สิงคโปร์เปลี่ยน “กากธัญพืช” เป็น “บรรจุภัณฑ์” รันวงการสิ่งแวดล้อม!
กากธัญพืชที่กลายเป็นขยะ จะไม่ไร้ค่าอีกต่อไป เมื่อมีสตาร์ตอัปในสิงคโปร์ที่นำเอากากธัญพืชมารีไซเคิล เปลี่ยนให้เป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ ลดปัญหาการใช้พื้นที่ฝังกลบขยะ และลดการทำลายสิ่งแวดล้อม
สตาร์ตอัปสิงคโปร์คิดค้นวิธีแก้ปัญหาขยะเศษอาหารจำพวกกากธัญพืช ด้วยการนำมารีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ หวังช่วยแก้ปัญหาการฝังกลบขยะซึ่งนอกจากจะกินพื้นที่บนโลก ยังก่อภาวะโลกร้อน เนื่องจากการฝังกลบจะทำให้เกิดก๊าซมีเทน หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง
หยิบ "กากธัญพืช" มาสร้างมูลค่าใหม่
สตาร์ตอัป อัลเทอร์แพ็กส์ (Alterpacks) ตั้งเป้าลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่มักจะนำมาทำภาชนะใส่อาหาร ด้วยการใช้วัตถุดิบจาก “กากธัญพืช” ที่หาได้ง่าย โดยส่วนใหญ่จะเป็น มอลต์ ข้าวบาร์เลย์ และกากธัญพืชที่เหลือมาจากการผลิตเบียร์ ซึ่งปกติกากธัญพืชเหล่านี้ มักนำไปเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ย หรือกลบทิ้งให้เสียเปล่า แต่บริษัทจะเอามารีไซเคิล ทำเป็นวัสดุขึ้นรูปภาชนะใหม่
โดยระบุว่ากระบวนการแปรรูปกากธัญพืชที่ใช้แล้วให้เป็นภาชนะใส่อาหาร ก็จะคล้ายคลึงกับกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ ที่จะใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ ทำความสะอาดวัตถุดิบ ผสมสูตร แล้วกดลงในตัวพิมพ์ภาชนะรูปต่าง ๆ ผลลัพธ์ที่ได้ ก็จะเป็นภาชนะใส่อาหาร จาน ช้อน ส้อม ที่ขึ้นรูปเป็นทรงต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้ รวมถึงผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) และสำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ (SFA) สำหรับใช้ใส่อาหาร แช่ในช่องแช่แข็ง ใช้กับเตาไมโครเวฟได้ และย่อยสลายตามธรรมชาติได้ด้วย
ขยะเพิ่มขึ้น โลกก็ร้อนขึ้น
มีข้อมูลสถิติจาก เวิร์ล แบงก์ (World Bank) หรือธนาคารโลก เมื่อปี 2018 ที่ระบุว่าในทุก ๆ ปีจะมีขยะอาหารบนโลกกว่า 2 พันล้านตัน รวมถึงยังมีสถิติจาก UNEP ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้องค์การสหประชาชาติ ที่ระบุว่าภาวะโลกร้อน 8-10% มาจากการฝั่งกลบขยะอาหาร และหนึ่งในข้อจำกัดสำคัญของประเทศสิงคโปร์ตอนนี้ คือมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด อัลเทอร์แพ็กส์ จึงคิดค้นวิธีการจัดการกับขยะอาหาร แทนการฝังกลบนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่น่าสนใจสำหรับประเทศอื่น ๆ ที่เจอปัญหาข้อจำกัดด้านพื้นที่คล้ายกัน
ข้อมูลจาก techcrunch, alterpacks, unep
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67