สงครามเพิ่มดีกรีความเสี่ยง สำนักวิจัยเรียงหน้าหั่นจีดีพีไทย
สงครามรัสเซีย-ยูเครนซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยทรุด สำนักวิจัยตบเท้าหั่นจีดีพีไทยลง อีกครั้ง ส่วนค่ายไหนจะเหลือตัวเลขการเติบโตเท่าไรนั้น ตามไปดูกันเลย
วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครนฉุดเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเข้าสู่โหมดชะลอตัวลงอีกครั้ง หลังผลการเจรจาสันติภาพ ยังไร้วี่แววได้ข้อยุติ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่พยายามจะฟื้นตัวจากโควิด หลังที่อมโรคมากว่า 2 ปี โดยแม้ว่าผลกระทบทางตรงจากสงคราม จะยังส่งมาถึงไทยไม่มากนัก แต่ผลกระทบทางอ้อมในเรื่องราคาพลังงานและเงินเฟ้อ กลายเป็นประเด็นที่หน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐบาล นักเศรษฐศาสาตร์ ตลอดไปจนถึงชาวบ้านร้านตลาด ต่างสัมผัสถึงแรงกดดันที่ก่อตัวขึ้นได้อย่างชัดเจน
ขณะที่สัญญาณต่างๆ ในตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งสะท้อนผ่านการปรับตัวลงของสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ตลอดจนการกลับมาดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) และประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย เพื่อสกัดกั้นและรับมือกับผลกระทบของเงินเฟ้อ ก็เป็นตัวชี้ให้เห็นว่า วิกฤติจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน คงเป็นหนังเรื่องยาวที่จะสร้างผลกระทบต่อไปในวงกว้าง
ซึ่งในสวนของไทยเอง ด้วยเศรษฐกิจที่พึ่งพิงแรงส่งจากต่างประเทศสูง จึงไม่น่าเแปลกใจที่จะเห็นสำนักเศรษฐศาสตร์ของภาครัฐและเอกชน เริ่มออกมาประกาศปรับลดคาดการณ์จีดีพี
ของไทยกันเป็นกันเป็นทิวแถว
เริ่มจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% ต่อปี (ค่ากลางที่ 3%) ลดลงมาจากเดิมที่เคยประเมินไว้ 3.5-4.5% (ค่ากลางที่ 4%) จากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่คาดจะสูงถึง 4.2-5.2% รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง
สำหรับเครื่องยนต์หลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ การส่งออก คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 3.5% และการท่องเที่ยว ที่ประเมินว่าในปีนี้จะทำได้ 7 ล้านคน หลังจากรัฐบาลได้มีการปรับมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ (Test & Go) โดยคาดว่าในไตรมาส 4 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เพราะมีผลต่อราคาพลังงาน และต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ย และข้าวสาลี ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่วิจัยกรุงศรี ปรับลดจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิมคาด 3.7% จากการสู้รบในยูเครนที่อาจยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2 หลังชาติตะวันตกดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรุนแรงขึ้น รวมถึงปรับลดมูลค่าการส่งออกปีนี้เหลือโต 2.6% จาก เดิมคาด 5% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 5.5 ล้านคน จากเดิมคาด 7.5 ล้านคน
เช่นเดียวกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่หั่นจีดีพีลดลงเหลือ 2.9% จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 3.7% และปรับคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มเป็น 3.8% จากเดิมที่ 2.1% ภายใต้สมมุติฐานสถานการณ์รัสเชีย-ยูเครนสามารถเจรจาได้ข้อยุติภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ราคาน้ำมันดิบดู ไบเฉลี่ยอยู่ที่ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล และประเทศตะวันตกมีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียตลอดทั้งปี
แต่หากสถานการณ์เลวร้ายกว่านั้น คือยังเห็นการสู้รบอยู่ในบางพื้นที่ของประเทศยูเครน และการเจรจายังมีความเป็นไปได้ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 105 ดอลลาร์/บาร์เรล และประเทศตะวันตกมีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียตลอดทั้งปี จีดีพีของไทยปีนี้จะลดลงไปอยู่ที่ 2.5% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเป็น 4.5%
ขณะที่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ปรับจีดีพีเติบโต 2.5-4.0% ลดลงจากเดิมที่คาดจะขยายตัว 2.5-4.5% ขณะที่เงินเฟ้อปรับขึ้นเป็น 3.5-5.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.0-3.0%
โดยผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อและยังรุนแรง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดิบมีโอกาสสูงเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สินค้าเกษตรและโลกก็ปรับสูงขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปยังระดับราคาสินค้า ซึ่งเริ่มกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน
ด้านสำนักเศรษฐศาตร์ต่างประเทศก็ไม่ตกเทรนด์ เพราะเล็งเห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากทั้งพิษโควิดโอมิครอน และสงครามยูเครนเช่นกัน โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) คาดว่าจีดีพีของไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4% ขณะที่ปี 66 จะขยายตัว 4.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.3% ก่อนจะลดลงในปี 66 มาอยู่ที่ 2.2%
ปิดท้ายที่ ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) ได้ปรับลดจีดีพีไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.9% จากที่คาดไว้ 3.9% จากความเสี่ยงในต่างประเทศ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในยูเครน ที่ส่งผลต่อราคาพลังงานโลก ซึ่งในกรณีเลวร้ายจีดีพีไทยอาจขยายตัวได้เพียง 2.6%
โดยเศรษฐกิจไทยยังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยลบรอบด้าน และยังคงต้องใช้มาตรการการคลังที่สนับสนุนการเติบโตต่อไป ส่วนประเด็นที่น่ากังวล คือปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของจีดีพี เนื่องจากเงินเฟ้อที่แรงตัวขึ้น ขณะที่รายได้ของกลุ่มคนระดับล่างและเปราะบางยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อาจซ้ำเติมให้ปัญหาหนี้สินของคนกลุ่มนี้รุนแรงขึ้น
ขณะที่มาตรการด้านการเงินควรทำควบคู่ เช่น มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้เพื่อต่อลมหายใจให้ภาคธุรกิจและลูกค้าสามารถประคับประคองฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ ในระหว่างรอสปีดเครื่องยนต์ท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุน ส่งออก กลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจเฟื่องฟูอีกครั้ง
ที่มา TNN ONLINE รวบรวม
ภาพประกอบ พิกซาเบย์