เทคโนโลยี "ปอดในกล่อง" พลิกโฉมการปลูกถ่ายปอด สร้างชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วย
เทคโนโลยี "ปอดในกล่อง" เป็นนวัตกรรมในการช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนมากทั่วโลก แก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะ และเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยโรคปอดขั้นรุนแรง
เกิดความก้าวหน้าครั้งสำคัญในวงการแพทย์ เมื่อโรงพยาบาลรอยัลพาพเวิร์ธ (Royal Papworth Hospital) ในเมืองเคมบริดจ์เชียร์ (Cambridgeshire) สหราชอาณาจักร ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีปอดในกล่อง (XPS system) มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคปอดขั้นรุนแรง เทคโนโลยีสุดล้ำนี้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนปอดบริจาค และเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้ผู้ป่วยที่รอคอยการปลูกถ่าย
ก่อนหน้านี้ปอดที่ได้จากการรับบริจาคและสามารถนำไปใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะได้มีน้อยมาก และกว่าร้อยละ 81 ถูกปฏิเสธ เนื่องจากส่วนใหญ่ปอดที่ได้รับมามีการอักเสบ เทคโนโลยีปอดในกล่อง หรือ XPS System จึงมีบทบาททางการแพทย์อย่างมีนัยสำคัญ
ที่มาของภาพ:NSH-Royal Papworth Hospital
ระบบ "XPS System" ทำงานอย่างไร?
เพื่อรักษาปอดที่ได้รับบริจาคให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด เทคโนโลยี XPS จะจำลองสภาพแวดล้อมการเก็บรักษาปอดให้คล้ายสภาพเเวดล้อมภายในร่างกายมนุษย์ให้เหมือนที่สุด ก่อนจะนำเข้าไปปลูกถ่ายจริงโดยใช้วิธีการฟอกเลือดและเติมอากาศให้ปอดภายนอกร่างกาย (Ex-Vivo Lung Perfusion - EVLP) ทำให้ปอดสามารถคงสภาพที่ดีได้นานสูงสุดถึง 6 ชั่วโมง
เทคโนโลยีใหม่นี้ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินสภาพของปอดได้อย่างละเอียดก่อนการปลูกถ่าย ทำให้การปลูกถ่ายประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยหากผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายปอดที่มีคุณภาพดี จะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนหลังการปลูกถ่าย และสามารถช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้อีกด้วย
นับเป็นก้าวสำคัญของพัฒนาวงการปลูกถ่ายอวัยวะ หลังจากแดเนียล อีวาน สมิทธิ์ (Daniel Evans-Smith) วัย 49 ปี จากเมืองนอร์ธแธมป์ตั้น (Northampton) ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ซึ่งใช้เวลารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมาแล้วกว่า 6 เดือน คือหนึ่งในผู้โชคดีที่ได้รับการปลูกถ่ายปอดทั้งสองข้าง โดยใช้เทคโนโลยี XPS โดยเขาเล่าว่ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ และการปลูกถ่ายครั้งนี้ได้เปลี่ยนชีวิตของเขาไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมาก
ที่มาของภาพ: NSH-Royal Papworth Hospital
คาดว่าเทคโนโลยีนี้มีแนวโน้มที่จะช่วยเพิ่มจำนวนปอดที่สามารถนำไปใช้ในการปลูกถ่ายได้มากขึ้น และสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคปอดจำนวนมากได้ในอนาคต
ที่มาของข้อมูล: BBC , Medical Device Network
ข่าวแนะนำ