รวมเทคโนโลยีทำการเกษตรยุคใหม่ เพิ่มคุณผลผลิตสู่ระดับพรีเมียม | TNN Tech Reports
เพื่อช่วยในการบริหารจัดการและตัดสินใจทางธุรกิจให้กับเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ เป็นการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ลดความเสียหายและความเสี่ยงในการลงทุน แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตได้ด้วย ซึ่งการทำเกษตรยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อน หรือ AgriTech ได้ถูกพัฒนาไปทั่วโลกในรูปแบบที่หลากหลาย ตามจุดประสงค์การใช้งาน
ปัจจุบัน อาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำเกษตรยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนหรือที่เรียกว่า AgriTech จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เกษตรกรในหลายด้าน ทั้งเรื่องของการลดต้นทุน การบริหารจัดการ หรือเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต เป็นตัวช่วยที่นำไปสู่การผลักดันให้เกษตรกรมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่าเดิม เช่น การทำการเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) ผ่านแพลตฟอร์มอัจฉริยะ ดาต้าไวเซอร์ โดยทรู ดิจิทัล (DataVisor by True Digital) ที่เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลในหลากหลายมิติประกอบกัน ทั้งจากการเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีวัดค่าสภาพแวดล้อมโดยรอบด้วยอุปกรณ์ IOT, เทคโนโลยีเพื่อการจัดการภายในฟาร์มอัตโนมัติ (Farm Automation), หรือเทคโนโลยีจัดการสัตว์และพืชชนิดต่าง ๆ
เพื่อช่วยในการบริหารจัดการและตัดสินใจทางธุรกิจให้กับเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ ใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ลดความเสียหายและความเสี่ยงในการลงทุน แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตได้ด้วย ซึ่งการทำเกษตรยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อน หรือ AgriTech ได้ถูกพัฒนาไปทั่วโลกในรูปแบบที่หลากหลายตามจุดประสงค์การใช้งาน
InnerTomato
คงจะดีไม่น้อยหากพืชที่เราปลูกสามารถบอกถึงความต้องการของตัวเองได้ เพื่อที่จะเพิ่มความง่ายสำหรับผู้ปลูกในการเลี้ยงดู บริษัทที่ชื่อว่า InnerPlant ในสหรัฐอเมริกา ก็เลยได้คิดค้นวิธีที่ทำให้พืชเหล่านี้สามารถบอกความต้องการได้ด้วยการ "เรืองแสง" นั่นเอง
เป้าหมายของการคิดค้นเทคโนโลยีนี้ InnerPlant ต้องการให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยหรือใช้ยาฆ่าแมลงเมื่อจำเป็นเท่านั้น เนื่องจากว่าปัจจุบันนี้ แม้พืชที่ปลูกจะมีสารอาหารเพียงพอแล้ว หรือไม่ได้ถูกรบกวนจากแมลงใด ๆ เลย เกษตรกรก็ยังคงใส่ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงไปเรื่อย ๆ นอกจากจะทำให้สิ้นเปลืองแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วย บริษัท InnerPlant จึงใช้เทคโนโลยีด้านพันธุวิศวกรรมตัดต่อยีนของพืช ให้สามารถสร้างโปรตีนที่เรืองแสงได้เมื่อเกิดความเครียด แต่สารเรืองแสงนี้จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ต้องใช้ดาวเทียมในการสังเกตการณ์
ทางบริษัทได้เริ่มต้นทดลองกับมะเขือเทศดัดแปลงที่เรียกว่า InnerTomato ซึ่งมันสามารถสร้างโปรตีนเรืองแสงที่แตกต่างกันได้ 3 สี โดยขึ้นกับความเครียดที่มะเขือเทศเจอ ได้แก่ ขาดน้ำ, ติดโรค หรือขาดสารอาหาร ข้อมูลการเรืองแสงจะถูกตรวจจับโดยดาวเทียมเพื่อการเกษตร และส่งไปยังฐานข้อมูลของ InnerPlant ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลจากดาวเทียมตามพื้นที่ของตนได้
ซึ่งนอกจากมะเขือเทศแล้ว ในอนาคตก็จะมีการเพาะพันธุ์พืชการเกษตรอื่น ๆ ที่บอกความต้องการของมันได้ผ่านการเรืองแสง หรือ ก็คือการตรวจสอบความต้องการสารอาหารของพืชโดยดาวเทียมการเกษตร ออกมาวางจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจเพิ่มเติมด้วย
