TNN “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” สร้างสังคมเท่าเทียมในประเทศไทย?

TNN

TNN Exclusive

“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” สร้างสังคมเท่าเทียมในประเทศไทย?

“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” สร้างสังคมเท่าเทียมในประเทศไทย?

“สภาฯ ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมวาระ 3 ถือเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทย ในการยกระดับความเท่าเทียมทางเพศ และถือเป็นชาติแรกในภูมิภาคอาเซียน แต่หากมองภาพรวมทั้งเอเชีย จะพบว่า "ประเทศไทย" เป็นประเทศที่ 3 เท่านั้น และแม้จะดูเหมือนว่าหลายประเทศในเอเชีย ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่ประเด็นเรื่องสิทธิยังถือว่าด้อยกว่าหลายภูมิภาค โดยเฉพาะแถบยุโรป ซึ่งมีการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมมานานหลายสิบปี”

ความเสมอภาคทางเพศ ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนทุกเพศ มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม  โดยเฉพาะงบประมาณ และที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความพยายามที่จะก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำทาง เพศสภาพ ผ่านกลไกของรัฐธรรมนูญ  2560  มาตรา 27 ที่บัญญัติให้ ชายและหญิง มีสิทธิเท่าเทียมกัน รวมถึง มาตรา 71 ที่กำหนดว่า “การจัดสรรงบประมาณของรัฐต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศสภาพ วัย และสภาพบุคคล ซึ่งเป็นหลักการ Gender-responsive budgeting (GRB)  เพื่อเป็นหลักประกันว่า มีการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ แต่นอกจากการจัดสรรงบประมาณแล้ว  “กฎหมาย” ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความยุติธรรมให้เกิดกับทุกเพศสภาพ  ประเทศไทยจึงมีความพยายามในการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ....  หรือที่เรียกกันว่า  “ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม”  จนกระทั่งสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติผ่านความเห็นชอบ วาระ 2-3 ไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ด้วยคะแนนเสียง 400 ต่อ 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง


“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” สร้างสังคมเท่าเทียมในประเทศไทย?


หากดูสถานการณ์ภาพรวมทั่วโลก ปัจจุบันมีประเทศที่รับรองให้คนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมายแล้วทั้งหมด 37 ประเทศและดินแดน แบ่งเป็นในทวีปยุโรป 21 ประเทศ ซึ่งถือว่าก้าวหน้ามากที่สุด ตามมาด้วยฝั่งอเมริกา 11 ประเทศ เอเชีย มีเพียง 2 ที่คือ ไต้หวัน กับ เนปาล ซึ่งไทย กำลังจะเป็นประเทศที่ 3  ส่วนโอเชียเนียมี 2 ประเทศคือ นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ขณะที่ฝั่งแอฟริกา มีเพียงหนึ่งเดียวคือ แอฟริกาใต้ เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงถึงสถานะของบางประเทศอย่าง เม็กซิโก ซึ่งไม่ได้รับรองเหมือนกันทั้งประเทศ ขณะที่ เนปาล แม้จะมีคู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย เป็นคู่แรกของประเทศ เมื่อช่วงปลายปี 2023 ตามคำสั่งชั่วคราวของศาล แต่ขณะนี้รัฐสภาเนปาลก็ยังไม่ได้ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม


“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” สร้างสังคมเท่าเทียมในประเทศไทย?


ย้อนกลับมาที่ภูมิภาคอาเซียน เมื่อช่วงปลายปี 2023 มีการเผยแพร่ข้อมูลของ ศูนย์วิจัยพิวในสหรัฐฯ ที่ได้ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอาเซียน ต่อกฎหมายสมรสเท่าเทียม พบว่า ชาวเวียดนาม ให้การสนับสนุนมากถึง 65% หลังจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเริ่มรณรงค์ในประเด็นนี้มาตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งทางการเวียดนามเตรียมพิจารณาปรับแก้กฎหมายสมรสและครอบครัวในปี 2024 หรือไม่ก็ปีหน้า  ส่วนในไทยและกัมพูชา พบว่า เกินครึ่ง สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมเช่นกัน สวนทางกับสิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีผู้คัดค้านมากกว่า โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย ที่คัดค้านกฎหมายนี้ 8 ใน 10 คน  ขณะที่ อินโดนีเซีย มีผู้คัดค้านมากกว่า คือ 9 ใน 10 คน  ส่วนในฟิลิปปินส์ แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและการแสดงออกถึงตัวตนในพื้นที่สาธารณะก็สามารถทำได้อย่างเปิดเผย แต่ประเทศนี้ แต่พบว่า ราว 80% ของประชากรเป็นชาวคาทอลิก ยังคงมีความเป็นอนุรักษ์นิยม และเห็นว่า การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน เป็นเรื่องต้องห้าม


“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” สร้างสังคมเท่าเทียมในประเทศไทย?


