สรุปปฏิบัติการ ปิดล้อมป่าเขาบรรทัดล่าตัว ‘แป้ง นาโหนด’
สรุปปฏิบัติการปิดล้อมป่าเขาบรรทัดล่าตัว ‘เสี่ยแป้ง นาโหนด’ นักโทษอุกฉกรรจ์ค่าหัวล้านบาท
16 พฤศจิกายน เข้าสู่วันที่ 9 ของปฏิบัติการล่าตัวนักโทษชาย นายเชาวลิต ทองด้วง หรือเสี่ยแป้ง นาโหนด ที่หลบหนีจากการควบคุมตัวของเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ระหว่างเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชวันที่ 22 ตุลาคม ซึ่งหากนับรวมเวลาที่หลบหนีทั้งหมดจนถึงวันนี้ ได้เข้าสู่วันที่ 25 แล้ว
เสี่ยแป้ง นักโทษหลายคดีถูกย้ายเรือนจำ
นายเชาวลิต หรือเสี่ยแป้ง เป็นชาว ตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2552-2562 มีความเกี่ยวข้องกับคดีอุกฉกรรจ์หลายคดี ส่วนใหญ่เกิดในท้องที่จังหวัดพัทลุง
โดยเสี่ยแป้ง เคยถูกจับกุมในคดีร่วมกับพวกยิงถล่มฆ่า อนันต์ คลังจันทร์ อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้นในปี 2562 เสี่ยแป้งได้ลงสมัครตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง
สำหรับการต้องโทษครั้งนี้เป็นความผิดคดีปล้นทรัพย์ ,ความผิดต่อเสรีภาพ ,พ.ร.บ.อาวุธปืนกำหนดโทษรวม 21 ปี 3 เดือน 25 วัน จะพ้นโทษวันที่ 6 พฤษภาคม 2586
ทั้งนี้มีรายงานว่าเสี่ยแป้งได้ถูกย้ายจากเรือนจำกลางพัทลุง มายังเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 เนื่องจากมีพฤติการณ์เป็นผู้มีอิทธิพล
การหลบหนีจากโรงพยาบาลสู่ป่าลึก บทลงโทษต้นเหตุเรื่องนี้
ย้อนกลับไปวันที่ 20 ตุลาคม เสี่ยแป้งถูกส่งตัวจากเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชไปรักษาทางทันตกรรมตามนัดหมายของแพทย์ที่เลื่อนมาจากก่อนหน้านี้ ที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช แต่ระหว่างรักษาเสี่ยแป้งมีอาการวูบหมดสติจึงต้องแอดมิทที่โรงพยาบาล
วันที่ 22 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันกำหนดส่งตัวเสี่ยแป้งกลับเรือนจำฯ ในกลางดึกวันนั้นเวลาประมาณเที่ยงคืน เสี่ยแป้งสามารถปลดเครื่องพันธนาการได้ และหลบหนีออกจากโรงพยาบาลฯด้วยความช่วยเหลือของนายบอยลูกน้องคนสนิท
3 ชั่วโมงหลังจากนั้นถึงมีการแจ้งความไปที่ตำรวจว่านักโทษรายดังกล่าวหลบหนี
วันที่ 24 ตุลาคม ไม่รอเวลาให้ครบ 2 วันเต็ม มีการเผยแพร่หนังสือจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ถึงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งสั่งให้ ‘ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช’ และ ‘เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง’ รวม 4 ราย เข้าปฏิบัติหน้าที่ประจำกรมราชทัณฑ์ แทนตำแหน่งเดิม
วันที่ 10 พฤศจิกายน หลังเกิดการหลบหนี 20 วัน พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาแสดงความรับผิดชอบถึงเรื่องดังกล่าวด้วยการลงพื้นที่ติดตามตัวเสี่ยแป้งด้วยตัวเองพร้อมระบุว่า
