ดอกเบี้ยบ้าน 2565 จะปรับขึ้นแค่ไหน หากธนาคารปล่อยลอยตัว?

ดอกเบี้ยบ้าน 2565 จะปรับขึ้นแค่ไหน หากธนาคารปล่อยลอยตัว?

สรุปข่าว

ดอกเบี้ยบ้าน 2565 ยังเป็นเรื่องที่หลายคนจับตา เพราะอาจจะกำลังมองหาบ้านหลังแรกหรือบ้านหลังใหม่  อีกทั้งก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาบ้างแล้วว่า บางธุรกิจได้ปรับอัตรา ดอกเบี้ยเงินกู้ มาเป็นรูปแบบลอยตัวแล้ว  แต่หลายคนน่าจะยังไม่เข้าใจว่า อัตราดอกเบี้ยลอยตัวนั้น หมายความว่าอะไร และถ้าปล่อยลอยตัวแล้ว จะมีผลกระทบอย่างไรในฐานะผู้ขอสินเชื่อ วันนี้ TNN ONLINE จะพาไปทำความเข้าใจกัน


ดอกเบี้ยเงินกู้มีหลายประเภท

ดอกเบี้ยเงินกู้ มักอยู่ในลักษณะร้อยละต่อปี ซึ่งผู้ให้กู้ เช่น ธนาคาร หรือบริษัทเรียกเก็บจากผู้กู้เพื่อเป็นผลตอบแทนจากการให้กู้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีหลายประเภท หลายอัตรา โดยทั่วไปขึ้นอยู่กับประเภทของเงินกู้หรือสินเชื่อ ซึ่งในที่นี้ผู้ให้กู้หมายถึง สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non-bank ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่พบบ่อยๆได้แก่

  • MLR (Minimum Loan Rate)

    หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี เช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ
  • MOR (Minimum Overdraft Rate)

    หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี
  • MRR (Minimum Retail Rate)

    หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย


ซึ่งอัตรา ดอกเบี้ย ทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมา เป็นอัตราที่ธนาคารพาณิชย์ใช้อ้างอิงในการเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้จากลูกค้า ซึ่งมีลักษณะเป็น ดอกเบี้ยลอยตัว 

ทั้งนี้ธนาคารอาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บสำหรับสินเชื่อประเภทต่าง ๆ โดยบวกอัตราเพิ่มหรือลดเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเหล่านี้ เช่น MLR +/- x%


ดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่และแบบลอยตัว ต่างกันอย่างไร? 


อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate)
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate)
หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวเลขเฉพาะ ไม่ขึ้นหรือลงตามต้นทุนของสถาบันการเงิน คงที่ตลอดอายุสัญญาเงินกู้หรือในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น กำหนดให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี เป็นเวลา 4 ปี
หมายถึง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะประกาศออกมาเป็นคราว ๆ ไป เช่น อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เช่น MLR MOR MRR

ข้อมูลจาก : ศคง ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย


ทำไมอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เช่น MLR ของแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน

นั่นก็เป็นเพราะต้นทุนของธนาคารแต่ละแห่งไม่เท่ากัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก สภาพคล่อง อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ธนาคารต้องดำรง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงในแต่ละช่วงเวลา  นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติธนาคารก็มักจะใช้ MLR กับทั้งลูกค้ารายใหญ่และรายย่อย

ทำไมอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงมีบวกหรือลบต่อท้ายด้วย เช่น MLR + X% และทำไม X% ของลูกค้าแต่ละรายจึงไม่เท่ากัน

ธนาคารจะพิจารณาจากความสามารถการชำระหนี้ของผู้กู้ โดยหากผู้กู้มีความเสี่ยงสูง เช่น ฐานะทางการเงินไม่ค่อยมั่นคง ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น (X%) จากอัตราอ้างอิง เพื่อชดเชยความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายที่อาจแตกต่างกันไป หรือหากผู้กู้มีความเสี่ยงต่ำ ธนาคารอาจคิดดอกเบี้ยที่ถูกกว่าอัตราอ้างอิงก็ได้ เช่น MLR + X% ซึ่ง X% ของลูกค้าแต่ละรายจึงไม่จำเป็นต้องเท่ากัน และยังขึ้นกับดุลพินิจ หลักเกณฑ์ และวิธีการพิจารณาสินเชื่อที่แตกต่างกันไปของธนาคารแต่ละแห่ง ดังนั้น เราควรสอบถามธนาคารที่เราสนใจหลาย ๆ แห่ง และนำมาพิจารณาเปรียบเทียบว่าธนาคารแห่งไหนมีเงื่อนไขที่ดีและเหมาะสมกับเรามากที่สุด


ดอกเบี้ยบ้าน 2565 จะปรับขึ้นแค่ไหน หากธนาคารปล่อยลอยตัว?

ภาพจาก : AFP


ถ้าแบงก์ปล่อยลอยตัวดอกเบี้ยบ้าน จะส่งผลอย่างไร

จากทิศทางอัตรา ดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งบรรดานายแบงก์ต่างก็ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ "สินเชื่อบ้าน" ตามมา เพราะหากปรับอัตราดอกเบี้ยแบบ ดอกเบี้ยบ้านลอยตัว แน่นอนว่ามีผลกระทบต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากการที่ผู้บริโภคต้อง "ผ่อนชำระค่างวดเพิ่มขึ้น" 


แต่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อลูกค้าธนาคารที่เป็นสัญญารายใหม่ ยกตัวอย่างเช่น หาก กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% กรณีวงเงินสินเชื่อบ้าน 1 ล้านบาท ยอดชำระ 4,500 บาทต่อเดือน จะส่งผลให้ยอดผ่อนชำระเพิ่มขึ้น 4-5% หรือประมาณ 250 บาทต่อเดือน ทำให้ยอดผ่อนเพิ่มขึ้นเป็น 4,750 บาทต่อเดือน เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้น ดอกเบี้ยบ้าน นั้น ก็จะไม่ได้ปรับในทันที เพราะโดยปกติจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนใกล้กัน หรือเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะมีการปรับหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 1-2 เดือน โดยช่วงที่ผ่านก็มีหลายธนาคารทยอยถอดแคมเปญดอกเบี้ยคงที่ออก เช่นเดิมที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก ก็ทยอยหายไป และเหลือเสนอดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 6-12 เดือน หรือพิจารณาเป็นรายกรณี  ขณะเดียวกันยังมีผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์หลังจากนี้ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้นด้วย



เชื่อว่าหลายคนน่าจะเริ่มตัดสินใจกันใหม่แล้วว่าจะซื้อบ้านเร็วขึ้นดีไหม? แต่หากใครที่ยังลังเลอยู่ ก็แนะนำให้ไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่สินเชื่อจากหลายๆธนาคาร พิจารณาข้อเสนอที่คิดว่าตอบโจทย์และคุ้มค่ามากที่สุด เพราะอย่าลืมว่า สินเชื่อบ้าน เป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่จะเป็นภาระของเราไปอีกนาน ต้องวางแผนและตัดสินใจให้รอบคอบมากที่สุด.



อ้างอิงข้อมูล : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาพจาก  TNN ONLINE






ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

ดอกเบี้ยบ้าน2565
ดอกเบี้ยบ้านดอกเบี้ยดอกเบี้ยเงินกู้
ดอกเบี้ยธนาคาร
ดอกเบี้ยสินเชื่อ
สินเชื่อบ้านสินเชื่อเงินกู้