เครื่องบินอวกาศ “Dream Chaser” ผ่านการทดสอบสำคัญ เตรียมส่งขึ้นอวกาศ
เครื่องบินอวกาศ Dream Chaser ผ่านการทดสอบครั้งสำคัญ เตรียมส่งไปยังจุดปล่อยจรวดของนาซา เพื่อทดสอบใช้งานขนส่งสินค้าไปและกลับจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)
เซียร์รา สเปซ (Sierra Space) บริษัทเอกชนด้านการบินและอวกาศจากสหรัฐอเมริกา เผยความคืบหน้าของโครงการสร้างเครื่องบินอวกาศ ดรีม เชสเซอร์ เทนาซิตี้ (Dream Chaser - Tenacity) และโมดูลขนส่งสินค้า ชู้ตติ้ง สตาร์ (Shooting Star) โดยล่าสุดบริษัทเผยว่า ผ่านการทดสอบครั้งสำคัญ เตรียมปล่อยขึ้นสู่อวกาศ เพื่อทดสอบใช้งานขนส่งสินค้าในอนาคต
การทดสอบดังกล่าว เกิดขึ้นที่ศูนย์ทดสอบ นีล อาร์มสตรอง (NASA's Neil A. Armstrong Test Facility) ของนาซา ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทั้งเครื่องบินอวกาศและโมดูลขนส่งสินค้า ได้ผ่านการทดสอบการทนต่อแรงกระแทก การทนต่อแรงสั่นสะเทือน และการรับมือกับอุณหภูมิสุดขั้ว เพื่อให้มั่นใจว่ามันจะปล่อยตัวขึ้นสู่อวกาศจริงได้
และเนื่องจากในอวกาศ อาจจะมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันอย่างรุนแรงตั้งแต่หนาวจัดระดับต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ไปจนถึงร้อนจัดถึงหลายร้อยองศาเซลเซียส ด้วยเหตุนี้ทั้งเครื่องบินอวกาศและโมดูลขนส่งสินค้า จึงต้องผ่านการทดสอบอุณหภูมิในสภาวะสุญญากาศ ด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ -100 องศาเซลเซียส จนถึง 120 องศาเซลเซียส ซึ่งก็ผ่านมาได้สำเร็จ
ซึ่งหลังจากนี้ บริษัทกำลังเตรียมส่งเครื่องบินอวกาศ และโมดูลขนส่งสินค้า ไปยังศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ในรัฐฟลอริดา โดยจะมีวิศวกรทำการตรวจเช็กจุดต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างทำงานได้ตามแผนที่วางไว้ ก่อนที่จะเตรียมปล่อยตัวขึ้นสู่อวกาศต่อไปภายในปี 2024 นี้
สำหรับ ดรีม เชสเซอร์ เทนาซิตี้ (Dream Chaser - Tenacity) บริษัทให้คำนิยามว่าเป็นอากาศยานประเภท “สเปซเพลน” (Spaceplane) หรือ “เครื่องบินอวกาศ” ที่รวมเอาคุณสมบัติของทั้งเครื่องบินและยานอวกาศไว้ด้วยกัน ทำให้มันสามารถบินร่อนในชั้นบรรยากาศของโลก และลงจอดบนรันเวย์ได้เหมือนเครื่องบิน รวมถึงใช้งานในอวกาศได้ เหมือนกับยานอวกาศ
ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าว่าเมื่อการทดสอบต่าง ๆ แล้วเสร็จ ในอนาคต เครื่องบินอวกาศลำนี้จะสามารถให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ สำหรับการเดินทางขนส่งสินค้าหรือเสบียงต่าง ๆ สู่วงโคจรต่ำ หรือ Low Earth orbit และเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับบริการขนส่งด้านอวกาศในอนาคต
ข้อมูลจาก interestingengineering, space, spacenews, gistda
ข่าวแนะนำ