ดวงอาทิตย์ปะทุครั้งใหญ่ รุนแรงมากที่สุด หลังพายุสุริยะเมื่อสัปดาห์ก่อน
ดวงอาทิตย์ปะทุครั้งใหญ่บริเวณจุดดับบนดวงอาทิตย์ AR3664 ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง รุนแรงมากที่สุด หลังพายุสุริยะเมื่อสัปดาห์ก่อน
การปะทุบริเวณจุดดับบนดวงอาทิตย์ AR3664 ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยการปะทุครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม จำนวน 3 ครั้ง มีความรุนแรงระดับ X1.7, X1.3 และ X8.8 ซึ่งการปะทุครั้งสุดท้ายนั้นมีความรุนแรงมากที่สุดในวัฏจักรสุริยะ (Solar cycle) ครั้งนี้ (ข้อมูลจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ) หลังจากก่อนหน้านี้มีการปะทุในวันที่ 11 พฤษภาคม มีความรุนแรงระดับ X5.8
การปะทุครั้งนี้ถูกตรวจพบโดยศูนย์พยากรณ์อากาศอวกาศ (SWPC) หน่วยงานในสำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) โดยพื้นผิวบริเวณจุดดับบนดวงอาทิตย์ AR3664 ได้ลุกจ้าขึ้นในช่วงรังสีเอ็กซ์ ในขณะที่ดวงอาทิตย์หันจุดดังกล่าวไปทางขอบทางทิศตะวันตกของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นทิศทางที่ปลอดภัย เมื่อเทียบกับตำแหน่งของโลกในปัจจุบัน
แม้ว่าจะเป็นข่าวดีที่ตำแหน่งของโลกปลอดภัยจากการปะทุใหญ่ในครั้งนี้ เนื่องจากดวงอาทิตย์หมุนรอบตัวเองตลอดเวลา แต่นักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณว่าดวงอาทิตย์นั้นใช้เวลาหมุนรอบตัวเองประมาณ 25 วัน บนโลก และจุดดับบนดวงอาทิตย์ AR3664 จะกลับมาอยู่ในตำแหน่งที่หันมายังทิศทางตำแหน่งของโลก ทำให้เหลือเวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์ นักวิทยาศาสตร์บนโลกถึงจะสังเกตการณ์จุดบนดวงอาทิตย์และการปะทุได้ใหม่อีกครั้ง
สำหรับสาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์จับตาการปะทุบริเวณจุดดับบนดวงอาทิตย์ AR3664 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากการปะทุทำให้เกิดพายุสุริยะที่ส่งผลกระทบต่อโลก โดยการปะทุเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมาได้สร้างพายุสุริยะขนาดใหญ่เดินทางมายังโลกจนทำให้เกิดแสงออโรราสวยงามบนท้องฟ้าในหลายประเทศ รวมไปผลกระทบต่อระบบการติดต่อสื่อสารบนโลก โดยมีรายงานว่าพายุสุริยะสร้างผลกระทบต่อสัญญาณคลื่นวิทยุในความถี่ 20 เมกะเฮิรตซ์ ในออสเตรเลียและแถบเอเชียตะวันออก
ที่มาของข้อมูล
ข่าวแนะนำ