“เรื่องดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากความบกพร่องของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม สาเหตุจากที่ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้ควบคุมตัวผู้ต้องหารายสำคัญออกไปนอกพื้นที่จนเกิดการหลบหนี”
ตลอดเวลาที่เสี่ยแป้งหลบหนีออกจากโรงพยาบาลฯทางกรมราชทัณฑ์ได้ประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือประชาชนและทุกภาคส่วนให้ช่วยแจ้งเบาะแสจับกุมนักโทษรายนี้โดยมีการตั้งค่าหัวเริ่มตั้งแต่ 1 แสนบาทในวันที่ 23 ตุลาคม จนตัวเลขค่าหัวสูงไปถึง 1 ล้านบาท ในวันที่ 28 ตุลาคม
การปะทะวันแรก กับกระแสข่าวการวิสามัญ
วันที่ 8 พฤศจิกายน เริ่มตั้งแต่ช่วง 14.00 น. หลายสื่อ หลายสำนักเริ่มรายงานข่าวปฏิบัติการล่าตัวเสี่ยแป้ง นาโหนดในพื้นที่เขาบรรทัด มีการพูดถึงการยิงโต้ตอบกันระหว่างฝ่ายเจ้าหน้าที่และนักโทษหลบหนีจนนำมาสู่ข่าวการวิสามัญฆาตกรรม
ทั้งนี้การรายงานดังกล่าวสืบเนื่องมาจากผู้ที่อยู่ในพื้นที่รับแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ยิงคนร้ายได้ 1 รายประกอบกับเวลานั้นไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดว่าฝ่ายเสี่ยแป้งมีพรรคพวกมากแค่ไหนจึงคาดว่าผู้ที่ถูกยิงคือเสี่ยแป้ง
จนกระทั่งเวลา 16.00 น.มีการยืนยันจากพล.ต.ท. อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ รักษาราชการแทนผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่อยู่ในพื้นที่จริงว่ายังไม่มีการวิสามัญตัวเสี่ยแป้ง ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าหน้าที่รู้แน่ชัดแล้วว่าเสี่ยแป้งมีอาวุธสงครามเต็มอัตรา อาทิ ปืน M16 จำนวน , Heckler & Koch HK33 และปืนพกสั้นขนาด 9 มม. รวมทั้งเครื่องกระสุนปืนอีกกว่า 600 นัด
ย้อนกลับไปก่อนการปะทะวันที่ 8 พฤศจิกายน ผู้ที่ให้เบาะแสสำคัญกับเจ้าหน้าที่ว่าเสี่ยแป้งใช้เส้นทางเทือกเขาบรรทัดหลบซ่อน คือ นายมนัส หรือ บังเขียว ชาวจังหวัดพัทลุง ลูกน้องของเสี่ยแป้งเอง
นายมนัส ระบุว่าเป็นคนพาเสี่ยแป้งเข้าป่า ขึ้นเทือกเขาบรรทัดไปทางทิศตะวันออก เดินเลย บ้านตระ ข้ามไปฝั่ง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
โดยนายมนัส ถูกจับกุมขณะลงมาหาเสบียงวันที่ 7 พฤศจิกายน จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ให้นายมนัสนำทางไปจุดส่งเสบียงในวันที่ 8 พฤศจิกายน จนเกิดการปะทะกับเสี่ยแป้งตามรายงานข่าว
ภายหลังการปะทะเจ้าหน้าที่กระจายกำลังค้นหามุ่งไปที่พื้นที่บ้านตระ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเท้าระหว่างจังหวัดตรัง-พัทลุง มีเส้นทางเข้าออกด้วยการเดินเท้ารวมทั้งสิ้ง 4 เส้นทาง พร้อมตั้งด่านตรวจสกัดตามแนวเชิงเขาบรรทัดทั้งใน จังหวัดตรัง สตูล และ พัทลุง
การระดมกำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อไล่ล่านักโทษที่คุ้นชินพื้นที่เป็นอย่างดี
ในปฏิบัติการครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่หลากหลายหน่วยงาน หลายร้อยชีวิตกระจายกำลังเพื่อค้นหานักโทษ 1 รายกับกลุ่มผู้ต้องหาที่ช่วยหลบหนี
