โหวตงบฯ 67 ไม่พลิกโผ สส.รัฐบาลตบเท้าลงมติท่วมท้น
“ผ่านวาระ 3 ของที่ประชุมสภาผุ้แทนราษฎรไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท โดยที่ประชุมลงมติด้วยเสียงข้างมาก 298 ต่อ 166 เสียง ผ่านความเห็นชอบวาระ 3 หลังใช้เวลาอภิปรายรวม 3 วัน ขณะที่ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ยืนยันจะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และโปร่งใส”
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งมีทั้งสิ้น 41 มาตรา วาระ 2-3 ระหว่าง วันที่ 20-22 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา แม้จะมี สส.พรรคฝ่ายค้าน อภิปรายท้วงทิงการจัดสรรงบของหลายกระทรวง กันอย่างกว้างขวาง พร้อมขอปรับลดวงเงินบางหน่วยงาน แต่จะเห็นได้ว่า ภาพรวมการประชุมตลอดทั้ง 3 วัน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผลปรากฏว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติ เห็นชอบ 298 เสียง ไม่เห็นชอบ 166 เสียง และมีผู้งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนอีก 1 เสียง จากจำนวนองค์ประชุมทั้งหมด 466 เสียง รวมทั้งมีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกต ของคณะกรรมาธิการฯ 462 เสียง ก่อนที่จะปิดการประชุมในเวลา 17.53 น. วันที่ 22 มี.ค.2567 รวมเวลาพิจารณาตลอด 3 วัน เกือบ 40 ชั่วโมง
ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ขอบคุณสมาชิกทุกคนที่ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุกมิติ
โดยข้อคิดเห็น คำแนะนำและข้อเสนอรวมทั้งความห่วงใยที่ท่านสมาชิกได้เสนอแนะไว้ตลอดระยะเวลาการประชุม รัฐบาลขอรับไว้ด้วยความขอบคุณและจะนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อใช้จ่ายอย่างโปรงใส่ให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากเงินงบประมาณมากที่สุด
ทั้งนี้หากแยกงบประมาณแต่ละกระทรวง ที่จ่ละพรรคได้รับการจัดสรร พบว่า พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาล ซึ่งกำกับดูแล 9 กระทรวงหลัก และ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับการจัดสรรงบฯไปกว่า 2.57 แสนล้านบาท แต่ไฮไลต์อยู่ที่เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 99,500 ล้านบาท ซึ่งปรับเพิ่มจากที่ตั้งไว้จำนวน 1,000 ล้านบาท และเป็นงบฯ ที่ "นายกรัฐมนตรี" มีอำนาจเต็มและขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติเบิกจ่ายได้ โดยไม่ต้องมีการกำหนดรายละเอียด และแผนการใช้จ่ายเงินอย่างชัดเจน
ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 5.17 แสนล้านบาท จาก 4 กระทรวงในกำกับดูแล ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย ศึกษาธิการ แรงงาน, และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งกำกับดูแล 2 กระทรวงหลัก อย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้งบฯ รวมกว่า 6.89 หมื่นล้านบาท ขณะที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ หนึ่งในพรรคที่ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ ทั้ง กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับการจัดสสรงบฯ กว่า 7,300 ล้านบาท ส่วนพรรคประชาชาติ ที่คุมกระทรวงยุติธรรม ได้รับงบกว่า 13,218 ล้านบาท ขณะที่ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่คุมกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับงบไปกว่า 21,767 ล้านบาท
สำหรับผลการลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระ 3 สะท้อนให้เห็นภาพความเป็นเอกภาพของ สส. ทั้งฝั่งรัฐบาล และฝ่ายค้าน และเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี โดยในสัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล พบว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) มี น.ส.สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี ไม่ลงคะแนนเสียง และอีก 6 คน ไม่ปรากฏการลงคะแนนเสียง เช่น น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ สส.มหาสารคาม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ลงมติเห็นด้วยทั้งหมดไม่มี สส.คนใดโหวตสวนมติรัฐบาล ด้านพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มี 3 คน ไม่ปรากฏการลงคะแนน ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรค ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ ส.ส.เพชรบูรณ์ เช่นเดียวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่มี ส.ส.ไม่ปรากฏการลงคะแนน 4 คน เช่น นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) มีนายอนุชา สะสมทรัพย์ ส.ส.นครปฐม งดออกเสียง และนายพาณุวัฒณ์ สะสมทรัพย์ ส.ส.นครปฐม ไม่ปรากฏการลงคะแนน
สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะส่งร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่สภาฯ ผ่านความเห็นชอบแล้ว ไปให้วุฒิสภา พิจารณาเป็นด่านสุดท้าย ในวันที่ 26 มี.ค.นี้ ซึ่งหากผ่านชั้นวุฒิสภาแล้ว นายกรัฐมนตรี จะนำ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามขั้นตอน ซึ่งคาดว่า จะมีผลบังคับใช้ไม่เกินกลางเดือน เม.ย.นี้ ก่อนที่ สภาฯ เตรียมเปิดประชุมสมัยวิสามัญในเดือน มิ.ย. เพื่อพิจารณาร่างงบประมาณปี 2568 ในลำดับต่อไป
ข่าวแนะนำ