TNN รู้จัก “Liv” มนุษย์ AI เสมือนจริง ช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม

TNN

Tech

รู้จัก “Liv” มนุษย์ AI เสมือนจริง ช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม

รู้จัก “Liv” มนุษย์ AI เสมือนจริง ช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม

ชมผลงานจากทีมวิจัยในอังกฤษ ที่พัฒนาอวาตาร์หรือมนุษย์เสมือนจริง ที่สามารถให้คำแนะนำกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้ตลอด 24 ชั่วโมง หวังเป็นเพื่อนช่วยให้กำลังใจและดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น

ปัจจุบันเริ่มพบรายงานผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก ทีมนักพัฒนาจากองค์กรและมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ จึงได้สร้างอวาตาร์ หรือมนุษย์เสมือนจริง ในชื่อ ลีฟ (Liv) ซึ่งเป็นอวาตาร์ประเภทแรก ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมโดยเฉพาะ


รู้จัก “Liv” มนุษย์ AI เสมือนจริง ช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ภาพจากรอยเตอร์

โครงการสร้างอวาตาร์นี้ มีชื่อว่า Alzheimer’s Intelligence เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรนวัตกรรมด้านผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม บริษัทเทคโนโลยี เลอโนโว (Lenovo) และ มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ (University of Exeter) ในประเทศอังกฤษ โดยใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ป่วย


อวาตาร์ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์นี้ สร้างขึ้นจากประสบการณ์จริงและความรู้ของผู้ป่วยหลายร้อยคนที่มีภาวะสมองเสื่อม รวมถึงยังได้เอาลักษณะใบหน้าของผู้เข้าร่วมในโครงการ มาเป็นต้นแบบในการสร้างลักษณะใบหน้าของ ลีฟ (Liv) อีกด้วย


อย่างไรก็ตาม ทางผู้สร้างระบุชัดเจนว่า เทคโนโลยีอวาตาร์นี้ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเป็น “ผู้บำบัด” แต่มันถูกสร้างขึ้นเพื่อให้คำแนะนำตามประสบการณ์จริงของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยหน้าที่ของลีฟคือการเป็นแหล่งเสริมความมั่นใจ ช่วยตอบคำถาม ให้คำแนะนำ ด้วยข้อมูลที่ดึงมาจากประสบการณ์ตรงของกลุ่มผู้ป่วยจริง ๆ 


เนื่องจากทีมพัฒนามองว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม บางครั้งอาจรู้สึกโดดเดี่ยว และอยากได้กำลังใจ ดังนั้น การพัฒนามนุษย์เสมือนจริง ที่สามารถตอบคำถาม และอยู่เคียงข้างได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก


สำหรับภาวะสมองเสื่อม เป็นภาวะที่ส่งผลต่อการรับรู้ ความจำ ความคิด พฤติกรรม และความสามารถในการทำงาน ปัจจุบันมีผู้ป่วยอยู่ประมาณ 55 ล้านคน และคาดว่าจะมีจำนวนถึง 139 ล้านคนภายในปี 2050 ตามรายงานของสมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งอังกฤษ (the Alzheimer's Society) 


ปัจจุบันการใช้งานมนุษย์เสมือนจริงนี้ ยังคงอยู่ในช่วงของการทดลองใช้ในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมเท่านั้น โดยมีส่วนสำคัญต่อความเข้าใจทางการแพทย์ และการพัฒนานวัตกรรม เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยในอนาคต


ข้อมูลจาก reutersconnect

ข่าวแนะนำ