Boom Supersonic ทดสอบต้นแบบเครื่องบินเร็วเหนือเสียง XB-1 ครั้งที่ 2
ไปติดตามความคืบหน้าของโครงการสร้างเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียง โอเวอร์เชอร์ ที่ล่าสุดพึ่งผ่านการทดสอบเที่ยวบิน ของเครื่องบินต้นแบบ สำเร็จเป็นครั้งที่ 2 เข้าใกล้เป้าหมายการให้บริการเชิงพาณิชย์ไปอีกขั้น
บริษัทสตาร์ตอัปด้านอากาศยาน บูม ซูเปอร์โซนิค (Boom Supersonic) ประกาศความคืบหน้าของการพัฒนาเครื่องบินโดยสารที่บินด้วยความเร็วเหนือเสียง โอเวอร์เชอร์ (Overture) ที่ตั้งเป้าจะให้บริการเชิงภาณิชย์ในสิ้นทศวรรษนี้ โดยล่าสุดทดสอบเที่ยวบินที่ 2 กับเครื่องบินต้นแบบสำเร็จแล้ว
โดยก่อนหน้านี้ บริษัทได้สร้างเครื่องบินต้นแบบ ของเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง โอเวอร์เชอร์ (Overture) ในขนาด 1 ต่อ 3 และให้ชื่อรุ่นเครื่องบินทดสอบนี้ว่า เอ็กซ์บีวัน (XB1) ซึ่งได้ทำการทดสอบเที่ยวบินสาธิตครั้งที่ 2 สำเร็จไปเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์ทดสอบการบินในทะเลทรายโมฮาวี รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในเที่ยวบินทดสอบครั้งที่ 2 นี้ นักบินทดสอบได้ขับเครื่องบิน เอ็กซ์บีวัน (XB1) ทำการบินไต่ระดับความสูงไปที่ 3,170 เมตรเหนือผืนดิน และบินด้วยความเร็ว 445 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้มีการทดสอบและเก็บข้อมูลการบินอื่น ๆ เช่น การควบคุมเครื่องบิน การเปิดใช้งานระบบเสริมเสถียรภาพ การตรวจสอบทิศทาง และความแรงของการไหลของอากาศเหนือปีก เป็นต้น
ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเก็บเป็นข้อมูล สำหรับนำไปพัฒนาเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงเชิงพาณิชย์ โอเวอร์เชอร์ (Overture) โดยบริษัทตั้งใจที่จะทำการทดสอบการบินต่อไปอีกประมาณ 10 เที่ยวบินในระดับความสูงและความเร็วที่เพิ่มขึ้น รวมถึงทำการตรวจสอบระบบการบินทั้งหมด และระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำการทดสอบบินเครื่องบินต้นแบบ ด้วยระดับความเร็วเหนือเสียงเป็นครั้งแรกได้ ภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ บูม ซูเปอร์โซนิค (Boom Supersonic) กล่าวว่า แผนการพัฒนาเครื่องบิน โอเวอร์เชอร์ (Overture) ยังคงดำเนินการต่อไป โดยถ้าพัฒนาแล้วเสร็จ ตัวเครื่องบินจะสามารถบินได้ด้วยความเร็วราว 2,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จ เครื่องบินรุ่นนี้ จะช่วยให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางไปยังจุดหมายต่าง ๆ ทั่วโลกได้ในเวลาที่เร็วยิ่งขึ้น เช่น สามารถบินจากเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปยังกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นได้ในเวลา 6 ชั่วโมง จากเดิมที่ต้องใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง และตัวเครื่องบินยังใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ที่ช่วยเรื่องการลดโลกร้อนอีกด้วย
ข้อมูลจาก reutersconnect, newatlas
ข่าวแนะนำ