TNN ทีมวิจัยจากเยอรมนี เพาะ “เชื้อรา” ที่ช่วยกินพลาสติกเป็นอาหาร

TNN

Tech

ทีมวิจัยจากเยอรมนี เพาะ “เชื้อรา” ที่ช่วยกินพลาสติกเป็นอาหาร

ทีมวิจัยจากเยอรมนี เพาะ “เชื้อรา” ที่ช่วยกินพลาสติกเป็นอาหาร

ทีมวิจัยในประเทศเยอรมนี วิจัยเชื้อรา ที่เชื่อว่าสามารถใช้ "กิน" พลาสติกได้ หวังช่วยจัดการปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ด้วยวิธีการที่เป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น

ขยะพลาสติกหลายล้านตันลงเอยในมหาสมุทรโลกทุกปี ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เนื่องจากต้องใช้เวลาหลายทศวรรษในการย่อยสลาย แต่นักวิทยาศาสตร์ในเยอรมนี อาจจะพบวิธีช่วยบรรเทาปัญหานี้ ด้วยการวิจัยเกี่ยวกับเชื้อราตัวใหม่ ที่เชื่อว่าสามารถ "กิน" พลาสติกได้


ทีมวิจัยจาก สถาบันนิเวศวิทยาน้ำจืดและการประมงน้ำจืดแห่งไลบ์นิซ (Leibniz Institute of freshwater Ecology and Inland Fisheries) ในเยอรมนี ได้ทำการวิเคราะห์ ฟังไจ (Fungi) หรือสิ่งมีชีวิตในกลุ่มของรา เห็ด และยีสต์ บริเวณทะเลสาบสเตคลิน (Lake Stechlin) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เพื่อดูการเติบโตของเชื้อราขนาดเล็ก บนพลาสติกบางชนิด และพบว่ามันสามารถย่อยสลายโพลีเมอร์สังเคราะห์ได้


โดยทีมวิจัยพบว่า จากเชื้อราที่เลือกศึกษาทั้งหมด 18 สายพันธุ์ มี 4 สายพันธุ์ที่พิสูจน์แล้วว่าพวกมันสามารถใช้ย่อยสลายพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพลาสติกประเภทโพลียูรีเทน (polyurethane) ที่ใช้ทำโฟมก่อสร้าง ส่วนพลาสติกประเภท พอลิเอทิลีน (Polyethylene) ที่ใช้ในถุงพลาสติกและวัสดุบรรจุภัณฑ์ จะย่อยสลายได้ช้ากว่ามาก ส่วนไมโครพลาสติก ที่เกิดจากการเสียดสีของยาง (microplastics from tyre abrasion) เป็นตัวที่ย่อยสลายได้ยากที่สุด โดยสาเหตุหลักมาจากสารเติมแต่ง เช่น โลหะหนัก


ทั้งนี้ทีมวิจัยระบุว่า ถึงแม้การวิจัยจะชี้ให้เห็นถึงความสามารถของฟังไจ หรือกลุ่มเชื้อราในการใช้ย่อยพลาสติก เพื่อปรับตัวให้เข้ากับคาร์บอนพลาสติกจำนวนมหาศาลในสิ่งแวดล้อมที่มันอยู่ แต่กิจกรรมการย่อยสลายพลาสติกนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวะภายนอกอย่างมาก เช่น อุณหภูมิ หรือสารอาหารอื่น ๆ


แต่การวิจัยนี้ ก็ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ในการพัฒนาจุลินทรีย์ที่สามารถใช้ทำลายพลาสติกในโรงบำบัดน้ำเสียต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การใช้ฟังไจ หรือกลุ่มเห็ดราเพียงอย่างเดียว ไม่อาจจะแก้ปัญหาขยะที่ท่วมโลกได้ แต่สิ่งที่ควรทำคือการปล่อยพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้


มีข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตพลาสติก Plastics Europe ที่ระบุว่าในปี 2021 ทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกประมาณ 390 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 1950 ถึง 1 ล้าน 7 แสนตัน และถึงแม้ว่าอัตราการรีไซเคิลจะเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีขยะพลาสติกจากทั่วโลกน้อยกว่าร้อยละ 10 ที่ถูกรีไซเคิล


ข้อมูลจาก reutersconnecngthai

ข่าวแนะนำ