TNN Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล: ชวนเข้าใจ “สยามคาบาเรต์” มหรสพเร้าอารมณ์ยามราตรี ความเริงรมย์ที่ “ไม่เกินเลย”

TNN

TNN Exclusive

Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล: ชวนเข้าใจ “สยามคาบาเรต์” มหรสพเร้าอารมณ์ยามราตรี ความเริงรมย์ที่ “ไม่เกินเลย”

Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล: ชวนเข้าใจ “สยามคาบาเรต์” มหรสพเร้าอารมณ์ยามราตรี ความเริงรมย์ที่ “ไม่เกินเลย”

ใครเลยจะรู้ว่า "คาบาเรต์" นั้น ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทรรศน์ทางเศรษฐกิจสังคมของไทยอย่างน้อย 2 ประการ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตยามค่ำคืน และเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งการเริงรมย์ อย่างไม่น่าเชื่อ

หากท่านใดได้รับชม “เดี่ยวสเปเชียล: ซูเปอร์ซอฟต์พาวเวอร์” ของโน้ส อุดม แต้พานิช ในช่วงที่พี่โน้สเล่าประสบการณ์การรับชม “อะโกโก้” เป็นครั้งแรก 


อะโกโก้ หรือที่เรียกโบราณเสียเล็กน้อยคือ “คาบาเรต์” ที่จริงเป็นที่พูดถึงในสังคมไทยมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในแง่ลบอย่างปัญหาจริยธรรม หรือเรื่องในแง่บวกอย่างการเป็นทรัพยากรซอฟท์พาวเวอร์ที่ต่างชาติรับรู้ว่าเป็นของดีประเทศไทย


แต่ใครเลยจะรู้ ว่าคาบาเรต์นั้น ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทรรศน์ทางเศรษฐกิจสังคมของไทยอย่างน้อย 2 ประการ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตยามค่ำคืน และเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งการเริงรมย์ อย่างไม่น่าเชื่อ


สิ่งดังกล่าวเป็นอย่างไร ติดตามได้ ณ บัดนี้


นงคราญ


ก่อนหน้านั้น การเริงรมย์ส่วนใหญ่ในสยามอย่างการค้าประเวณี ที่จะมีการทำกิจกรรมบางอย่าง จึงจะถือว่าเริงรมย์อย่างเสร็จสิ้น ตรงนี้ การที่สตรีจะเข้ามาประกอบอาชีพดังกล่าว ต้องยอมรับว่า “เปลืองตน” อย่างมาก ทั้งยังเป็นที่ติฉินนินทา และสังคมรังเกียจ


กระนั้น เมื่อกิจการไฟฟ้าเข้ามาในสยาม ราวพุทธทศวรรษ 2430 ได้เกิดวิถีชีวิตยามค่ำคืนในแบบใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือ “โรงมหรสพ” ที่เปิดให้บริการพร้อม แสง สี เสียง ตระการตา ชนิดที่ตอนกลางวันไม่สามารถทำได้ เพราะสว่างเกินไป และร้อนมาก


ในช่วงแรก มหรสพที่แสดงมักเป็นการนำละครโอเปราจากตะวันตกมาประพันธ์ให้เป็นเนื้อความสยาม หรือไม่ก็เป็นการบริการ “สตรีลีลาศ” ตามโรงแรมต่าง ๆ สำหรับให้บุรุษมาผ่อนคลายด้วยการโชว์สเต็ปบนฟลอร์เฟื่องฟ้า


แต่นั่น ยังไม่ถือว่า “สาใจ” ของบรรดาหนุ่มนักท่องราตรี ที่ต้องการอะไรมากกว่าการเต้น ๆ และเห็นสตรีงาม แต่ไม่ได้อยากที่จะเกินเลยถึงขั้นมีสัมพันธ์กัน ดังนั้น จึงเกิดการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ของผู้ให้บริการประเภทดังกล่าว ซึ่งมาลงเอยที่ “การเต้นเชิงยั่วยวน” ในที่สุด


จากหลักฐานและบันทึกความทรงจำทางประวัติศาสตร์ พบว่า โรงฮอลล์ที่สุรวงศ์ หรือไม่ก็ตึกเก้าชั้นที่เยาวราช  เป็นสถานที่แรกในสยามที่ให้บริการการเต้นลักษณะนี้ โดยรูปแบบการให้บริการ จะมีลักษณะของการที่สตรีจะ “นุ่งน้อยห่มน้อย” ยืนเรียงรายให้แขกมาเลือกสรร ก่อนที่จะทำการเปิดแอลกอฮอล์ดื่มกัน และมีการเต้นเชิงยั่วยวน สิ่งนี้เป็นการเอ็นเตอร์เทนให้เสพเพียงสายตา หาได้มีการปฏิสัมพันธ์แบบเกินเลยอื่น ๆ 


