TNN H2FLY เครื่องบินขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนเหลวลำแรกทะยานสู่ท้องฟ้า

TNN

Tech

H2FLY เครื่องบินขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนเหลวลำแรกทะยานสู่ท้องฟ้า

H2FLY เครื่องบินขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนเหลวลำแรกทะยานสู่ท้องฟ้า

อนาคตของการบินเชิงพาณิชย์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อยู่ไม่ไกล เมื่อบริษัทด้านการบินในเยอรมนี ทดสอบการบินแบบสาธารณะด้วยเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจนเหลวได้สำเร็จ

เอชทูฟลาย (H2FLY) บริษัทผู้พัฒนาโซลูชันด้านการบินสัญชาติเยอรมัน ที่เน้นการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน บรรลุเป้าหมายสำคัญของบริษัท ด้วยการทดสอบบินแบบสาธารณะครั้งแรก ด้วยเครื่องบินไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนโดยเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเหลว เพื่อต่อยอดไปสู่เป้าหมายการพัฒนาเครื่องบินพลังงานสะอาด สามารถปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ในอนาคต


H2FLY เครื่องบินขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนเหลวลำแรกทะยานสู่ท้องฟ้า ภาพจาก H2FLY

การทดสอบบินครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ณ เมืองมาริบอร์ ประเทศสโลวีเนีย มีเป้าหมายการทดสอบเพื่อเป็นการแสดงว่าเทคโนโลยีการบินที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนเหลวนั้นมีความเป็นไปได้ และสามารถรองรับการบินระยะไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย


สำหรับเครื่องบินที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้ เป็นเครื่องบินสาธิตรุ่น เอชวายโฟร์ (HY4) ขับเคลื่อนโดยระบบเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และไฮโดรเจนเหลวที่กักเก็บด้วยความเย็นจัด


H2FLY เครื่องบินขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนเหลวลำแรกทะยานสู่ท้องฟ้า ภาพจาก H2FLYซึ่งจากการทดสอบพบว่า การใช้เชื้อเพลิงจากไฮโดรเจนเหลวแทนเชื้อเพลิงก๊าซไฮโดรเจน ทำให้ระยะบินสูงสุดของเครื่องบินลำนี้เพิ่มขึ้นสองเท่า จากเดิม 750 กิโลเมตร เป็น 1,500 กิโลเมตร เพียงพอที่จะบินจากปารีส ประเทศฝรั่งเศส ไปยังลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส ที่ห่างกัน 1,453 กิโลเมตรได้


นอกจากนี้ บริษัทมองว่า เครื่องบินที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนเหลว ยังช่วยให้บินได้โดยปราศจากการปล่อยมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระบวนการผลิตไฮโดรเจนเหลวสามารถผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม อีกทั้งยังสามารถจัดเก็บและขนส่งไปยังสนามบินได้


H2FLY เครื่องบินขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนเหลวลำแรกทะยานสู่ท้องฟ้า ภาพจาก H2FLY

โดยปัจจุบันนี้ เอชทูฟลาย กำลังวางแผนที่จะเปิดให้บริการที่สนามบินสตุ๊ตการ์ท (Stuttgart) ประเทศเยอรมนี ภายในปี 2024 รวมถึงยังตั้งเป้าที่จะพัฒนาเทคโลยีการขับเคลื่อนด้วยพลังไฮโดรเจนเหลว สำหรับเครื่องบินขนาด 40 ที่นั่ง ให้เดินทางได้ไกลถึง 2,000 กิโลเมตร ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อไปสู่เป้าหมายระยะยาวของบริษัท นั่นคือการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องบินไฟฟ้าไฮโดรเจน เพื่อการเดินทางทางอากาศที่มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น


ข้อมูลจาก reutersconnect, newatlash2fly

ข่าวแนะนำ