สำหรับประเทศไทย หาก ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา และประกาศให้มีผลบังคับใช้เป็น “กฎหมายสมรสเท่าเทียม" จะเป็นประโยชน์ในการมอบสิทธิและความเท่าเทียม ให้แก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ไม่ว่าจะเพศสภาพใด ก็จะสามารถสมรส จดทะเบียนสมรส และเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐที่เป็นประโยชน์ได้ ตัวอย่างเช่น


บุคคลไม่ว่าจะมีเพศสภาพ หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร เมื่อจดทะเบียนสมรสกันก็ถือเป็น "คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย" คำว่า "คู่สมรส" จะไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิงเท่านั้น แต่ครอบคลุมทุกเพศสภาพ ใช้ถ้อยคำที่เป็นกลางทางเพศมากขึ้น เช่น สามี-ภรรยา ปรับเป็น "คู่สมรส", ชาย-หญิง ปรับเป็น "บุคคล", บิดา-มารดา ปรับเป็น "บุพการี"


แน่นอนว่า ทุกบุคคลจะได้รับความเท่าเทียม และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิในการหมั้น, สิทธิจดทะเบียนสมรส, สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญาเช่นเดียวกับสามี-ภรรยา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม, สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิจัดการศพ ,ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล 


คู่สมรสสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลคู่สมรสได้ โดยจะต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี รวมทั้ง มีการปรับอายุขั้นต่ำของบุคคล ในการจดทะเบียนสมรส จากเดิม 17 ปี ขึ้นเป็น 18 ปี เพื่อสอดคล้องกับอนุสัญญาสิทธิเด็ก (หากอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ยังต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม)


“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” สร้างสังคมเท่าเทียมในประเทศไทย?


ความพยายามในการผลักดันกฎหมาย เพื่อปกป้องกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจากการถูกเลือกปฏิบัติในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อ 23 ปีก่อน หรือ ตั้งแต่ยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ  ชินวัตร  โดยเส้นทางสู่การสมรสเท่าเทียม เริ่มต้นจาก  ปี 2544 รัฐบาล นำโดยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เริ่มเสนอแนวคิดให้คนรักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย แต่ต้องยุติลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกระแสสังคมต่อต้าน ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงมองเห็นว่าสังคมไม่พร้อม เรื่องนี้จึงตกไป


ต่อมา ปี 2555 มีคู่รักเพศหลากหลายต้องการจดทะเบียนสมรส แต่ถูกปฏิเสธ จึงได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง  จากนั้นในปี 2556 ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความพยายามให้มีกฎหมายรับรองคู่รัก เพศเดียวกันอีกครั้ง ตามข้อเสนอของประชาชน มีการยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตเพื่อให้ผ่านการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่สำเร็จ ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ครอบคลุมสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเท่ากับ คู่รักชาย-หญิง 


ต่อมาในปี 2557 เกิดรัฐประหาร การผลักดันร่าง พ.ร.บ. จึงยุติลง กระทั่งปี 2563-2566 ในรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนและพรรคการเมือง ขณะเดียวกันกระแสทั่วโลกที่พัฒนาเรื่อง “สมรสเท่าเทียม” ตามหลักความเท่าเทียมก็ชัดเจนมากขึ้น ความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นด้านสิทธิที่สำคัญ และสังคมไทยในปัจจุบันมีการพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอย่างกว้างขวาง และมีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต่อสภาฯ และได้รับการถูกบรรจุวาระแรกในปี 2565 ซึ่งรัฐบาลในยุคนั้น ก็จัดทำกฎหมายอีกฉบับมาประกบ คือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และแม้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะผ่านวาระแรกไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ถูกค้างในสภาฯ ไม่สามารถพิจารณาได้ครบ 3 วาระ เนื่องจากปัญหาสภาล่มบ่อยและถูกวาระแทรกวาระ


ต่อมาในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ถูกหยิบยกเข้าสภาฯ อีกครั้ง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ก่อนที่ ร่าง พ.ร.บ.นี้ จะผ่านการพิจารณาวาระ 2 และ 3  จากสภาฯ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ...ถือเป็นการสิ้นสุดการรอคอยมานานหลายสิบปี


“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” สร้างสังคมเท่าเทียมในประเทศไทย?


ความสำเร็จของการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในแต่ละประเทศทั่วโลก เป็นผลมาจากความพยายามของกลุ่มผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศที่ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค ประกอบกับการเปิดกว้างทางสังคมในประเทศนั้นๆ...แต่หนทางในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศทั่วทั้งโลก ยังถือโจทย์ใหญ่ที่อาจจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านพอสมควร................


เรียบเรียงโดย ปุลญดา บัวคณิศร

ข่าวแนะนำ