TNN เครื่องพิมพ์ 3 มิติ พิมพ์ชิ้นส่วนโลหะบนสถานีอวกาศ ISS สำเร็จเป็นครั้งแรก

TNN

Tech

เครื่องพิมพ์ 3 มิติ พิมพ์ชิ้นส่วนโลหะบนสถานีอวกาศ ISS สำเร็จเป็นครั้งแรก

เครื่องพิมพ์ 3 มิติ พิมพ์ชิ้นส่วนโลหะบนสถานีอวกาศ ISS สำเร็จเป็นครั้งแรก

ชมความก้าวหน้าของวงการอวกาศ กับพัฒนาเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่สามารถเอาไปใช้พิมพ์โลหะบนสถานีอวกาศสำเร็จเป็นครั้งแรก ทำให้นักบินอวกาศผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์โลหะบนสถานีอวกาศได้เองในอนาคต

องค์การอวกาศยุโรป หรือ อีเอสเอ (European Space Agency, ESA) ประสบความสำเร็จในการพิมพ์โลหะ 3 มิติครั้งแรกในอวกาศ โดยเป็นการใช้เครื่องพิมพ์โลหะ 3 มิติที่สร้างขึ้นโดยบริษัท แอร์บัส (Airbus) ทำการทดสอบพิมพ์โลหะ บนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS สำเร็จเป็นครั้งแรก


เครื่องพิมพ์ 3 มิติ พิมพ์ชิ้นส่วนโลหะบนสถานีอวกาศ ISS สำเร็จเป็นครั้งแรก ภาพจาก ESA

เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ไม่ใช่เรื่องใหม่ สำหรับการใช้งานบนสถานีอวกาศนานาชาติแห่งนี้ โดยในปี 2014 เคยมีการทดสอบใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติในการพิมพ์วัสดุประเภทพลาสติกมาแล้วเช่นกัน 


อย่างไรก็ตาม การพิมพ์วัสดุประเภทโลหะ ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ถือว่ามีความท้าทายมากกว่ากันมาก ทั้งเรื่องของของการหลอมโลหะในสภาวะแรงโน้มถ่วงเป็นศูนย์ และการจัดการกับเศษผงโลหะ ทำให้การจะนำมาใช้บนสถานีอวกาศได้ ตัวเครื่องพิมพ์จะต้องออกแบบใหม่ 


แอร์บัส (Airbus) บริษัทด้านการบินชื่อดัง จึงได้จับมือกับมหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ (Cranfield University) ในสหราชอาณาจักร เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการออกแบบหัวพิมพ์ใหม่ และใช้การป้อนลวดสแตนเลส ที่หลอมด้วยเลเซอร์กำลังสูง อุณหภูมิสูงกว่า 1,200 องศาเซลเซียส เพื่อหลอมลวดโลหะ พิมพ์ออกมาเป็นชั้น ๆ ช่วยให้เหล็กหลอมเหลวเย็นตัวลง และเซ็ตตัวได้ทันที


เครื่องพิมพ์ 3 มิติ พิมพ์ชิ้นส่วนโลหะบนสถานีอวกาศ ISS สำเร็จเป็นครั้งแรก ภาพจาก ESA

ทีมนักบินอวกาศได้ทดสอบการใช้งานเครื่องพิมพ์โลหะ 3 มิตินี้ ซึ่ง พิมพ์รูปแรกจากทั้งหมด 4 รูปที่ต้องการได้สำเร็จ และเมื่อทดสอบการพิมพ์ทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์ โลหะที่พิมพ์ได้ ก็จะถูกนำไปยังโลกเพื่อทำการวิเคราะห์คุณภาพ


การพิมพ์ชิ้นส่วนโลหะชิ้นแรกในอวกาศที่ประสบความสำเร็จ ถือเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศ ด้วยการแสดงให้เห็นว่าการพิมพ์ 3 มิติสามารถทำงานได้ในสภาวะไร้น้ำหนัก และอาจจะช่วยให้นักบินอวกาศสามารถผลิตชิ้นส่วนอะไหล่หรืออุปกรณ์พิเศษด้วยตนเอง ปูทางสำหรับภารกิจสำรวจอวกาศระยะไกล เปิดโลกแห่งความเป็นไปได้สำหรับภารกิจอวกาศในอนาคต


ขัอมูลจาก newatlasesa.int


ข่าวแนะนำ