TNN ถึงเวลา 'เศรษฐา' สางปัญหาเรื้อรัง ปฎิรูปตำรวจ กู้วิกฤตศรัทธาประชาชน

TNN

TNN Exclusive

ถึงเวลา 'เศรษฐา' สางปัญหาเรื้อรัง ปฎิรูปตำรวจ กู้วิกฤตศรัทธาประชาชน

ถึงเวลา 'เศรษฐา' สางปัญหาเรื้อรัง ปฎิรูปตำรวจ กู้วิกฤตศรัทธาประชาชน

บทความนี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า "ปฏิรูปตำรวจ" จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? ในยุค นายกฯเศรษฐา?

ผลโพลชี้ ประชาชนต้องการให้นายกฯ ถือธงนำปฏิรูป แต่ความท้าทาย คือการ 'แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง' ที่ฝังรากลึก 


ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย  ติดตามอ่านบทความฉบับเต็มเพื่อทำความเข้าใจมุมมองที่หลากหลายในประเด็นสำคัญนี้ 



"ปฏิรูปตำรวจ" ถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นพูดถึงอีกครั้ง หลังวงการสีกากีเริ่มสั่นสะเทือนจากความขัดแย้งของ 2 บิ๊กตำรวจ ระหว่าง บิ๊กต่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ   บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีต รอง ผบ.ตร. ซึ่งความขัดแย้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงนำมาสู่การเปิดข้อมูล และ ดำเนินคดีในเรื่องที่ตำรวจเข้าไปเกี่ยวโยงกับขบวนการพนันออนไลน์ และ การเรียกรับส่วย 

แม้คดีทั้งหมดจะยังอยู่ในกระบวนการสอบสวน และ บางส่วนอยู่ในการพิจารณาในชั้นศาล แต่ต้องยอมรับว่าข้อมูลลับที่ถูกเปิดออกมาให้สังคมได้รับรู้ได้สร้างภาพลบให้กับตำรวจไทย รวมถึงกระทบความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อองค์กรตำรวจเป็นอย่างมาก 


ความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อการปฏิรูปตำรวจไทยสะท้อนได้จากผลโพลล่าสุด จากซุปเปอร์โพลที่เสนอผลการศึกษาเรื่อง ปฏิรูปตำรวจ กับ ศรัทธาจากประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวนทั้งสิ้น 1,597 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา


เมื่อถามความเห็นของประชาชนต่อการปฏิรูปตำรวจเพื่อฟื้นฟูศรัทธาจากประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.3 ระบุ ต้องการให้ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ถือธงนำ ฟังเสียงของประชาชน ปฏิรูปตำรวจ 

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.9 ต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ ในขณะที่ร้อยละ 6.1 ไม่ต้องการ


ทั้งนี้พบว่าเมื่อแบ่งออกตามช่วงอายุจะพบว่าทุกช่วงอายุต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ โดยคนรุ่นใหม่ มีสัดส่วนสูงสุด คือ ร้อยละ 98.5 ของผู้มีอายุไม่เกิน 24 ต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ 


"มีความเป็นไปได้ที่การปฏิรูปตำรวจจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงเมื่อนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ถือธงนำ ฟังเสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ แก้จุดเปราะบางที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายสิบปี อาทิ ภารกิจงานตำรวจมีหลายหน้างานมากกว่าเรื่องความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชนแตกต่างไปจากภารกิจของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่น และคุณภาพชีวิตที่ขัดสนแต่งานหนัก รายได้ต่ำ ปัญหาหนี้สินมากจนต้องหาช่องทางอื่นเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว เป็นต้น" ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล กล่าว


ย้อนดูเส้นทางปฏิรูปตำรวจ


แม้เสียงส่วนใหญ่จะขานรับ และ สนับสุนการปฏิรูปตำรวจ แต่ต้องยอมรับว่าการปฏิรูปไม่ใช่เรื่องง่าย จะเห็นได้จากความพยายามของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ผลักดันการปฏิรูปตำรวจ และ กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ ปี 2557 ก่อนที่จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างด้วยการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่มีพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานในปี 2560  จากนั้นจึงใช้เวลาอีกราว 4 ปี ในการพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อผลักดันเข้าสู่รัฐสภาฯ โดยมีการปรับแก้ ร่างใหม่หลายรอบ พร้อมส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา 


ขณะที่ในชั้นการพิจารณาของ คณะกรรมาธิการฯ จะใช้เวลาถึง 1 ปี 5 เดือน ก่อนที่จะเสนอให้รัฐสภาฯเห็นชอบ และ คลอดออกมาเป็น พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 โดยเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565  โดยให้มีผลประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 


สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผย 5 ประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับใหม่ 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การแต่งตั้งโยกย้าย กำหนดให้มีการปฏิรูปตำรวจ และ แก้ไขกฎหมาย 2 เรื่อง คือ 1.1 เรื่องเกี่ยวกับอำนาจและภารกิจของตำรวจ 1.2 เรื่องบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย  โดยกฎหมายได้กำหนดจำนวนปีของการครองตำแหน่งไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญได้กำหนดการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจต้องพิจารณาทั้งหลักอาวุโสและหลักความรู้ความสามารถประกอบกัน การกำหนดสัดส่วนให้พิจารณาเรียงตามอาวุโสทั้งหมด 


2.การดำเนินการทางวินัย ถ้ามีพยานหลักฐานในทางวินัย สามารถพิจารณาและสั่งการ โดยไม่ต้องรอผลจาก ป.ป.ช. หรือ ศาลตัดสิน 


3.การบริหารงาน ตำรวจที่อยู่ในสถานีตำรวจจะไม่สามารถไปปฏิบัติหน้าที่หรือช่วยราชการที่อื่น ที่ไม่ใช่สถานีตำรวจได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะจัดเจ้่าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นไปทดแทน


