ายต่อการปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่ เป็นแนวทางแยกระหว่างผู้เสพกับผู้ค้าออกจากกัน ซึ่งการปรับลดจำนวนการครอบครองจะทำให้แนวโน้มจำนวนผู้ต้องโทษคดียาเสพติดก็จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนตัวมองว่าผู้ใช้ควรเป็นผู้ได้รับการดูแล มากกว่าเข้าสู่กระบวนการอาญา" รศ.พญ.รัศมน กล่าวย้ำ
แยกปลาออกจากน้ำด้วยปริมาณครอบครอง
นิยามคำว่า "ผู้เสพคือผู้ป่วย" เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2545 ในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร แม้ยังกำหนดครอบครองยาบ้าไม่เกิน 15 เม็ด แต่ก็ให้จัดเป็นผู้เสพไม่ใช่ผู้ค้า ให้ส่งตัวไปบำบัดรักษาตามนิยามผู้เสพคือผู้ป่วย ไม่ต้องส่งไปเรือนจำในฐานะผู้ค้ายาเสพติด
แต่การประกาศสงครามยาเสพติด ที่มีการปราบปรามอย่างหนักส่งผลต่อการจับกุมผู้ค้ายาเสพติดได้ 43,012 ราย จากจำนวน 46,522 ราย วิสามัญฆาตกรรมคนร้าย 37 ศพ เสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่น หรือฆ่าตัดตอน จำนวน 1,612 ราย ในเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น
ก่อนที่ในปี 2554 ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประกาศนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ปี 2554 ภายใต้แนวคิดหลัก “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” เพื่อให้ผู้เสพติดได้รับการบำบัด
จนกระทั่งมีการปรับปรุงประมวลกฎหมายยาเสพติด ย้ำเจตนารมณ์ ผู้เสพคือผู้ป่วย แต่มีการกำหนดว่ายาเสพติดใน “ปริมาณเล็กน้อย” ที่ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพนั้น คือปริมาณเท่าใด ในปี 2564 สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
โดยหลังมีการกำหนดปริมาณเพื่อจำแนกระหว่างผู้เสพ กับ ผู้ค้า ทำให้จำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ปี 2561 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 275,902 คน
ปี 2562 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 291,455 คน
ปี 2563 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 266,095 คน
ปี 2564 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 231,362 คน*
ปี 2565 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 207,085 คน
ปี 2566 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 205,127 คน
ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธ.ค. 2566 ที่มา: กรมราชทัณฑ์
กสม. ชี้ นโยบายลดครอบครองยาบ้ากระทบสิทธิฯ ไม่สอดคล้องหลักสากล
ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ระบุว่านโยบายปรับลดปริมาณการครอบครองยาบ้า (เมทแอมเฟตามีน) โดยให้ถือว่าการครอบครอง 1 เม็ด เป็นผู้ค้าและให้ยึดทรัพย์ได้นั้น ไม่สอดคล้องกับระดับสากล และกังวลว่าจะเกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยสนับสนุนใช้มาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) แทนมาตรการทางกฎหมายในส่วนของผู้เสพ
แถลงการณ์ระบุว่าการที่นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการปรับปรุงประกาศ/กฎกระทรวงเพื่อกำหนดปริมาณกสม. เห็นว่านโยบายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกฎหมายและทิศทางการแก้ปัญหายาเสพติดในระดับสากล และมีข้อห่วงกังวลว่านโยบายดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง ความผิดฐานเสพยาเสพติด ครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ ครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย กฎหมายปัจจุบันถือเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งการที่จะถูกดำเนินคดีในข้อหาใดต้องพิจารณาจากพฤติการณ์และเจตนาของผู้กระทำประกอบ ไม่ใช่จำนวนยาเสพติดที่ครอบครองเพียงอย่างเดียว
ดังนั้น นโยบายของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จึงอาจส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วงการประกาศสงครามกับยาเสพติดเมื่อปี 2546 การจับกุมดำเนินคดีกับผู้เสพโดยนำตัวไปขังในเรือนจำ ทั้งที่ควรนำไปรับการบำบัดรักษา จะกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งของรัฐ และเป็นตราบาปติดตัวคนเหล่านี้ เพราะจะมีประวัติอาชญากร ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ กลายเป็นคนพิการทางสังคม และเท่ากับผลักให้พวกเขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งในประเด็นดังกล่าวมีกรณีร้องเรียนมาที่ กสม. ด้วย
กสม. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) มาใช้ในการแก้ปัญหาในส่วนของผู้เสพอย่างจริงจัง โดยสนับสนุนให้ชุมชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมดำเนินการ ยึดหลักการผู้เสพคือผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร สนับสนุนให้ชุมชนพัฒนานวัตกรรมการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เพื่อคืนคนเหล่านี้ให้ชุมชนและสังคมต่อไป
ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงย่อมนำมาซึ่งความเห็นต่างและข้อโต้แย้ง โดยเฉพาะการปรับปรุงแก้ไขมาตรการด้านยาเสพติด เพราะแม้ผู้เสพและผู้ค้าจะไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ในประเทศแต่ผลกระทบจากยาเสพติดมักนำมาซึ่งความหายนะทั้งผู้เสพ ผู้ใกล้ชิด รวมถึงเป็นต้นเหตุของอาชญากรรมหลายประเภท
ปัญหายาเสพติดจึงถือเป็นปัญหาของคนทุกกลุ่มในสังคม ประชาชนจึงได้เพียงแต่หวังว่าการปรับเปลี่ยนมาตรการยาเสพติดหลังประกาศใช้เพียง 4 เดือนจะเป็นการก้าวไปข้างหน้ามากกว่าถอยไปข้างหลัง
Exclusive by วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์
แหล่งอ้างอิง
http://www.correct.go.th/rt103pdf/report_index.php
https://www.nhrc.or.th/th/NHRC-News-and-Important-Events/10916
ข่าวแนะนำ