ยาน Parker Solar Probe โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดสำเร็จ
ยาน Parker Solar Probe โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดสำเร็จระยะ 6.1 ล้านกิโลเมตร
วันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา หรือวันคริสต์มาสอีฟ ยานอวกาศ Parker Solar Probe ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ การทำสถิติครั้งนี้ของยานอวกาศ Parker Solar Probe ใช้การบินเข้าไประยะใกล้เพียง 6.1 ล้านกิโลเมตร จากดวงอาทิตย์ โดยยานต้องพบกับความร้อนระอุของชั้นบรรยากาศภายนอกของอาทิตย์ หรือชั้นโคโรนา
หากเปรียบเทียบระยะห่างที่ยานอวกาศ Parker Solar Probe เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ สมมุติเทียบระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์เท่ากับ 1 เมตร ยานอวกาศลำนี้จะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เพียง 4 เซนติเมตร เท่านั้น
การบินผ่านดวงอาาทิตย์ของยานอวกาศ Parker Solar Probe เกิดขึ้นในเวลา 06:53 น. และถือเป็นครั้งที่ 22 ที่ยานอวกาศลำนี้บินผ่านดวงอาทิตย์ในระยะใกล้ และเป็นครั้งที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด แม้จะเหลือรอบการโคจรอีก 2 ครั้งก็ตาม
เนื่องจากอิทธิพลจากดวงอาทิตย์ที่ร้อนแรงจะส่งผลให้ยานอวกาศ Parker Solar Probe ขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุมบนโลกเป็นเวลาหลายวัน นักวิทยาศาสตร์คาดว่ายานจะสามารถกลับมาส่งสัญญาณกลับมายังโลกได้อีกครั้งในวันที่ 27 ธันวาคม
"มนุษย์ศึกษาดวงอาทิตย์มาหลายศตวรรษแล้ว แต่เราไม่สามารถสัมผัสบรรยากาศของสถานที่ใดสถานที่หนึ่งได้จนกว่าจะได้ไปเยือนสถานที่นั้นจริง ๆ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถสัมผัสบรรยากาศของดวงอาทิตย์ได้อย่างแท้จริง ยกเว้นแต่ว่าเราจะบินผ่านมัน" ดร. นิโคลา ฟ็อกซ์ (Nicola Justine Fox) หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของนาซา กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซี (BBC)
ทำความรู้จักยานอวกาศ Parker Solar Probe
สำหรับยานอวกาศ Parker Solar Prode ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2018 มีเป้าหมายของภารกิจและเป้าหมายสำคัญในการศึกษาชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ และปรากฏการณ์ลมสุริยะ นอกจากนี้ยานยังถูกออกแบบให้เดินทางด้วยความเร็วสูงสุด 700,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งกลายเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นที่เดินทางเร็วที่สุด
ยานอวกาศ Parker Solar Prode ถูกออกแบบให้ติดตั้งเกราะป้องกันคาร์บอนคอมโพสิตความหนา 11.5 เซนติเมตร ซึ่งทนต่ออุณหภูมิสูงถึง 1,400 องศาเซลเซียส เพื่อทนทานต่อความร้อนขณะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ รวมไปถึงการเดินทางด้วยความเร็วสูงเพื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์และเดินทางออกอย่างรวดเร็ว นับเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งในการเอาตัวรอดจากความร้อนของดวงอาทิตย์ “ที่นี่คือแหล่งกำเนิดของสภาพอากาศในอวกาศ
ก่อนหน้านี้เราสังเกตสภาพอากาศในอวกาศจากระยะไกล แต่ตอนนี้ ยานอวกาศ Parker Solar Prode กำลังทำหน้าที่ของมัน และเราจะสามารถเข้าใจได้ดีขึ้นว่าสภาพอากาศในอวกาศก่อตัวขึ้นได้อย่างไร และเมื่อเราเห็นพายุบนดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ เราก็จะสามารถบอกได้ว่าสิ่งนั้นส่งผลกระทบต่อเราบนโลกอย่างไร” เคลลี คอร์เร็ก (Kelly Korreck) นักวิทยาศาสตร์โครงการในแผนกเฮลิโอฟิสิกส์ของนาซากล่าวกับสำนักข่าว NBC News
ที่มาของข้อมูล Space.com, NBC News
ที่มาของรูปภาพ Applied Physics Lab / NASA Goddard Space Flight Center
ข่าวแนะนำ