TNN นักวิจัยชาวอังกฤษใช้ AI ช่วยตรวจจับแตนเอเชียที่กำลังรุกราน

TNN

Tech

นักวิจัยชาวอังกฤษใช้ AI ช่วยตรวจจับแตนเอเชียที่กำลังรุกราน

นักวิจัยชาวอังกฤษใช้ AI ช่วยตรวจจับแตนเอเชียที่กำลังรุกราน

นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษหาวิธีรับมือกับปัญหาการรุกรานของแตนเอเชีย (Asian Hornet) ด้วยการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) ช่วยดูแลการตรวจจับและระบุตัว

ปัจจุบันนี้เราเห็นการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) ที่แพร่หลายมากขึ้น อย่างเช่นที่เห็นอยู่นี้ คือการใช้เอไอ มาช่วยรับมือกับปัญหาใหญ่ นั่นคือการรุกรานของ เอเชียน ฮอร์เน็ต (Asian Hornet) หรือ แตนเอเชีย ที่กินผึ้งและตัวต่อพื้นเมืองเป็นอาหาร และเป็นภัยคุกคามต่อการเกษตรกรรมโลก 


นักวิจัยชาวอังกฤษใช้ AI ช่วยตรวจจับแตนเอเชียที่กำลังรุกราน ภาพจากรอยเตอร์

 

สำหรับ แตนเอเชีย (Asian Hornet) เป็นสัตว์ที่กำลังสร้างความหายนะไปทั่วยุโรปแผ่นดินใหญ่ บางส่วนของเอเชียตะวันออก และเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่รัฐจอร์เจียและเซาท์แคโรไลนาของประเทศสหรัฐอเมริกา 


ส่วนสหราชอาณาจักรเองก็กำลังเผชิญกับการรุกรานประจำปี และพบปัญหาคือระบบการติดตามปัจจุบันนั้น ทำได้ค่อนข้างลำบาก ทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ (University of Exeter) จึงได้พัฒนาระบบ เวสป์ เอไอ (VespAI) ที่จะล่อแตนเข้าไปในสถานีตรวจสอบ และจับภาพ ทำให้ระบบสามารถระบุสายพันธุ์แตนเอเชียที่เป็นอันตรายได้แม่นยำมากขึ้น


ระบบที่ว่านี้ จะไม่ทำงานจนกว่าจะตรวจพบแมลงที่มีขนาดเท่าตัวแตน ซึ่งถ้าหากพบแมลงที่เข้าข่าย อัลกอริธึมเอไอ (AI) จะเริ่มวิเคราะห์ภาพและพิจารณาว่าแมลงนั้นเป็นแตนเอเชีย หรือแตนยุโรปพื้นเมือง หรือแมลงสายพันธุ์อื่น ๆ และหากตรวจพบแตนเอเชีย ก็จะแจ้งเตือนผู้ใช้งานด้วยรูปภาพ


ทีมวิจัยระบว่าวิธีการนี้ ช่วยให้สามารถรายงานการพบเห็นแตนเอเชียในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับวิธีการแบบเดิม ที่เปิดให้ส่งรายงานแบบสาธารณะ ซึ่งพบปัญหาคือรายงานส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง ทำให้หน่วยงานต้องคอยตรวจสอบความถูกต้องของภาพหลายพันภาพด้วยตัวเองในแต่ละปี


โดยทีมวิจัยกล่าวว่า ระบบของพวกเขาได้รับการออกแบบมาให้มีความคุ้มค่าและใช้งานได้หลากหลาย เหมาะสำหรับใช้งานโดยองค์กรต่าง ๆ หรือเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง เพราะระบบ เวสป์ เอไอ (VespAI) ไม่เพียงแต่ให้การเฝ้าระวังที่แม่นยำและทำได้แบบอัตโนมัติเท่านั้น แต่ยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดักแตนแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นการฆ่าแมลงพื้นเมืองจำนวนมาก 


โดยปัจจุบันระบบนี้ได้รับการทดสอบบนแล้วเกาะเจอร์ซีย์ ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จในการแยกแยะระหว่างแตนเอเชีย แตนยุโรป และแมลงอื่น ๆ ได้แม้จะเจอกับแมลงจำนวนมากก็ตาม โดยได้ตีพิมพ์การศึกษานี้แล้วในวารสารวิชาการ คอมมูนิเคชัน ไบโอโลจี (Communications Biology) พร้อมจับมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาระบบต่อไป


ข้อมูลจาก reutersconnect

ข่าวแนะนำ