พลิกโฉม ‘เพชรหัวหิน’ สนามบินแห่งอนาคต ประตูสู่การท่องเที่ยวระดับโลก
ตามแผนการพัฒนาสนามบินหัวหิน เป็นท่าอากาศยานนานาชาติตามแผนเดิมคือต้องแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2569 แต่เมื่อนายกฯเศรษฐามาติดตามความคืบหน้ากลับเร่งรัดให้เร่งการยกระดับเร็วขึ้นมาอีก 6 เดือนให้แล้วเสร็จในไตรมาส 4 ของปี 2568 ซึ่งตรงกับช่วงไฮซีซั่น พร้อมตั้งชื่อให้สนามบินที่พัฒนาใหม่ว่า "เพชรหัวหิน" บทความนี้จะพาไขคำตอบว่าการยกระดับสนามบินหัวหินจะช่วยพลิกโฉมหน้าให้กับการท่องเที่ยวของ “เมืองหัวหิน” และ ภาคกลางตอนล่างได้อย่างไร
ท่าอากาศยานหัวหิน เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของ นายกฯ "เศรษฐา" ที่ควงคู่กับ "สุริยะ" รมว.คมนาคม เพื่อดูความเป็นไปได้ และ แผนการยกระดับให้กลายเป็นสนามบินนานาชาติรองรับนักท่องเที่ยวที่บินตรงเข้ามา ตามเป้าหมายในการเป็น Aviation Hub ซึ่งนายกฯเชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ปัจจุบันท่าอากาศยานหัวหินมีทางวิ่งความยาว 2,100 เมตร กว้าง 35 เมตร ลานจอดอากาศยานสามารถรองรับอากาศยานแบบ Airbus A320 และ ATR72 จอด 2 ลํา ได้ในเวลาเดียวกัน อาคารผู้โดยสารขนาด 7,200 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้เฉลี่ย 300 คน/ชั่วโมง โดยหากใช้พื้นที่ได้เต็มศักยภาพจะรองรับผู้โดยสารได้สูงถึง 8 แสน ถึง 1 ล้านคนต่อปี
"เพชรหัวหิน" ปรับโฉมสู่สนามบินนานาชาติ
นายกฯ เปิดเผยว่าเดินทางมาครั้งนี้เพื่อมาติดตามเร่งรัดการขยายรันเวย์ เพื่อรองรับเครื่องบินจากต่างประเทศ รวมถึงมาตรฐานของ ICAO ที่คาดว่าจะเสร็จภายใน 2 ปี ให้เร็วขึ้นอีก 6 เดือน เพื่อให้ทันไตรมาส 4 ปีหน้า ซึ่งจะเป็นช่วง High Season ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับ hi-end เช่น พวกนักกอล์ฟ รวมไปถึงเสริมศักยภาพในการจัด World Class Event ในอนาคต และในเวลาปีครึ่งที่เหลือ ได้ฝากผู้ว่าการ ททท. ให้เร่งสร้าง Demand ไว้รอรับ พร้อมฝากกระทรวงคมนาคม เตรียมการเชื่อมโยงสนามบินในภาพรวมของทั้งประเทศด้วย เพื่อชูการท่องเที่ยวทั้งประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี
"ผมเสนอให้พิจารณาเปลี่ยนชื่อสนามบินหัวหิน เป็นสนามบิน ‘เพชรหัวหิน” ประเทศไทยมีศักยภาพมาก เหมือนเพชรรอการเจียระไน หากทำงานเร็วขึ้น 6 เดือน ประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนเร็วขึ้น 6 เดือนด้วย" นายกฯกล่าว
ปั้น “เพชรหัวหิน” ประตูสู่การท่องเที่ยวภาคกลางตอนล่าง
หัวหิน คือ หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่ติดอันดับความนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก มีโรงแรม สนามกอล์ฟ และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่นเดียวกับเพชรบุรีจังหวัดท่องเที่ยวที่มีพื้นที่ติดต่อกัน โดยเป็นทั้งเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว และยังเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของ UNESCO ด้วย ดังนั้นการยกระดับสนามบินนานาชาติหัวหินจึงอาจเป็นการช่วยเติมเต็มความสามารถในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเที่ยวทั้ง 2 จังหวัดเพิ่มขึ้น
โดยข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในปี 2565 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีจำนวนนักท่องเที่ยว 9.75 ล้านคน รายได้ประมาณ 33,000 ล้านบาท ในปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 11.14 ล้านคน จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.4 ล้านคน มีรายได้ 44,000 ล้านบาท
นายสุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มองว่าการยกระดับ "สนามบินหัวหิน" เป็น "สนามบินนานาชาติ" ถือเป็นเรื่องดี เพราะหัวหินเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และ เป็นหนึ่งในจุดหมายของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก การเพิ่มความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติบินตรงสู่หัวหินได้ก็เป็นการช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ขณะเดียวกันการขยายสนามบินยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับพื้นที่ใกล้เคียงทั้ง เพชรบุรี ราชบุรีรวมถึงพื้นที่ชุมพรทางตอนบน แต่คำถามคือ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆนอกสนามบินของเมืองหัวหินมีความพร้อมแค่ไหน และ การใช้งบประมาณลงมาพัฒนาสนามบินหัวหินจะคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่ารัฐบาลมีตัวเลข และการประเมินความคุ้มค่าอยู่แล้ว
สำหรับท่าอากาศยานหัวหินมีที่ตั้งไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ มีศักยภาพในการรองรับอากาศยานส่วนบุคคล รวมทั้งมีศูนย์ฝึกการบินพลเรือน หรือโรงเรียนการบิน ในแต่ละปีที่เที่ยวบินอากาศยานส่วนบุคคลกว่า 30,000 เที่ยวบินต่อปี ทำให้มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติด้านอากาศยานส่วนบุคคล อีกทั้งตัวพื้นที่มีความพร้อมในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว private Jet ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวทั้งจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่ใกล้เคียง
ศักยภาพของแห่งท่องเที่ยว 2 จังหวัดไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือวัฒนธรรม ถือเป็นเพชรเม็ดงามด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างที่รอวันอวดโฉมให้เห็นเด่นชัดขึ้นในอนาคตหลังปรับปรุง"เพชรหัวหิน"ในช่วงปลายปี 2568
ข่าวแนะนำ