โรงฮอลล์ได้ทำให้การเต้นยั่วยวนโด่งดังในเมืองหลวงอย่างมาก บรรดาโรงแรมต่าง ๆ ของสยาม ได้เปลี่ยนจากการเปิดฟลอร์ลีลาส มาเป็นการเต้นในลักษณะนี้แทนที่ ไม่เว้นแม้แต่ “โรงแรมโอเรียนเต็ล” 


คาบาเรต์


พุทธทศวรรษที่ 2480 เป็นช่วงที่สยาม “ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แน่นอน ระเบิดลงเป็นว่าเล่น ย่อมหาได้ยากที่จะมีการให้บริการสิ่งเริงรมย์ดังเช่นที่เป็นมา


จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ณ ตอนนั้น ได้พยายามที่จะปลอบประโลมประชาชนที่ขวัญผวาจากระเบิดลง ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการแสดงมหรสพยามค่ำคืน 


การเต้นคาบาเรต์นั้นเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามใหม่ ๆ แล้ว โดยในปี 2476 ได้เปิดแสดงเป็นครั้งแรกในงานออกร้านที่วัดชนะสงคราม เก็บค่าเข้าชมคนละ 1 บาท สอดคล้องกับที่ปรากฏในหัสนิยายชุด “พล นิกร กิมหงวน” ของ ป.อินทรปาลิต ตอน “ระบำหยาดฟ้า” ซึ่งเนื้อหาของเรื่องเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน โดยกล่าวถึงเจ้ารอด ข้าเก่าของเจ้าคุณประสิทธิ์ ได้ไปประกอบธุรกิจระบำคาบาเรต์ ทั้งเจ้ารอดยังบอกอีกว่า ตนเป็นผู้คิดคำว่า “คาบาเรต์” ขึ้นมา


ดังนั้น คาบาเรต์จึงใช้เรียกการเต้นยั่วยวนในช่วงสงคราม และหลังจากนั้น เมื่อใดที่มีการประกอบกิจการเต้นพิสดาร ก็จะเรียกว่าคาบาเรต์แทบทั้งสิ้น


กระนั้น สาวคาบาเรต์นี้ มักจะต้อนรับแต่ลูกค้าที่เป็นทหารญี่ปุ่น เพราะมีเงินมากกว่าลูกค้าชาวไทย ดังที่ สละ ลิขิตกุล นักเขียนร่วมสมัยดังกล่าว เล่าไว้ว่า


“สมัยสงครามแทบจะพูดได้เลยว่าหาผู้หญิงพวกนี้ไม่ได้เลย ส่วนใหญ่ผู้หญิงพวกนี้จะไปหากินกับทหารญี่ปุ่นเพราะรายได้มันดีกว่า อีกส่วนหนึ่งเขาก็หลบไปอยู่บ้านนอก เราเองถ้าจะได้บ้างก็ประเภทที่มันนัดกับทหารญี่ปุ่นแล้วมานั่งคอย ปรากฏว่าทหารญี่ปุ่นมันไม่มาอะไรทำนองนี้” 


โดยคณะคาบาเรต์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือคณะของ บุญศรี สอนชุ่มเสียง หรือที่นักเที่ยวกลางคืนรู้จักกันในชื่อ “หรั่ง เรืองนาม” นั่นเพราะคาบาเรต์สไตล์“ตาหรั่ง” นั้น มีการ “เล่นฉีก” ไม่เหมือนคาบาเรต์ทั่ว ๆ ไป ดังคำโปรยที่ว่า


“...เชิญมาชมระบำนายหรั่งผู้เรืองนาม ท่านจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจ มีเพียงคณะเดียวเท่านั้นที่แสดงอย่างพิศวงงงงวยชมแล้วชุ่มชื่นหัวใจ มีนางสาวทุกวัยคอยต้อนรับท่านเยอะแยะ” 


หากแต่ในเรื่องของการแสดงนั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ปัจจุบันมีความหลากหลายมากมาย รวมถึงความพิศดารเหมือนที่เป็นเรื่องเล่าในเดี่ยวไมโครโฟน


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


  • วิทยานิพนธ์ ชีวิตยามค่ำคืนในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2427-2488
  • บทความ “จ้ำบ๊ะ” เมื่อคราวระเบิดลง: ความบันเทิงเชิงกามารมณ์ใน กรุงเทพฯ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
  • https://www.silpa-mag.com/history/article_65004
  • https://mainstand.co.th/th/features/5/article/3258

ข่าวแนะนำ