ส่องภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Euclid สร้างแผนที่จักรวาล 3 มิติ
องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) เผยภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิด (Euclid) ที่แสดงให้เห็นภาพของกาแล็กซีอันไกลโพ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจใหญ่ คือการสแกนหาสสารมืด และสร้างแผนที่ 3 มิติของจักรวาล
องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) เผยภาพถ่ายล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ยูคลิด (Euclid) ที่แสดงให้เห็นภาพของกาแล็กซีอันไกลโพ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจใหญ่ คือการสแกนหาสสารมืด และสร้างแผนที่ 3 มิติของจักรวาล
ภาพถ่ายที่ถูกปล่อยออกมานี้ ครอบคลุมบางส่วนของซีกท้องฟ้าใต้ หรือ ส่วนของพื้นที่ในดาราศาสตร์ เป็นส่วนครึ่งทรงกลมที่อยู่ทางใต้ของเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า แสดงให้เห็นพื้นที่ประมาณ 500 เท่าของขนาดดวงจันทร์เมื่อมองจากโลก
ภาพถ่ายถูกถ่ายในช่วงระยะเวลาสองสัปดาห์ และนับว่าเป็นเพียงแค่จุดเล็ก ๆ โดยครอบคลุมเพียงแค่ร้อยละ 1 ของพื้นที่ที่ต้องถ่ายเมื่อสิ้นสุดภารกิจ
ทีมวิจัยเผยว่า แม้ว่าภาพที่เผยแพร่ออกมานี้ จะยังไม่มีความคมชัดสูงเพียงพอสำหรับงานทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังสามารถขยายภาพได้ 600 เท่าเพื่อแสดงภาพอันน่าทึ่งของอวกาศที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะกระจุกกาแล็กซี
สำหรับกล้องโทรทรรศน์ยูคลิด ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) จากพื้นที่ปล่อยจรวดในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2023 ที่ผ่านมา
โดยตำแหน่งที่กล้องโทรทรรศน์จะถูกส่งไปโคจรในอวกาศก็คือ จุดลากรานจ์ 2 (Lagrange 2) ซึ่งเป็นบริเวณที่แรงดึงดูดระหว่างโลกและดวงอาทิตย์สมดุลกัน ทำให้มันโคจรอยู่ในตำแหน่งนั้นไปได้เรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังเป็นจุดโคจรที่อยู่หลังโลก ซึ่งจะช่วยบังแสงอาทิตย์ไม่ให้ส่องมาทำลายกล้องโทรทรรศน์อวกาศโดยตรง
เป้าหมายของภารกิจนี้ คือการทำแผนที่ของกาแล็กซีหลายพันล้านแห่ง เพื่อดูว่าโครงสร้างมีการวิวัฒนาการไปอย่างไรตามกาลเวลา รวมถึงการไขความลับเกี่ยวกับสสารมืด หรือ Dark Matter ซึ่งเป็นสสารและพลังงานที่ไม่สามารถมองเห็นและอธิบายได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่ามันเป็นสาเหตุที่ทำให้จักรวาลของเราขยายตัวอย่างรวดเร็ว
กล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิด (Euclid) จะใช้เวลาหกปีในการทำแผนที่ท้องฟ้า และในส่วนของข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการสำรวจ จะถูกนำไปประมวลผลเพื่อสร้างแผนที่ 3 มิติ ของจักรวาล ซึ่งจะทำให้เราทราบตำแหน่งของวัตถุต่าง ๆ ได้ และอาจถึงขั้นคาดเดารูปทรงของจักรวาลได้ด้วยเช่นกัน
ที่มาข้อมูล APvideohub
ที่มารูปภาพ APvideohub
ข่าวแนะนำ