อาทิ ตำรวจภูธรภาค 8 และ 9 ,เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษหน่วยหนุมาน จากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ,เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ,ชุดปฎิบัติการพิเศษใน จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ,เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดหนุมานศรีตรัง จาก กองกำกับการสืบสวนสอบสวนภูธรจังหวัดตรัง ,เจ้าหน้าที่ตำรวจแดนไทย 54 และ ตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
มีรายงานว่าตัวเลขเจ้าหน้าที่ที่ร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้อาจมีมากถึง 400 นาย แต่ด้วยพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะทำให้ต้องอาศัยความร่วมมือจากชาวบ้าน พรานป่าช่วยระดมกำลังกับเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าเสี่ยแป้งมีความชำนาญในพื้นที่ป่าเขาบรรทัดเป็นอย่างดีเนื่องจากเคยเข้าออกป่าแห่งนี้ก่อนถูกจับกุมบ่อยครั้ง รู้จักคุ้นเคยกับคนในพื้นที่และสร้างบ้านพักไว้ตั้งแต่ช่วงปี 2564 จึงคาดว่าเป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้าว่าถ้าหากถูกจับกุมจะหลบหนีมากลบดานในพื้นที่ดังกล่าว
จากการเข้าค้นที่พักของเสี่ยแป้งเจ้าหน้าที่พบ อาวุธปืน กระสุน ยาเสพติด อุปกรณ์สำหรับเดินป่า ยารักษาโรค และชุดที่หลบหนีออกจากโรงพยาบาลฯ
พื้นที่ป่ากว่า 7 แสนไร่ครอบคลุม 4 จังหวัด อุปสรรคในการล่าตัว
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดพัทลุง จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา มีพื้นที่ประมาณ 791,847 ไร่ หรือ 1,267.16 ตารางกิโลเมตร วางตัวแบ่งระหว่างภาคใต้ฝั่งตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ครอบคลุม 12 อำเภอ 4 จังหวัด ดังนี้
1. จังหวัดพัทลุง เนื้อที่ประมาณ 265,625 ไร่ หรือประมาณ 425 ตารางกิโลเมตร มี 25 หมู่บ้าน 8 ตำบล 4 อำเภอ
2. จังหวัดตรัง เนื้อที่ประมาณ 259,375 ไร่ หรือประมาณ 415 ตารางกิโลเมตร มี18 หมู่บ้าน 5 ตำบล 3 อำเภอ
3. จังหวัดสตูล เนื้อที่ประมาณ 210,000 ไร่หรือประมาณ 336 ตารางกิโลเมตร มี8 หมู่บ้าน 6 ตำบล 4 อำเภอ
4.จังหวัดสงขลาเนื้อที่ประมาณ 56,976 ไร่ หรือประมาณ 91 ตารางกิโลเมตร มี5หมู่บ้าน 2 ตำบล 1 อำเภอ
สำหรับสภาพป่าเป็นป่าดงดิบชื้น มีภูเขาสูงวางตัวสลับซับซ้อน เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก และเป็นแหล่งต้นน้ำทะเลสาบสงขลา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน -มกราคม ถือเป็นช่วงที่อุณหภูมิต่ำสุด
ด้วยขนาดพื้นที่ที่กว้างและลักษณะป่าที่ลึก ครึ้ม มีเขาชัน อากาศเปลี่ยนแปลงจากช่วงท้ายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้ปฏิบัติการครั้งนี้ของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยมีรายงานว่ากำลังพลหลายนาย บาดเจ็บจากทากกัด ยุงป่า ถูกต่อต่อยจนเกิดอาการชัก หลายรายเหนื่อยล้าจากการเดินระยะไกลและเป็นไข้จากอุณภูมิที่แปรปวน