ล็อกฮีดมาร์ตินยกระดับอานุภาพอาวุธเลเซอร์ของสหรัฐฯให้รุนแรงมากขึ้น !
ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ผู้ผลิตอาวุธจากสหรัฐอเมริกา เตรียมยกระดับให้อาวุธเลเซอร์ปล่อยความเข้มสู่ระดับครึ่งเมกะวัตต์แล้ว
อาวุธเลเซอร์ (Laser weapon) หรืออาวุธที่ใช้แสงเข้มข้นสูงในการยิงเป็นลำแสงเพื่อทำลายหรือสกัดการทำงานของอาวุธข้าศึกนั้นมีการพัฒนาในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกาที่มีเอกชนผลักดันอยู่ในปัจจุบัน และระบบที่แรงที่สุดในโลกนั้นมีกำลังอยู่ที่ 300 กิโลวัตต์ (kW) โดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ทว่าบริษัทกลับประกาศว่าระบบนี้ยังสามารถขยับให้มีอานุภาพแรงขึ้นได้ถึง 500 กิโลวัตต์
อานุภาพอาวุธเลเซอร์ระดับครึ่งเมกะวัตต์
การพัฒนาอาวุธเลเซอร์ดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนยกระดับเลเซอร์พลังงานสูง (High Energy Laser Scaling Initiative: HELSI) ของสหรัฐฯ โดยในปัจจุบันอาวุธเลเซอร์ที่มีกำลังการยิง 300 กิโลวัตต์ ทางบริษัทกล่าวว่าสามารถใช้ทำลายขีปนาวุธพิสัยใกล้ (Short range missile), โดรนขนาดใหญ่ ตลอดจนอากาศยานทางการทหารได้
อย่างไรก็ตาม การยกระดับกำลังการยิงเลเซอร์แบบโซลิดสเตต (Solid-state Laser) ไปสู่ระดับครึ่งเมกะวัตต์นั้นยังไม่มีขีดความสามารถที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าจะสามารถต่อกรกับยุทโธปกรณ์และเป้าหมายทางการทหารที่ใหญ่และรุนแรงมากขึ้นไ้ด้ รวมถึงสามารถรับมือภัยคุกคามที่เคลื่อนที่ได้ (Manoeuverable threat) อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ด้วย
แผนการพัฒนาอาวุธเลเซอร์ระดับครึ่งเมกะวัตต์
การประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังการลงนามในสัญญาโครงการกับสำนักงานเพื่อการวิจัยและวิศวกรรมกระทรวงกลาโหม (Office of the Under Secretary of Defense for Research & Engineering: OUSD (R&E)) กับล็อกฮีด มาร์ติน โดยทางบริษัทไม่ได้ระบุมูลค่าโครงการเอาไว้ โดยการลงนามในครั้งนี้เป็นส่วนที่ 2 ของแผน HELSI ของสหรัฐอเมริกา
ริค คอร์ดาโร (Rick Cordaro) รองประธานฝ่ายระบบภารกิจและยุทโธปกรณ์ (Vice president of Mission Systems & Weapons) ของล็อกฮีด มาร์ติน กล่าวว่า “เลเซอร์กำลัง 500 กิโลวัตต์ จะรวมความสำเร็จในการพัฒนาเลเซอร์ 300 กิโลวัตต์ และบทเรียนจากโครงการอาวุธเลเซอร์ก่อนหน้าเพื่อเสริมการปรับปรุงขีดความสามารถในการป้องกันภัยคุกคามจากระยะไกลให้ดียิ่งขึ้น” โดยทางล็อกฮีด มาร์ตินยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอื่น ๆ ของโครงการในตอนนี้
ที่มาข้อมูล New Atlas
ที่มารูปภาพ Lockheed Martin
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67