TNN ชิลีศึกษาวิธีใช้ “สาหร่ายทะเล” สร้างพลังงานไฟฟ้า เพื่อความยั่งยืน

TNN

Tech

ชิลีศึกษาวิธีใช้ “สาหร่ายทะเล” สร้างพลังงานไฟฟ้า เพื่อความยั่งยืน

ชิลีศึกษาวิธีใช้ “สาหร่ายทะเล” สร้างพลังงานไฟฟ้า เพื่อความยั่งยืน

ทีมวิจัยชิลีคิดวิธีประหยัดพลังงาน ด้วยการนำหลักการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายทะเลสีเขียว มาใช้ผลิตไฟฟ้า โดยหวังว่าจะช่วยสร้างพลังงานรูปแบบใหม่ ให้มีความยั่งยืนขึ้น

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซานติอาโก (SANTIAGO) ในประเทศชิลี กำลังพัฒนาวิธีเปลี่ยน “สาหร่ายทะเลสีเขียว” (Green Seaweed) ให้กลายเป็นแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพ โดยหวังว่าจะมาเป็นแหล่งพลังงานยุคใหม่ที่มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น


ชิลีศึกษาวิธีใช้ “สาหร่ายทะเล” สร้างพลังงานไฟฟ้า เพื่อความยั่งยืน ภาพจากรอยเตอร์

โดยหลักการที่พวกเขากำลังศึกษาอยู่นี้ เรียกว่า ไบโอโฟโตโวลตาอิกส์ (biophotovoltaics) ซึ่งเป็นหลักการที่จะใช้การสังเคราะห์แสงของสิ่งมีชีวิต เช่น การสังเคราะห์แสงของสาหร่าย มาเปลี่ยนให้แสง กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า 


ในการศึกษานี้ ทีมวิจัยจึงได้นำเอาสาหร่ายทะเลสีเขียว มากระจายลงบน อิเล็กโทรด (Electrodes) หรือตัวนำไฟฟ้าของแผ่นเซลล์แสงอาทิตย์แบบชีวภาพ โดยทาง เฟเดริโก ทาสกา (Federico Tasca) หัวหน้าโครงการกล่าวว่า สาหร่ายใช้แสงในการออกซิไดซ์น้ำ (Oxidize) และในกระบวนการดังกล่าว พวกมันก็จะปล่อยอิเล็กตรอนออกมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นำไปใช้ในวงจรไฟฟ้าได้ เพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าได้ โดยมีออกซิเจนที่ปล่อยออกมาในกระบวนการ เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม


ชิลีศึกษาวิธีใช้ “สาหร่ายทะเล” สร้างพลังงานไฟฟ้า เพื่อความยั่งยืน ภาพจากรอยเตอร์

สำหรับวิธีการศึกษานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้เคยมีทีมวิจัยที่ใช้หลักการคล้ายกันในการสร้างพลังงานไฟฟ้าจากสาหร่ายมาแล้ว แต่ในงานวิจัยนั้น เลือกใช้เป็น “สาหร่ายขนาดเล็ก” (microalgae) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ส่วนงานวิจัยชิ้นนี้จะใช้ “สาหร่ายทะเลสีเขียว” (Green Seaweed) ซึ่งเป็นสาหร่ายขนาดใหญ่ และมีหลายเซลล์


ซึ่งเหตุผลที่ทีมวิจัยเลือกใช้สาหร่ายทะเลสีเขียว เพราะว่ามันมีความทนทานมากกว่า และเก็บเกี่ยวได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตามทีมวิจัยยอมรับว่า ขณะนี้ กระบวนการที่ศึกษากันอยู่ ก็ยังห่างไกลจากการนำไปใช้สร้างพลังงานจำนวนมาก ที่จะช่วยประหยัดพลังงานได้จริง (energy efficient) แต่ทีมวิจัยมองว่า การศึกษานี้ เบื้องต้นอาจจะใช้งานจริงได้ในระดับเล็ก เช่น การให้พลังงานกับหลอดไฟ LED 


ทั้งนี้ทีมวิจัยยังคงอยู่ในช่วงของการพัฒนาต่อไป โดยหวังว่าสักวันจะสามารถใช้สร้างแหล่งพลังงานได้มากขึ้น และอาจจะขยับไปสู่การใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้


ข้อมูลจาก reutersconnect

ข่าวแนะนำ