Thorvald
มาต่อกันที่เทคโนโลยีสำหรับการทำฟาร์มผลไม้เนื้ออ่อนอย่าง ฟาร์มสตรอว์เบอร์รีกันบ้าง ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังในการดูแลเป็นพิเศษ เพราะถ้าเผลอลงแรงขณะเก็บผลผลิตมากเกินไปก็อาจจะทำให้ผลผลิตเสียหายได้ ดังนั้นเลยมีการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า ธอร์วัลด์ (Thorvald) เข้ามาดูแลผลผลิตภายในฟาร์ม หุ่นยนต์ธอร์วัลด์ (Thorvald) อยู่ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า โรบ็อต ไฮท์เวย์ (Robot Highways) ประเทศอังกฤษ ที่มุ่งพัฒนาการทำฟาร์มผลไม้เนื้ออ่อนร่วมกันจากหลายหน่วยงาน
โดยเป็นหุ่นยนต์ที่ผสานระหว่างเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (RAS) สำหรับช่วยเกษตรกรในฟาร์มผลไม้เนื้ออ่อนเพื่อทำงานที่ใช้พลังงานสูง เช่น การเก็บผลไม้, การบรรจุผลไม้ ตลอดจนการบำบัดพืชผลเพื่อลดศัตรูพืชและโรคร้ายแรง ซึ่งบริษัทเคลมว่าจะช่วยลดการใช้แรงงานตามฤดูกาลได้ประมาณร้อยละ 40 โดยหุ่นยนต์อาศัยพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในธรรมชาติ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด ถือเป็นเป้าหมายของโครงการที่จะผลักดันให้สังคมเข้าสู่ยุคไร้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
นอกจากนี้ การทดลองนำหุ่นยนต์ธอร์วัลด์มาใช้ในฟาร์มสตรอว์เบอร์รียังสามารถช่วยลดขยะผลไม้ได้ร้อยละ 20 พร้อมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตในฟาร์มได้ร้อยละ 15
Recon
อากาศยานพลังงานไฟฟ้า สำหรับการใช้งานในพื้นที่เกษตรขนาดใหญ่ ถือเป็นอีกเทคโนโลยีที่ได้นำมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร โดยหนึ่งในนั้น คือ บริษัท ไรส์ แอร์โร เทคโนโลยี (Ryse Aero Technologies) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประสบความสำเร็จในการทดสอบ รีคอน (Recon) อากาศยานบินพลังงานไฟฟ้าบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง หรือ eVTOL พร้อมนักบินที่เป็นมนุษย์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของบริษัท
วัตถุประสงค์ในการพัฒนา รีคอน (Recon) คือออกแบบมาเพื่อใช้งานสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ แก้ไขปัญหาในการเดินทางของเกษตรกรที่มีข้อจำกัดด้านสภาพพื้นถนน รวมไปถึงรองรับการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เวลาและการเดินทางไล่ต้อนฝูงสัตว์เป็นระยะทางไกล ขณะที่จุดเด่นของอากาศยานพลังงานไฟฟ้า รีคอน (Recon) อยู่ที่การออกแบบให้มีโครงสร้างเบา น้ำหนักเพียง 130 กิโลกรัม เน้นความคล่องตัวและรวดเร็วในการเดินทางเป็นหลัก ห้องโดยสารรองรับนักบิน 1 ที่นั่ง และน้ำหนักนักบินต้องไม่เกิน 91 กิโลกรัม
ระบบขับเคลื่อนแบบมัลติคอปเตอร์ ใช้มอเตอร์พลังงานไฟฟ้าพร้อมใบพัด 6 ชุด แบตเตอรี่พลังงานไฟฟ้ารองรับการบิน 25 นาที ทำความเร็วสูงสุดได้ 93 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ความเร็วในการบินปกติจะอยู่ที่ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพดานบินสูงสุด 213 เมตร ระบบการควบคุมใช้จอยสติ๊ก 1 คู่ คล้ายกับการควบคุมเครื่องบิน โดยมีการวางแผนการจัดจำหน่ายในช่วงปี 2023 ราคาคาดการณ์อยู่ที่ 150,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 5,406,000 บาท
ตัวอย่างทั้งหมดนี้ ถือเป็นผลพวงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมที่ยังคงพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งแน่นอนว่าหากเกษตรกรสามารถปรับตัว และเปิดรับเทคโนโลยี ให้เข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อทำการเกษตรได้ ก็อาจจะเป็นหนึ่งทางเลือกที่ถือเป็นกุญแจสำคัญซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการทำการเกษตรก็เป็นได้
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67