22 ส.ค.ลุ้นโหวต “เศรษฐา” ฝ่าด่าน สว.นั่งนายกฯ คนที่ 30
“เป็นที่ชัดเจนว่า “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะเสนอชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” 1 ใน 3 แคนดิเดตของพรรค ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งหากเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่วิป 3 ฝ่าย หารือกัน คาดว่าคนไทยน่าจะได้เห็นโฉมหน้า “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” อย่างเป็นทางการ ไม่เกินเวลา 17.30 น.ของวันที่ 22 ส.ค. นี้”
ลากยาวมานานกว่า 3 เดือน กับเกมการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ล่าสุด "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" ประธานสภาผู้แทนราษฎร เคาะวันโหวตนายกฯ รอบ 3 ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ตีตกไม่รับคำร้องส่งชื่อ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ รอบ 2 ในสมัยประชุมเดียวกัน เนื่องจากผู้ร้องเป็นประชาชนไม่ได้เป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิโดยตรง
การประชุมร่วมกันระหว่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กับตัวแทนของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิป วุฒิสภา) และตัวแทนพรรคการเมืองขั้วแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงพรรคการเมืองฝ่ายเสียงข้างน้อย เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2566 ได้วางกรอบแนวทางการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 22 ส.ค. มีวาระสำคัญ คือ การลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ซึ่งภายหลังการเสนอชื่อบุคคลต่อรัฐสภา จะเปิดให้มีการอภิปรายประเด็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ โดยกำหนดเวลาการอภิปราย 5 ชั่วโมง แบ่งเป็น สส. 3 ชั่วโมง และ สว. อีก 2 ชั่วโมง ก่อนจะมีการลงมติไม่เกินเวลา 15.00 น. และคาดว่า จะเสร็จสิ้นการลงมติ ในเวลา 17.30 น.
ที่สำคัญคือ ทั้ง 3 ฝ่ายเห็นพ้องเป็นข้อตกลงร่วมกันว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อต้องมาแสดงวิสัยทัศน์และ ข้อบังคับในการประชุมก็ไม่มีข้อกำหนด ว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ ประกอบกับที่ประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในการร่างข้อบังคับของรัฐสภาเมื่อปี 2563 ได้มีการแสดงเจตนารมณ์ว่า ไม่ต้องให้แสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งมีรายละเอียดการประชุมชัดเจนในวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 โดยมีมติของที่ประชุม คือวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ซึ่ง กมธ.เสียงข้างมาก เห็นตามข้อบังคับ ที่ 36 ว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อไม่ต้องมาแสดง วิสัยทัศน์
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยยืนยันถึงความพร้อมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยบอกว่า “ ปัจจุบันคณะเจรจาได้มีการเจรจากับหลายพรรคการเมือง และมีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดี โดยมีพรรคการเมืองตอบรับว่าจะโหวตสนัสนุน ดังนั้น หากได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทยในวันที่ 22 ส.ค.นี้ก็มีความพร้อมขณะเดียวกันก็หวังว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. เพราะการกระทำและการชี้แจงของตนเองเป็นที่ประจักษ์ ว่า มีความตั้งใจจริง เพื่อนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน พร้อมย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน”
ท่ามกลางการชิงธงจัดตั้งรัฐบาล ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ พร้อมเสนอชื่อ "เศรษฐา ทวีสิน” สู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี นับจากนี้คงต้องมองข้ามช็อตไปยังการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรี ว่าจะเป็นเกมร้อนที่สร้างรอยร้าวจนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลในอนาคตหรือไม่... เพราะหากจับอาการแกนนำพรรคร่วมหลายพรรค ส่งสัญญาณตรงกันว่า ต้องเคลียร์เก้าอี้รัฐมนตรีให้จบก่อนโหวตนายกฯ นั่นหมายความว่า ต้องจบเกมก่อนวันที่ 22 ส.ค. แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ ท่วมทำนองของ สว. ที่เคยทำตัวเป็นด่านหินสกัด "พิธา" ให้หลุดจากกระดานอำนาจไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมามี สว.บางคนออกมาโยนหินถามทาง พูดถึงชื่อแคนดิเดต นายกฯ คนอื่นๆ ไม่จะเป็น "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตรแคนดิเดตหญิง 1 เดียวของพรรคเพื่อไทย หรืออาจจะไหลไปถึง พรรคอันดับ 3 “อนุทิน ชาญวีรกูล” ....เพราะการเมืองไม่ใช่แค่ 1+1 เท่ากับ 2 แต่อยู่ที่ข้อตกลงว่า เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายหรือไม่
เรียบเรียงโดย
ปุลญดา บัวคณิศร