TNN ปรับขึ้นกี่บาท? "ค่าแรงขั้นต่ำ" ความหวังแรงงานไทยทั่วประเทศ

TNN

TNN Exclusive

ปรับขึ้นกี่บาท? "ค่าแรงขั้นต่ำ" ความหวังแรงงานไทยทั่วประเทศ

ปรับขึ้นกี่บาท? ค่าแรงขั้นต่ำ ความหวังแรงงานไทยทั่วประเทศ

ปรับขึ้นกี่บาท? "ค่าแรงขั้นต่ำ" ความหวังแรงงานไทยทั่วประเทศ พร้อมดูอัตราค่าจ้างปัจจุบัน แต่ละจังหวัดได้รับคนละกี่บาทต่อวัน

ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับพี่น้องผู้ใช้แรงงานไทยทั่วประเทศกับการส่งสัญญาณในครั้งนี้ หลังจากประเทศไทยเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น 

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเดือนกันยายนนี้กระทรวงแรงงาน จะนำข้อเสนอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จากเดิมกำหนดไว้ช่วงต้นปี 2566 

ซึ่งบรรดาผู้ใช้แรงงานมีความหวังว่าการปรับขึ้นค่าแรงควรจะยึดถือเท่ากันทุกจังหวัด เพื่อให้เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีช่วงต้นเดือนกันยายน

จากประเด็นเรื่องนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ออกมาเปิดเผยถึงการนำเสนอเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2565 ให้ได้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2565 

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหารือกับสภานายจ้างว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับให้เร็วขึ้น เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวไปแล้ว โดยมอบนโยบายให้ปลัดกระทรวงแรงงานประชุมคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัด ซึ่งขณะนี้ประชุมครบทุกจังหวัดแล้ว และได้ตัวเลขมาหมดแล้ว จะต้องทำให้จบภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะมีการเกลี่ยตัวเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าแรงของแต่ละจังหวัดให้เหมาะสม ซึ่งข้อเท็จจริงตัวเลขแต่ละจังหวัดต่างกัน 1-2 บาท และแบ่งเป็นหลายช่วง กำลังปรับขึ้นให้อยู่โดยจะทำทั้งหมด 12 ช่วง

ตัวเลขขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะไม่เท่ากันทุกจังหวัด

สำหรับตัวเลขจะไม่เท่ากันทุกจังหวัด และเป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นพร้อมกันทุกจังหวัด เพราะผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) แต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน ส่วนตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-8 มีพื้นฐานการตั้งตัวเลขมาจากจีดีพีและภาวะเงินเฟ้อ 

การขึ้นค่าแรงต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ค่าของชีพของแต่ละจังหวัด ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มองว่าเป็นเรื่องช่วงเวลา 


ปรับขึ้นกี่บาท? ค่าแรงขั้นต่ำ ความหวังแรงงานไทยทั่วประเทศ ภาพจาก AFP

 

ภาคเอกชนเห็นด้วยให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมาเปิดเผยเรื่องดังกล่าวเช่นกันว่า แนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก ร้อยละ 5-8 เชื่อว่าภาคเอกชนเองเห็นด้วยที่จะให้ปรับขึ้นค่าแรง 

ปัจจุบันจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบ้างแล้ว และเชื่อว่าหากปรับค่าแรงขึ้นแรงงานที่จะได้ 5-8 ล้านคน จะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงบวก และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ร้อยละ 0.1 - 0.2 โดยมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เดือนละ 1,500-2,400 ล้านบาท หรือปีละกว่า 20,000-30,000 ล้านบาท

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการตั้งแต่ ร้อยละ 5-20 เมื่อต้นทุนสูงขึ้นก็จะส่งต่อไปยังผู้บริโภค ดังนั้นการปรับค่าแรงขั้นต่ำต้องพิจารณาให้รอบคอบ

ปรับในระดับ 3-4% สามารถปรับขึ้นได้และมีความเป็นไปได้

ด้านมุมมองของนายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) เปิดเผยว่า สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม คาดว่าถ้าปรับในระดับ 3-4% สามารถปรับขึ้นได้และมีความเป็นไปได้ในระดับที่ไม่สูงมากนัก หากขึ้นระดับสูงผู้ประกอบการจะเดือดร้อน เพราะธุรกิจไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และคนที่เดือดร้อนก็คือลูกจ้าง 

นอกจากนี้ จากกระแสข่าวอัตราค่าจ้างจะขึ้นระดับ 5-8% ต้องดูความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการไตรภาคีกำลังหารือและพิจารณาถึงตัวเลขที่เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันนายจ้างมีปัญหาพอสมควร และพยายามปรับตัว โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ

ดังนั้น ตัวเลขที่จะออกมาต้องเหมาะสม และมองว่าอัตราค่าแรงงานที่เตรียมปรับขึ้น 5-8% เป็นกรอบอัตราที่ค่อนข้างสูง ถ้ามองกลางๆ 3-5% ค่อนข้างเหมาะสม อีกทั้ง ไม่อยากให้มองเรื่องค่าแรงเป็นหลัก อยากให้มองเรื่องการทำงานที่ดีขึ้นสำหรับการทำงานมากกว่า

ทั้งนี้ การพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้กำหนดพื้นที่นำร่อง ได้แก่ พื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูง

ส่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน ที่มีการประกาศบังคับมาใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 อยู่ระหว่าง 313-336 บาท แตกต่างไปตามพื้นที่เศรษฐกิจ ถ้าหสกเทียบแล้วเป็นระยะเวลาถึง 2 ปี โดยยังไม่ได้มีการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ตารางค่าแรงขั้นต่ำ ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง (ฉบับที่ 10) 

ค่าแรงขั้นต่ำ 
(บาท/วัน)
จังหวัด
336 ชลบุรี และภูเก็ต
335 ระยอง
331กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
330ฉะเชิงเทรา
325กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี
324ปราจีนบุรี
323กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม
320กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ พะเยา ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์
315กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อุทัยธานี และอำนาจเจริญ
313นราธิวาส ปัตตานี และยะลา


แน่นอนว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ พี่น้องแรงงานไทยต่างคาดหวัง เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการปรับขึ้นเลยมาเป็นเวลาถึง 2 ปี ซึ่งเสียงเรียกร้องที่แรงงานไทยคือต้องการให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาทให้เท่ากันทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะค่าครองชีพ งานนี้จะเป็นเช่นนั้นได้หรือไม่ต้องรอผลการพิจารณากันต่อไป

ข่าวแนะนำ