4.การโอนภารกิจ ให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่เชี่ยวชาญกว่าตำรวจรับไปดำเนินการ เช่นปรับโอน หรือยุบหน่วยงานของกองบังคับการตำรวจรถไฟ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรับไปดำเนินการ โดยจัดพนักงานของการรถไฟฯ เพื่อบริการประชาชน 


5.ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ประกอบด้วย 5.1 มีคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ ( ก.ร.ตร.) เป็นอีกช่องทางหนึ่งซึ่งประชาชนมีสิทธิร้องเรียน คณะกรรมการชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นบุคคลภายนอกองค์กรตำรวจ มีเพียงจเรตำรวจแห่งชาติเป็นคณะกรรมการเพียงท่านเดียว 5.2 การบริหารในระดับสถานี มุ่งเน้นความสำคัญของสถานีตำรวจ เพื่อบริการประชาชนอย่างทั่งถึง 5.3 ระบบบริหารงานบุคคลดีจะส่งผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ประชาชนได้รับสิทธิที่ดีขึ้น 


ปฏิรูปตำรวจ แก้กฏหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ 


แม้ พรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ซึ่งถือเป็นผลจากความพยายามในการปฏิรูปตำรวจ และถือเป็นกฎหมายที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อคุ้มครองตำรวจไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง และป้องกันให้ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจในทางมิชอบ ส่งเสริมให้ตำรวจทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่หลังการประกาศใช้  พรบ.ตำรวจฉบับใหม่มาได้เพียง 1 ปีเศษ กลับมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้มีการปฏิรูปตำรวจอีกครั้ง ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าการปฏิรูปตำรวจด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ 


สอดคล้องกับความเห็นของดร. มานะ นิมิตรมงคลเลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่เคยเสนอความเห็นไว้เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า 

“ทุกครั้งที่พยายามปฏิรูปตำรวจ มักเจอแต่การหลอกล่อและต่อต้านจากนายตำรวจใหญ่ทั้งในและนอกราชการ รวมถึงผู้นำการเมืองที่สายตาสั้นปกป้องเพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้าของพวกตนและองค์กร


จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเปลี่ยนแปลง รื้อโครงสร้างหรือปฏิรูปองค์กรแห่งนี้ด้วยการให้คนมีอำนาจ ตำรวจและนักการเมือง ไปนั่งเจรจาสมยอมกันในทำเนียบฯ หรือรัฐสภา


รู้กันดีว่า ผลประโยชน์จากคอร์รัปชัน ส่วย หวย บ่อน ซ่อง ยาเสพติด การพนันออนไลน์ ต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ค้ามนุษย์ ส่วยทางหลวง ด่านลอย ซื้อขายสำนวนคดี รีดไถชาวบ้าน ฯลฯ ทำให้เกิดการแก่งแย่ง วิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่ง สร้างเครือข่ายพวกใครพวกมัน วางคนในตำแหน่งที่เงินดีหรือคอยปกป้องกันได้ในภายหลัง


ผลที่ตามมาคือความขัดแย้งและการหักหลังในหมู่ตำรวจด้วยกันเอง

คอร์รัปชันอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กรเพราะน้ำมือตำรวจด้วยกันเอง นักการเมือง อาชญากร คนโกง คนทำผิดกฎหมาย แม้แต่ใครที่อยากรังแกคนอื่นก็อาศัยตำรวจเป็นเครื่องมือ ทุกคนวนเวียนโกงซับโกงซ้อนจนเป็นวัฒนธรรม .. นี่คือความจริง เลิกพูดเอาใจกันได้แล้วครับ

นับจากนี้การปฏิรูปตำรวจจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยพลังของตำรวจส่วนใหญ่ที่รักหวงแหนองค์กร และประชาชนที่ไม่ยอมทน ช่วยกันผลักดันให้นายกรัฐมนตรี ผบ.ตร. และสภาผู้แทนราษฎร ลงมือสังคายนาให้จริงจัง ทั้งการแก้กฎหมาย วางนโยบาย แบบแผนปฏิบัติงาน กลไกติดตามตรวจสอบ ฯลฯ


แต่ท้ายที่สุดกุญแจสำคัญที่จะทำให้เรื่องใหญ่นี้ก้าวหน้าหรือสะดุดอยู่อย่างนี้ต่อไป คงต้องขึ้นอยู่กับท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ว่าจะนิ่งเฉยหรือกำหนดนโยบายไปในทิศทางใด" 


จะเห็นได้ว่าการปฏิรูปตำรวจถือเป็นความท้าทายอย่างมากของรัฐบาลที่จะทำให้สำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการแก้ไข ปรับปรุงให้สอดรับกับความคาดหวังของประชาชน เพราะ “ตำรวจ” ถือเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน และ เป็นที่พึ่งในยามเดือดร้อน  และ ป้องกันภัยจากอันตราย  


“ปฏิรูปตำรวจ” จึงถือเป็นภารกิจสำคัญของนายกเศรษฐา ซึ่งหากสามารถทำให้ตำรวจกลับมาเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมที่เที่ยงตรงต่อกฎหมายได้สำเร็จจะกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงไม่แพ้การพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเลยทีเดียว  



ผลโพลปฏิรูปตำรวจกับศรัทธาประชาชน 

https://www.superpollthailand.net/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%A5


5 ประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับใหม่

https://www.facebook.com/legalpolicethailand/posts/174051761953985?ref=embed_post


ทำไมปฏิรูปตำรวจไม่ได้ ไม่ปฏิรูปก็ไม่ได้

http://www.anticorruption.in.th/2016/th/detail/1762/4/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89-%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89













ข่าวแนะนำ