“ไตปลาแห้งเตาถ่าน” นิเวศการเรียนรู้ใหม่ เพิ่มทักษะคนพิการ
“ไตปลาแห้งเตาถ่าน” ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารของคนพิการ สร้างทักษะและพัฒนาศักยภาพ ร่วมออกแบบ “ระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่” ดึงเครือข่าย ชุมชน สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ร่วมกันออกแบบการศึกษาแบบใหม่
“ จะกลับไปขายไตปลาแห้งที่ กำแพงเพชร “ นางสาวฐิตา สำเภารอด อายุ20 ปี เยาวชนของศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการจังหวัดนครศรีธรรมราช กับความมุ่งมั่นที่จะไปประกอบอาชีพ ทำไตปลาแห้งเตาถ่านขายที่กำแพงเพชรบ้านเกิด หลังได้รับการอบรม เรียนรู้การแปรรูปอาหาร
“ไตปลาแห้งเตาถ่าน” เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารของศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ได้รับทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้ามาช่วยพัฒนาทักษะการแปรรูปอาหารของผู้พิการ
“แหวว” เป็นหนึ่งในเยาวชนจากจำนวน50 คนที่เข้าร่วมโครงการฯ จากเด็กในศูนย์ฯทั้งหมด 70 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิการทางด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ “แหวว”ได้รับการอบรมการแปรรูปอาหาร พร้อมกับการพัฒนาด้านทักษะอื่นๆที่ทำให้ “แหวว” สามารถที่จะสื่อสารกับคนภายนอก และขายสินค้าของศูนย์คนพิการฯผ่านทางออนไลน์ ได้
นางสาวอรอนงค์ คำแหง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า หลังจากจบโครงการฯผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ กล่าวว่า
สิ่งที่เห็นคือ ในส่วนของคนพิการได้เรียนรู้ การทำแปรรูปอาหารได้อย่างถูกต้องส่วนเจ้าหน้าที่ก็ได้ เรียนรู้และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กมากขึ้น ทั้งในส่วนของการใช้ทักษะทางสังคมและการใช้ชีวิต ร่วมกันในศูนย์ฯ ปัญหา พฤติกรรมต่างๆ ก็ลดลง
อย่างไรก็ตาม แม้เป้าหมายของเราคือ การฝึกอาชีพเพื่อให้เขา เลี้ยงตัวเองได้ อยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ และสามารถออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้ ดังนั้นการจะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกสร้างอาชีพด้วยตนเอง เรา ก็ต้องมั่นใจว่า เมื่อเขาออกไปแล้ว เขาจะไม่เป็นภาระของใคร ซึ่งในโครงการระยะที่สอง ที่จะมีการพัฒนาทักษะทางด้านสังคมมากขึ้น จะเน้นเปิดกับสังคมมากขึ้น
นางวิสาขะ อนันธวัช อายุ 54 ปี สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการฯบอกว่า หลังได้รับอนุมัติทุนจากกสศ. ก็ได้ชวนนักศึกษา มาร่วมทำงานด้วยพร้อมกับดึงผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเช่น ธนาคารออมสิน ดูเรื่องการเงิน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มาดูเรื่องสุขภาวะให้เด็ก และอาจารย์ที่มีความชำนาญด้านการขาย มาให้ความรู้ในการหาตลาด และรูปแบบผลิตภัฑณ์ พร้อม ดึงภาคเอกชนที่มีความถนัดในการทำอาหาร แปรรุปอาหาร เช่น เบเกอรี่เจ้าดังของนครศรีธรรมราช มาช่วยสอน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือจากทุกๆภาคส่วนในการทำงานร่วมกัน
ดังนั้นเมื่อต้องมาให้ความรู้ฝึกทักษะกับเยาวชนที่เป็นผู้พิการก็ต้องปรับวิธีการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน เป็นการสอนผสมผสานระหว่างกิจกรรมสันทนาการ “ ร้อง เต้น เล่นเกม พูดคุย “ กับการฝึกทักษะการทำอาหารหลากหลายชนิด ซึ่งอาหารที่ฝึกแปรรูปก็ต้องมาจากความต้องการของผู้เรียนที่เสนอมา
“ทุกครั้งที่จะเริ่มทำการสอน จะต้องถามก่อนว่า เขาอยากทำอะไร เช่น อยากกินเบอร์เกอร์ หรือ ชูชิ ถ้าเขาอยากทำ เขาจะชอบ เพราะเราสังเกตว่า ถ้าสิ่งไหนที่เขาไม่ชอบ เขาจะไม่ทำ และการสอนต้องทำซ้ำๆ เพราะน้องจะลืม แต่เราจะเข้าใจเขา ดังนั้นเราจะสอนซ้ำ ๆ ครั้งที่หนึ่ง ครั้งสอง ครั้งสามหรือครั้งที่สี่”
พร้อมกำชับพี่เลี้ยงว่าเด็กๆทุกคนต้องได้ทำเองทุกขั้นตอน อย่าไปคิดว่าน้องทำไม่ได้ น้องทำได้ เพราะเราเจอว่า น้องบางคนจะไม่มี
โอกาสได้ทำอะไร และพี่เลี้ยงต้องไม่ทำแทนน้อง
ดร.วิสาขะ กล่าวว่า หลังจากจบโครงการสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนขึ้นคือ การทำงานของผู้ช่วยวิจัยดีขึ้น ทำงานเป็น และทัศนคติที่เขามองคนพิการก็เปลี่ยน และที่สำคัญเด็กพิการ จากวันแรกที่มาสอนจนกระทั่งวันที่จบเด็กมีพัฒนาการ เราภาคภูมิใจในความเป็นเขา เขาได้อะไรเยอะพอสมควร และพี่เลี้ยงศูนย์ฯ ก็เปลี่ยนมุมมองในการมองเด็ก หลังผ่านการฝึกทักษะ 6เดือน กลุ่มผู้พิการสามารถสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูป สามารถยืดอายุผลิตภัณฑ์ไตปลาแห้งได้นานขึ้นจาก 3 วันเป็น 90 วัน