TNN เครื่องบินเอกชนลำแรกที่สามารถบินทะลุกำแพงเสียงสำเร็จนับจากเครื่องบิน Concorde ปลดประจำการ

TNN

Tech

เครื่องบินเอกชนลำแรกที่สามารถบินทะลุกำแพงเสียงสำเร็จนับจากเครื่องบิน Concorde ปลดประจำการ

เครื่องบินเอกชนลำแรกที่สามารถบินทะลุกำแพงเสียงสำเร็จนับจากเครื่องบิน Concorde ปลดประจำการ

บริษัท Dawn Aerospace พัฒนา Aurora Mk-ll เครื่องบินเอกชนที่ความเร็วเหนือเสียงลำแรกนับจากเครื่องบิน Concorde ปลดประจำการ

บริษัท ดอว์น เอโรสเปซ (Dawn Aerospace) ประสบความสำเร็จในการทดสอบเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง ออโรรา มาร์กทู (Aurora Mk-ll) ทำสถิติใหม่ 1.1 มัค หรือประมาณ 1,359 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 


การทดสอบครั้งนี้มีขึ้นบริเวณสนามบินเกลนแทนเนอร์ แอโรโดรม (Glentanner Aerodrome) ใกล้เชิงเขาอาโอราคิ / เมานต์คุก (Aoraki/Mount Cook) ในประเทศนิวซีแลนด์ ที่ระดับความสูง 82,500 ฟุต หรือประมาณ 25 กิโลเมตร เหนือพื้นโลก ทำให้เครื่องบินลำนี้ เป็นเครื่องบินเอกชนลำแรกที่บินด้วยความเร็วเหนือเสียงได้ นับจากเครื่องบินคองคอร์ด (Concorde) ที่ปลดประจำการไปในปี 2003


เครื่องบินความเร็วเหนือเสียงออโรรา มาร์กทู (Aurora Mk-ll) เป็นเครื่องบินไร้คนขับควบคุมจากระยะไกล โดยมีปีกกว้าง 4 เมตร และมีน้ำหนักตัวเครื่องบิน 399 กิโลกรัม  เครื่องบินสามารถไต่ขึ้นสู่ระดับความสูงประมาณ 20 กิโลเมตร ภายในเวลา 118.6 วินาที เร็วกว่าสถิติเครื่องบิน F-15 รุ่นดัดแปลงที่ทำเอาไว้ในปี 1970 ประมาณ 4.2 วินาที


ก่อนหน้านี้เครื่องบินความเร็วเหนือเสียงออโรรา มาร์กทู (Aurora Mk-ll) เคยทดสอบการบินมาแล้วกว่า 56 เที่ยวบิน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการบินอย่างต่อเนื่อง เช่น การทดสอบประมาณ 3 เที่ยวบิน ในปี 2023 และการทดสอบประมาณ 5 เที่ยวบิน ในปี 2024


จุดเด่นของเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงออโรรา มาร์กทู (Aurora Mk-ll) คือ เครื่องบินมีลักษณะเป็นเครื่องบินจรวด (Rocket Plane) หรือยานพาหนะทางอากาศที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์จรวด แทนที่จะใช้เครื่องยนต์เครื่องบินปกติทั่วไป เช่น เครื่องยนต์เจ็ตหรือเครื่องยนต์ลูกสูบ เครื่องบินจรวดได้รับการออกแบบให้บินได้ในระดับสูงและเร็วกว่าเครื่องบินทั่วไป หากได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในบางภารกิจ เครื่องบินอาจสามารถบินออกไปสู่อวกาศได้ด้วยความเร็วสูง


อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในการพัฒนาเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงออโรรา มาร์กทู (Aurora Mk-ll) อยู่ที่ความเร็วประมาณ 3.5 มัค หรือประมาณ 4,288 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่บริเวณขอบอวกาศระดับความสูง 100 กิโลเมตร เพื่อทำภารกิจในสภาวะไร้น้ำหนัก วิทยาศาสตร์บรรยากาศ การสังเกตการณ์โลก และการทดสอบการบินความเร็วสูง โดยหลังทำภารกิจเครื่องบินสามารถบินกลับมาลงจอดที่สนามบินบนโลกได้คล้ายกับเครื่องบินทั่วไป


"ความสำเร็จครั้งนี้เน้นย้ำถึงศักยภาพมหาศาลของเครื่องบินขับเคลื่อนด้วยจรวดในการบรรลุประสิทธิภาพที่ไม่เคยมีมาก่อน ... การทดสอบเที่ยวบินครั้งที่ 57 เราได้ทดสอบด้านเทคนิคที่สำคัญเป็นครั้งสุดท้ายในโครงการออโรรา เช่น การทดสอบอากาศพลศาสตร์ของยานพาหนะที่ระดับความเร็วเหนือเสียง เรายืนยันได้ว่าเครื่องบิน Aurora กลายเป็นเครื่องบินที่ไต่ระดับสูงสุดที่เคยพัฒนาขึ้นมา ซึ่งจะช่วยปูทางไปสู่การพัฒนาเครื่องบินที่สามารถทำความเร็วสูงสุดในโลก และสามารถใช้ทำภารกิจอวกาศต่าง ๆ ได้จริง ซึ่งเราจะกำหนดนิยามใหม่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน" สเตฟาน พาวเวลล์ ซีอีโอของบริษัท ดอว์น เอโรสเปซ (Dawn Aerospace) กล่าวเพิ่มเติม



ที่มาของข้อมูล Newatlas

ที่มาของรูปภาพ Dawn Aerospace

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง